The Prachakorn

คนแก่ ม้าหาย


ปราโมทย์ ประสาทกุล

09 เมษายน 2561
3,256



เพิ่งผ่านพ้นวันขึ้นปีใหม่ 2561 มาหมาดๆ แต่ผมกลับไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรนัก ผมได้ผ่านวันขึ้นปีใหม่มาแล้วหลายสิบครั้ง จนรู้สึกคุ้นชินกับการฉลองปีใหม่ เคยฉลองขณะเวลาการเปลี่ยนแปลงจากปีหนึ่งไปเป็นอีกปีหนึ่งในหลากหลายบรรยากาศและในอารมณ์ต่างๆ และวันขึ้นปีใหม่หลายครั้ง ผมไม่มีการฉลองใดๆ เลย

อย่างเช่นปีนี้ ผมนอนหลับไปตั้งแต่ประมาณหนึ่งชั่วโมงก่อนสิ้นปี 2560 ตื่นขึ้นมาอีกทีก็เป็นเวลาเช้ามืดของวันแรกของปี2561 แล้วก่อนนอนเมื่อปลายปีกลาย ผมดูเฟซบุ๊ค (ต่อไปผมจะใช้อักษรย่อว่า ฟบ.) ที่ส่งสัญญาณเตือนว่ามีข้อความเข้ามาในหน้าฟบ.ของผม ที่แท้ก็เป็นข้อความของตัวเองที่แชร์ออกไปในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน

“ปีใหม่...ใช่จะมีชีวิตใหม่ เพียงชีพเก่าสั้นไปอีกปีหนึ่ง

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ใฝ่คำนึง เพียงเข้าถึงปรมัตถ์สัจจธรรม

ให้เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปเถิด กาลบังเกิดใหม่เก่าทุกเช้าค่ำ

มีสติสัมปชัญญะเป็นประจำ เก่าไฉน ใหม่ฉนำ ไม่สำคัญ

ใช่แล้วครับ ผมได้โพสต์กลอนบทนี้ออกสู่สาธารณะเพื่อ ส่งท้ายปีเก่า 2558 และต้อนรับปีใหม่ 2559

ใช่แล้วครับ ผมบันทึกไว้ว่าได้เขียนกลอนบทนี้ลงในสมุดเมื่อ 23.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เมื่อ.. “กลับจากไปอยู่กับแม่ที่เข้า รพ.บางปะกง” ผมคิดกลอนบทนี้ขณะขับรถกลับจากโรงพยาบาลบางปะกง เมื่อ 2 วันก่อน แม่เข้าโรงพยาบาลเพราะป่วยหนัก น้องสาวโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่หมายเลข 1669 ผมขับรถไปหาแม่ตอนบ่ายๆ และอยู่กับแม่จนค่ำทุกวันอารมณ์ของผมในวันขึ้นปีใหม่ครั้งนั้นจึงเป็นไปในทางมองเห็น สัจจธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือความจริง ปีเก่าปีใหม่เป็นเรื่องสมมุติ

คัดลอกมงคล 38 ลง “ช่วยใจคุณจำ”

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ทำสมุดปฏิทินเล่มเล็กๆที่เรียกว่า “ช่วยใจคุณจำ” แจกเป็นของขวัญปีใหม่ให้พวกเราได้ใช้กันทุกปี ผมได้แต่งกลอนสั้นๆ ให้เป็นอัตลักษณ์ของสมุด“ช่วยใจคุณจำ” ไว้ว่า “วันไกลก็ใกล้เข้า งานของเราดำ เนินไปบันทึกวันนัดไว้ เพื่อช่วยใจของคุณจำ”

เมื่อเปลี่ยนปี ผมก็จะเปลี่ยน “ช่วยใจคุณจำ” กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ผมจะต้องทำในช่วงวันแรกๆของปีใหม่คือการถ่ายโอนข้อมูลจาก “ช่วยใจคุณจำ” ปีเก่ามาใส่ไว้ในเล่มของปีใหม่ ข้อมูลที่จะถ่ายโอนนั้น นอกจากจะเป็นรายการนัดหมายในปีใหม่ บันทึกและเบอร์โทรศัพท์บางหมายเลขแล้ว “มงคล 38” เป็นสิ่งสำคัญที่ผมต้องคัดลอกจากเล่มเก่ามาใส่ไว้ในเล่มใหม่ทุกปี

มงคล 38 ที่ผมเขียนใส่ไว้ใน “ช่วยใจคุณจำ” เป็นบทสวดมนต์ภาษาบาลี แปลเป็นภาษาไทยแล้วก็จะเกี่ยวกับความประพฤติ38 ประการที่จะนำความเป็นศิริมงคลมาสู่ผู้ปฏิบัติ ความจริงมงคล 38 นี้มีอยู่ในบทเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เวลาไปงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานทำบุญบ้าน พระสงฆ์จะสวดมนต์บทนี้ด้วยเสมอ เวลาผมฟังพระสวดถึงบทนี้ ผมก็มักเผลอสวดตามพระไปด้วย มนต์บทนี้ขึ้นต้นว่า “อะเสวะนา จะพาลานังบัณฑิตา ณัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง...” (ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชา นี้เป็นมงคลอันสูงสุด..)

ผมเชื่อว่าถ้าปฏิบัติตามมงคล 38 ได้ก็จะนำโชคลาภมาสู่ตนเอง เป็นมงคลแก่ตัวเองดียิ่งกว่าไปกราบไหว้วอนขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผีสางเทวดาทั้งหลาย หลายข้อที่ผมทำอยู่แล้วเกิดความรู้สึกถึงมงคลที่ได้รับ เช่น มาตาปิตุอุปัฏฐานัง (บำรุงมารดาบิดา) สุภาสิตา จะ ยาวาจา (วาจาสุภาษิต) อะนากุลา จะ กัมมันตา (การงานไม่คั่งค้าง) และก็มีหลายข้อที่ผมยังปฏิบัติไม่ได้ แต่ก็คิดว่าจะพยายามทำให้ได้

การได้ทบทวนมงคล 38 ปีละครั้งด้วยการลอกจากสมุดเล่มเก่ามาลงในสมุดเล่มใหม่ก็เป็นมงคลสำาหรับผมด้วยเช่นกัน

เพลงพรปีใหม่

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ผมมีความสุขที่ได้ฟังเพลงเกี่ยวกับวันขึ้นปีใหม่ เพลงของสุนทราภรณ์หลายเพลงฟังไพเราะและสนุกสนาน หลายเพลงฟังแล้วก็อยากออกไปรำวง แต่เพลงปีใหม่ที่ผมฟังแล้วมีความสุขที่สุดในปีนี้คือเพลง “พรปีใหม่” พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ

“สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์ ฤกษ์ยามดีปรีเปรมชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี...ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า...”

ฟังแล้วยิ่งให้รำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในทางดนตรีเป็นยิ่งนัก ผมเชื่อว่าเพลงพรปีใหม่นี้จะเป็นเพลงประจำวันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทยไปอีกนานเท่านาน 

เมื่อฟังเพลงในช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ทำให้ผมคิดถึงคุณพิชัย วาศนาส่ง ผู้ร้องเพลง “เถลิงศก” ให้พวกเราฟัง ผมได้มีโอกาสร่วมทำงานกับคุณพิชัยฯโดยเป็นกรรมการสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) ด้วยกัน ในงานวันขึ้นปีใหม่ของ สวท พวกเราจะได้ฟังคุณพิชัยฯร้องเพลง “เถลิงศก” ด้วยเสียงดังกังวาน ก่อนร้องเพลงนี้ คุณพิชัยฯจะเล่าให้พวกเราฟังว่าก่อนปี2484 ประเทศไทยถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่เพลงเถลิงศกมีเนื้อร้องแบ่งเป็นสามท่อน ท่อนแรกมีเนื้อร้องดังนี้

“วันที่หนึ่งเมษายน วันตั้งต้นปีใหม่ แสงตะวันเรืองรองใสสว่างแจ่มจ้า เสียงระฆังเหง่งหง่างก้อง ร้องทักทายมา ไตรรงค์ร่าระเริงปลิว พลิ้วพลิ้วเล่นลม 

(สร้อย) ยิ้มเถิด ยิ้มเถิด นะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสราญบานใจ ขอให้สวัสดี”

“คนแก่ ม้าหาย”

นึกถึงคุณพิชัยฯแล้ว ก็อดคิดถึงเรื่ องต่างๆ ที่คุณพิชัยฯเล่าให้พวกเราฟังไม่ได้ คุณพิชัยฯเป็นพหูสูตร ผู้มีความรู้เป็นอย่างดีในทุกเรื่อง ... วันนี้ ผมนึกถึงเรื่อง “คนแก่ ม้าหาย” ที่คุณพิชัยฯเล่าให้พวกเราฟังในวันนั้น

ภาษาจีนเขียนเป็นคำสั้นๆ แต่มีความหมาย อย่างคำที่อ่านได้ว่า “ไซ่อง ซิกเบ๊” แปลเป็นไทยว่า “คนแก่ ม้าหาย” เรื่องเกิดขึ้นนานมาแล้ว ณ หมู่บ้านห่างไกลแห่งหนึ่ง ชายชราคนหนึ่งอาศัยอยู่ลำพังกับลูกชายวัยหนุ่ม แกเลี้ยงม้าตัวผู้ไว้ใช้งานตัวหนึ่ง วันหนึ่ง ม้าที่เลี้ยงไว้ได้หายไป เพื่อนบ้านต่างเข้ามาแสดงความเสียใจ “โชคร้ายนะ มีม้าอยู่ตัวเดียว ก็หายไปเสียแล้ว” ชายแก่ได้แต่บอกกับทุกคนว่า “มันอาจจะดีก็ได้”

ต่อมาอีก 2-3 เดือน ม้าของชายแก่ก็ได้ออกจากป่ากลับมาที่บ้าน โดยได้พาม้าตัวเมียอีกตัวหนึ่งมาด้วย เพื่อนบ้านต่างมาแสดงความยินดี “โชคดีนะ ม้าของลุงที่หายเข้าป่าไปก็กลับมาแถมยังพาม้าป่ามาอีกตัวหนึ่งด้วย” ชายแก่ตอบเพื่อนบ้านว่า “มันอาจจะไม่ดีก็ได้”

เมื่อมีม้าตัวใหม่ ลูกชายก็พยายามฝึกม้าป่าให้เชื่อง วันหนึ่งขณะควบม้าตัวใหม่ที่ยังติดสัญชาติญาณป่าและเกิดพยศ ลูกชายหนุ่มพลัดตกจากม้า ขาหัก เพื่อนบ้านต่างเข้ามาแสดงความเสียใจ “โชคร้ายนะ มีลูกชายอยู่คนเดียว ก็มาตกม้าขาหักเสียแล้ว” ชายแก่บอกทุกคนว่า “มันอาจจะดีก็ได้”

กาลต่อมา อาณาจักรจีนเกิดศึกสงครามที่ชายแดน ทางเมืองหลวงออกคำสั่งให้เกณฑ์ชายฉกรรจ์ตามหมู่บ้านทุกคนไปเป็นทหารเจ้าหน้าที่มาถึงบ้านชายแก่ เห็นว่าลูกชายขาพิการ จึงอนุญาตให้ชายหนุ่มอยู่กับบ้านดูแลพ่อไม่ต้องเป็นทหาร

นั่นเป็นเรื่องที่คุณพิชัยฯเล่าให้ฟังเมื่อนานมาแล้ว ปีนี้ ผมคงเข้าเกณฑ์เป็นชายแก่แล้ว ผมไม่มีม้าที่จะหาย ไม่มีลูกชายที่จะตกม้าจนขาพิการ แต่ผมมีเรื่องดีและเรื่องร้ายที่ต้องเผชิญอยู่บ่อยๆ หลายครั้งที่ผมใช้คติของชายแก่ในเรื่องนี้ “มันอาจจะดีก็ได้” "มันอาจจะไม่ดีก็ได้”


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th