The Prachakorn

ครอบครัว สำคัญ ต้องติดตามโดยชุมชน และจิตวิญญาณของสังคมโลก


อรทัย หรูเจริญพรพานิช

14 สิงหาคม 2561
930



ในระดับมหภาค ครอบครัวไม่ใช่เฉพาะเรื่องของพ่อแม่ลูกเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของชุมชนประเทศชาติ และในกรณีของการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าออกจากถ้ำที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับความห่วงใยและการสนับสนุนจากผู้คนทั่วโลก เสมือนหนึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวเป็นเรื่องนานาชาติ เป็นจิตวิญญาณของสังคมโลก

ในระดับจุลภาค “ครอบครัว” สำคัญมากที่สุด เพราะเป็นสถาบันแรกที่ทำหน้าที่หล่อหลอมคนให้เป็นคนดี ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้เป็นที่ยอมรับของสังคม อย่างไรก็ตาม สภาพสังคมปัจจุบัน ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้หลายครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ไม่สามารถทำ.บทบาทหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ เวลาที่สมาชิกในครอบครัวอยู่ร่วมกันมีน้อยลง ในขณะที่พ่อแม่ก็ไม่ได้ใช้เวลาที่เหลือจากการทำงานมาทำหน้าที่ของตนเองในครอบครัวอย่างมีคุณภาพ การดูแลครอบครัวจึงต้องเป็นเรื่องของชุมชนและประเทศชาติด้วย

ในจิตวิญญาณของสังคมโลกดังกล่าว องค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัว โดยกำหนดให้วันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันครอบครัวสากล เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศทั่วโลก ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว และร่วมกันหา “แนวทางส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว” ให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับประเทศไทย วันครอบครัวได้ถือเป็นวันที่ 14 เมษายน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 รัฐบาลมีการดำเนินงานด้านการพัฒนาครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้บรรจุมาตรการในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริมสถาบันครอบครัวเป็นแหล่งบ่มเพาะคนให้มีคุณภาพ ส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม ให้พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต รวมถึงการพัฒนาความรู้และทักษะให้กับพ่อแม่เพื่อการเลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสมในช่วงวัยต่างๆ

 

ภาพประกอบจาก Freepik


ในระดับประเทศ การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาครอบครัวตามกรอบนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น เป็นภารกิจหลักของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2460-2564 และกำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งเป้าหมายเพื่อพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม สมาชิกในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พร้อมกำหนดภารกิจที่สำคัญไว้ 4 ประการ คือ 1. การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของครอบครัว ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดี มีภูมิคุ้มกันและพึ่งพาตนเองได้ 2. การส่งเสริมให้ครอบครัวมีหลักประกันความมั่นคงและได้รับสวัสดิการพื้นฐาน 3. การพัฒนากลไกและเครือข่ายการทำงานด้านครอบครัวให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และ 4. สนับสนุนการใช้สื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพครอบครัว

ภารกิจสำคัญดังกล่าว นับว่าเป็นกรอบให้กับการดำเนินโครงการ Thai Family Matters (TFM) หรือโครงการครอบครัวสำคัญของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ชุมชนสนับสนุนพ่อแม่/ผู้ปกครองให้ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกหลานให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สร้างเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว สนับสนุนการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกให้กับครอบครัวในการดูแลและปกป้องลูกหลานวัยรุ่นจากพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ โดยโครงการได้พัฒนาคู่มือ TFM เพื่อให้ชุมชนขับเคลื่อนโดยใช้เป็นสื่อหรือเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้กับครอบครัว ชุมชนต้องคอยติดตามให้พ่อแม่/ผู้ปกครองใช้เป็นสื่อการสร้างความสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารของพ่อแม่เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ของลูกวัยรุ่น ผลการประเมินโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แสดงให้เห็นว่าคู่มือ TFM มีประสิทธิภาพ โดยพ่อแม่ที่อ่านและทำกิจกรรมตามคู่มือ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลลูก สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น ใช้เวลาว่างร่วมกันในครอบครัวมากขึ้น มีการสื่อสารผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน พ่อแม่รู้สึกสบายใจและสะดวกใจที่จะพูดคุยกับลูกในเรื่องเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เรื่องเพศและการมีแฟน ในขณะที่ลูกสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของพ่อแม่

สำหรับการดำเนินโครงการในปีนี้ นักวิจัยของสถาบันฯ นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ รศ.ดร.วาทินี  บุญชะลักษี ดร. อรทัย หรูเจริญพรพานิช ผศ.ดร. จรัมพร โห้ลำยอง และ คุณกัญญา อภิพรชัยสกุล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำ.หรับการดำเนินงานในพื้นที่ 4 จังหวัด จะเป็นการประสานความร่วมมือกันทำงานระหว่างสถาบันฯ และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) โดยโครงการจะพัฒนาคู่มือเพื่อให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนใช้เป็นสื่อในการพัฒนาและส่งเสริมครอบครัวให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดูแลสมาชิกใน 4 ด้าน ได้แก่ การสื่อสาร (Communication) : สนับสนุนให้มีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวให้มากขึ้น ความตระหนัก (Awareness) : สร้างความตระหนักให้กับพ่อแม่ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองในครอบครัว และให้พ่อแม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของลูกหลานวัยรุ่นในเรื่องเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศ ความรับผิดชอบ (Responsibility) : สนับสนุนพ่อแม่และสมาชิกครอบครัวให้มีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนเอง และพัฒนาศักยภาพ (Empowerment) : สร้างเสริมครอบครัวเข้มแข็ง มีศักยภาพในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม ซึ่งโครงการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสริมและพัฒนาครอบครัวให้มีความอบอุ่นและเข้มแข็งได้

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th