The Prachakorn

ตัวเลขการฆ่าตัวตายบอกอะไร...


สุภาณี ปลื้มเจริญ

31 สิงหาคม 2561
332



การฆ่าตัวตายเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกจึงได้ออกประกาศให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยเริ่มประกาศครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2546

ตัวเลขสถิติของการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ได้ถูกรวบรวมไว้โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นเวลาสองทศวรรษแล้ว ลองมาดูกันว่าตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรได้บ้าง…

อัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยแยกตามเพศปี พ.ศ. 2540-2560 พ.ศ. 2542-2559

ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข https://www.dmh.go.th/report/suicide/

จากพ.ศ. 2542-2559

วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540) ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยทุกหย่อมหญ้าได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้ ความระทมทุกข์จากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในครั้งนั้น ยังคงไม่อาจจางหายไปได้หมดในปัจจุบัน โดยเฉพาะครอบครัวผู้สูญเสียบุคคลที่รักจากการฆ่าตัวตายในช่วงนั้น ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในรอบ 20 ปี คือมีอัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 8.59 ในพ.ศ. 2542 หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อัตราการฆ่าตัวตายเริ่มลดลงตามลำดับ จนกระทั่งลดลงต่ำสุดเท่ากับ 5.77 ในพ.ศ. 2549 แต่หลังจากลดลงต่ำสุดได้เพียงหนึ่งปี ก็กลับไปเริ่มไต่ระดับสูงขึ้นอีก จนเป็น 6.47 ในพ.ศ. 2558 และ 6.35 ในพ.ศ. 2559

จากพ.ศ. 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งจนถึงขณะนี้นับเป็นเวลาสองทศวรรษแล้ว หวังว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้คงไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง อัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยจะได้ไม่กลับไปสูงขึ้นซ้ำรอยเดิม

ชายหรือหญิงมากกว่ากัน

เรื่องนี้เดากันคงไม่ยากว่าเพศชายมีการฆ่าตัวตายมากกว่าเพศหญิง โดยมีความแตกต่างอย่างชัดเจน คือเพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายตั้งแต่น้อยที่สุดคือ 9.24 เมื่อพ.ศ. 2549 ไปจนถึงมากที่สุดคือ 13.32 ในพ.ศ. 2542 ในขณะที่เพศหญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายน้อยที่สุดเท่ากับ 2.48 ในพ.ศ. 2558 และมากที่สุดคือ 3.91 ในพ.ศ. 2542

วัยไหนมากกว่ากัน


ที่มาของภาพ https://ask.fm/Beauty410

ช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงคืออายุระหว่าง 20–39 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญคือเป็นวัยแรงงาน เป็นกำลังหลักของครอบครัว และประเทศชาติ แม้ว่าการฆ่าตัวตายในกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น แต่สัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งคือการฆ่าตัวตายในกลุ่มนี้ มีแนวโน้มที่ลดลงตามลำดับ จากตัวเลขระดับหลักพันมาสู่หลักร้อย

อีกกลุ่มวัยหนึ่ง คือกลุ่มของผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) พบว่ามีแนวโน้มการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี โดยกลุ่มผู้สูงอายุในทุกกล่มอายุ ล้วนมีตัวเลขของการฆ่าตัวตายมากขึ้นจากอดีต เช่น ในกลุ่มผู้สูงอายุอายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่ยากจะคาดคิดได้ว่าเพราะเหตุใดผู้สูงอายุที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนสู่บั้นปลายของชีวิต จึงคิดสั้นจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย... แม้ตัวเลขพบว่ามีการฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่มาก แตะเพียงเลขหลักสิบมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา จนมาทะลุหลักร้อยเพียงปีเดียวคือในพ.ศ. 2558 (124 ราย) แต่ตัวเลขของการฆ่าตัวตายก็เป็นไปในทิศทางที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลและเป็นประเด็นสังคมประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ

จังหวัดไหน/ภาคไหน ครองแชมป์ 10 อันดับแรก

ตั้งแต่พ.ศ. 2542-2559 จังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดติดอันดับหนึ่งในสิบมาอย่างต่อเนื่องคือจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในช่วงพ.ศ. 2542-2544 จากนั้นเป็นต้นมาตั้งแต่พ.ศ. 2545-2559 จังหวัดลำพูนติดอันดับสูงสุดมาโดยตลอด ยกเว้นในพ.ศ. 2552, 2555 และ 2559 เท่านั้น ที่ถูกทำลายสถิติโดยจังหวัดเชียงราย น่าน และจันทบุรี

ตัวเลขนี้ชี้ชวนให้เกิดความสนใจอีกเช่นกันว่า เพราะเหตุใดภูมิภาคทางภาคเหนือที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม อากาศเย็นสบาย ผู้คนมีชีวิตที่ไม่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา ฯลฯ แต่กลับมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าจังหวัดในภูมิภาคอื่นๆ

ตัวเลขอย่างไรก็เป็นตัวเลข...ที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ด้วยตัวเลขเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถตอบคำถามไปถึงสาเหตุ รวมทั้งระดับความรุนแรงของปัญหาได้ แต่คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ แม้จะเป็นคำถามที่ตอบยากเพียงใดก็ตาม

หมายเหตุ : อัตราการฆ่าตัวตายหมายถึง จำนวนคนที่ฆ่าตัวตายต่อประชากร 100,000 คน


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th