The Prachakorn

ประเด็นทางประชากรและสังคม


จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

307



ในโลกเราทุกวันนี้ ความสุขดูจะเป็นสิ่งที่หายากขึ้นทุกวัน คนตกงานก็ทุกข์ แต่คนมีงานทำก็ไม่สุข หลายคนทุ่มเททำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่ในใจกลับเบื่อหน่ายงาน ทำงานไปด้วยจิตใจที่ห่อเหี่ยว ไม่รู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่ทำ หรือเรียกได้ว่าทำงานไปทุกข์ใจไป ลองมาดูกันดีกว่าว่า 5 สาเหตุแห่งทุกข์ที่สำคัญของมดงานที่ทุกข์หนักi ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

 

1. พักผ่อนไม่เพียงพอ

การพักผ่อนไม่ใช่การนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง แต่เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ หรือการทำกิจกรรมที่จะสร้างความสุขสนุกสนานให้กับตนเอง ผลการสำรวจพบว่า   ร้อยละ 70 ของมดงานที่ทุกข์หนักไม่ได้ทำ หรือทำน้อยมากในกิจกรรมที่ทำเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ

 

2. ไม่ได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นในที่ทำงาน 

 

แม้ว่าคนทำงานทุกคนจะเป็นองค์ประกอบสำคัญขององค์กร แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีสิทธิ์ออกเสียง ร่วมวางแผน เสนอความคิดเห็น ให้กับองค์กร โดยเฉพาะในกลุ่มมดงานที่ทุกข์หนัก สูงถึงร้อยละ 67 ที่ไม่มีหรือแทบจะไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และไม่มีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะ  กับนายจ้าง หรือหัวหน้างาน

 

3. ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่าเหนื่อย

คนทำงานทุกคนย่อมหวังที่จะสร้างรายได้ อย่างไรก็ตามระดับรายได้ของพนักงานก็มีความหลากหลายไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับการศึกษา อายุงาน ภาระงาน เป็นต้น แต่สำหรับมดงานที่ทุกข์หนักกลับพบว่า ร้อยละ 62 ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า หรือคุ้มค่าน้อยมากกับความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงาน บางคนต้องผจญกับงานหนักเงินน้อย บางคนต้องทำงานที่อาจได้รับอันตรายหรือถูกฟ้องร้อง แต่ได้ค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่ากับผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

 

3. ทำดีไม่ได้ดีในที่ทำงาน

มดงานที่มีความทุกข์หนักร้อยละ 56 ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือปรับขึ้นค่าจ้างอย่างเป็นธรรม เหมาะสม หลายคนทำงานหนัก ทุ่มเทสุดตัว แต่กลับโดนเพื่อนร่วมงานปากหวาน ที่ช่างเอาใจเจ้านายแซงหน้าไป

4. ปัญหาสวัสดิการ

 

หลายคนทุ่มเททำงาน ปกป้ององค์กรด้วยใจรัก และหวังว่าองค์กรจะดูแลเขาเหมือนดั่งที่เขาใส่ใจดูแลองค์กร ในยามลำบาก เดือดร้อน เจ็บไข้ ก็คาดหวังว่าองค์กรจะมีสวัสดิการที่จะช่วยคุ้มครองดูแลเขาให้พ้นจากความทุกข์ได้ อย่างไรก็ตามร้อยละ 56 ของมดงานที่มีความทุกข์หนักไม่พึงพอใจกับสวัสดิการที่ได้รับ ซึ่งอาจส่งผลให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยลดน้อยลงไปด้วย

มดงานที่ทุกข์หนัก นิยามจากคนทำงานที่ประเมินระดับความสุขของตนเองต่ำกว่าคนอื่นๆ โดยเลือกวิเคราะห์เฉพาะผู้ที่ให้ค่าคะแนนความสุขในกลุ่ม เปอร์เซ็นต์ไทล์ ที่ 10 หรือคนที่ทุกข์ที่สุดจากคน 10 คน ซึ่งจากการสำรวจความสุขของคนทำงานในประเทศไทยในช่วงต้นปี พ.ศ. 2556 ทั้งสิ้น 12,900 คน โดยเครื่องมือความสุขวัดเองได้ (Happinometer) สามารถรวบรวมจำนวนตัวอย่างของมดงานที่ทุกข์หนักได้ทั้งหมด 809 คน (ภายหลังจากการตัดทอนข้อคำตอบที่ไม่สมบูรณ์ออกไป)


Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th