The Prachakorn

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ


กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

08 มีนาคม 2562
278



การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย International Society for Physical Activity and Health (ISPAH) ที่จัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2559 มีนักวิชาการที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง และล่าสุดในปี 2561 งานประชุม ISPAH ได้ถูกจัดขึ้นอีกครั้ง ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 4,000 คน


การประชุม ISPAH ครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ชูประเด็นด้านการขาดกิจกรรมทางกาย (Physical activity) ซึ่งถูกบรรจุอยู่ใน Global action plan ในฐานะที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตายก่อนวัยอันควรของประชากรโลก นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงประเด็นด้านความเท่าเทียมในสิทธิและโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายของกลุ่มสตรี และกลุ่มประชากรด้อยโอกาสและผู้พิการ ที่น่าสนใจอีกประการคือ เป็นการรำลึกถึงการครบรอบ 65 ปีของงานวิจัยชิ้นแรกของโลกที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกายและสุขภาพ เก็บข้อมูลเฉพาะในกรุงลอนดอน เรื่อง Coronary heart disease and physical activity of work โดย Prof. Jerry Morris ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ในปี 1953 

การวิจัยดังกล่าว เป็นการศึกษาเปรียบเทียบสุขภาพของคนทำงานที่แม้จะอยู่ในบริบทเดียวกัน แต่ถ้ามีกิจกรรมทางกายต่างกัน ก็ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจต่างกันได้ ซึ่งบริบทในที่นี้คือ รถเมล์สองชั้นสีแดง (Routemaster bus) ที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงลอนดอน กลุ่มตัวอย่างคือ พนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสาร จากผลการศึกษาพบว่า พนักงานเก็บค่าโดยสารมีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าพนักงานขับรถ เหตุเพราะว่าพนักงานเก็บค่าโดยสารต้องเดินขึ้นและลงรถเมล์ตลอดเวลาเพื่อเก็บเงินจากผู้โดยสาร ต่างจากพนักงานขับรถเมล์ที่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ข้อสรุปที่เข้าใจได้ง่ายแต่แฝงไปด้วยคุณค่าจากงานวิจัยชิ้นนี้คือ วิถีชีวิตด้านการเคลื่อนไหวร่างกายของเราเป็นตัวกำหนดภาวะการเจ็บป่วยที่สำคัญ ดังนั้นหากเราสามารถปรับวิถีชีวิตของเราให้มีความกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดทั้งวัน โอกาสในการเจ็บป่วยก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย

การประชุมครั้งนี้ ยังมีการนำเสนอผลการศึกษาที่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเรา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานในออฟฟิซ นั้นก็คือ เรื่องเกี่ยวกับการนั่งและการยืน โดยผลจากการทดลองติดเซนเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงของท่าทางและความเจ็บปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ พบว่า หากเรายืนทำงานอยู่นิ่งๆ เคลื่อนไหวไปมาน้อยๆ ติดต่อเป็นเวลานานเกินกว่า 42 นาทีขึ้นไป1 หรือนั่งทำงานติดต่อกันเกินกว่า 60 นาที2 กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอและหลังจะเริ่มมีอาการตึงและเมื่อยล้า สาเหตุก็เพราะลักษณะท่ายืนและนั่งจะเริ่มอยู่ในท่าทางที่ผิดรูป ดังนั้นทางที่ดีเมื่อถึงเวลาดังกล่าวก็ควรลุกหรือเดินขยับท่าทางและร่างกายไปมาก็จะช่วยได้อย่างมาก

การประชุม ISPAH ครั้งนี้ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อค้นพบจากการวิจัยในมิติต่างๆ เกี่ยวกับการมีและการขาดกิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพของประชากรอย่างหลากหลาย ซึ่งในโอกาสนี้ คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ได้มีโอกาสเข้าร่วมและนำเสนอผลงานวิชาการในการประชุมดังกล่าวด้วย จำนวนทั้งสิ้น 6 เรื่อง ซึ่งในโอกาสหน้าจะนำผลการศึกษาเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง

ถึงแม้กิจกรรมทางกายดูจะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ในระดับนานาชาตินั้นประเด็นด้านกิจกรรมทางกายถูกพูดถึงมาเป็นเวลานาน และไม่ได้พูดถึงผลกระทบแค่ในมิติด้านสุขภาพเพียงเท่านั้น แต่ยังมีด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และความเป็นเมืองก็มีผลกระทบโดยตรงด้วยเช่นกัน อย่างเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในไทยตอนนี้ ทำให้เราไม่สามารถออกไปมีกิจกรรมทางกาย อย่างการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน การออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่ประเทศอื่นๆ ประสบอยู่เช่นกันและมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในการประชุมดังกล่าวด้วย และทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นที่เก็บมาฝากผู้อ่านทุกๆ ท่านจากลอนดอน เมืองที่เป็นต้นกำเนิดของ “งานวิจัยด้านกิจกรรมทางกาย”


1 Pieter Coenen, Sharon Parry, Lisa Willenberg, Joyce W. Shi, Lorena Romero, Diana M. Blackwood, Genevieve N. Healy, David W. Dunstan, Leon M. Straker Gait Posture. Associations of prolonged standing with musculoskeletal symptoms-A systematic review of laboratory studies. 2017 Aug 24; 58: 310–318. Published online 2017 Aug 24. doi: 10.1016/j.gaitpost.2017.08.024
2 Hadgraft, Nyssa; Winkler, Elisabeth; Climie, Rachel; Grace, Megan; Romero, Lorena; Dunstan, David; Owen, Neville; Healy, Genevieve; Dempsey, Paddy. Effects of reducing sitting time on adiposity measures in adults: A meta-analysis of intervention studies. 7th International Society for Physical Activity and Health Congress (ISPAH 2018), London, United Kingdom, 15-17 October 2018, Vol. 15, no. 10 Suppl 1, pp. S1-S249
 


Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th