The Prachakorn

กัญชา............ยังหาทางออกไม่ได้


อมรา สุนทรธาดา

11 เมษายน 2562
256



ตั้งแต่ 2800 ปีก่อนคริสตกาล ชนชาติจีนใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคและทอเครื่องนุ่งห่มจากใยกัญชา ส่วนยุโรปเริ่มรู้จักกัญชาโดยการนำเข้าของกองทัพนโปเลียนหลังสงบศึกกับอียิปต์

เนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่ปลูกง่ายโตเร็วจึงเป็นที่นิยมและใช้ประโยชน์จากพืชล้มลุกชนิดนี้หลายอย่าง เช่น ใบใช้ชงกับน้ำร้อนเพื่อดื่มแทนชา ลำต้นใช้ทำเส้นใยสังเคราะห์ เชือก กระดาษยอดช่อดอกและเมล็ดสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย เครื่องสำอาง

กัญชามีสาร Tetrahydrocannabinol มีสรรพคุณในทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม การใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายหรือความเพลิดเพลินมีมากขึ้นในทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะวัยรุ่น เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกัญชาให้เลือกมากขึ้น เข้าถึงง่ายแม้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย รัฐบาลหลายประเทศพยายามปรับแก้กฎหมายเพื่อควบคุมการเข้าถึง แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะมองปัญหาในมุมที่ต่างกัน ประชาชนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมองรอบด้านบนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์ เช่น การปลูกในปริมาณเพื่อมีไว้บริโภคเป็นการส่วนตัว หรือเพื่อการยังชีพจากผลผลิตในพื้นที่ปลูกจำกัด แต่เมื่อความต้องการมากขึ้นย่อมหนีไม่พ้นการผลิตเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศถือว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศและโลกโดยรวม 

มีความร่วมมือจากหลายประเทศพยายามปรับกฎหมายเพื่อมีผลบังคับใช้ให้เหมาะสมมากขึ้น โดยกำหนดปริมาณการครอบครองต่อบุคคลที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม เช่น ประเทศนอร์เวย์ออกกฎหมายกำหนดให้บุคคลครอบครองได้ไม่เกิน 15 กรัม ถ้าฝ่าฝืนเป็นครั้งที่สองมีโทษทั้งปรับและจำ ต่อมาในปี 2561 กฎหมายกำหนดโทษน้อยลงเพื่อเล็งผลการบำบัดผู้เสพติดให้ได้ผลมากขึ้นโดยละเว้นโทษปรับและจำ ประเทศสิงคโปร์กำหนดโทษผู้มีไว้ในครอบครองตั้งแต่ 500 กรัม ให้ถือว่าเป็นผู้นำเข้าผู้ลักลอบค้ายา โทษสูงสุดคือประหารชีวิต ประเทศอุรุกวัยผ่านกฎหมายการใช้เพื่อการรักษาและหาซื้อได้จากร้านขายยาโดยต้องมีใบสั่งแพทย์ ประเทศแอฟริกาใต้มีกฎหมายคุ้มครองผู้เสพเพื่อสันทนาการและการครอบครองในปริมาณที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นและห้ามมีไว้เพื่อการจำหน่าย สำหรับประเทศไทย ผู้ครอบครองตั้งแต่ 10 กรัม มีโทษปรับหรือจำคุก 5 ปี ต่อมาในปี 2561 ออกกฎหมายคุ้มครองการใช้เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์เท่านั้น

ดาไลลามะ เยือนกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาเพื่อรณรงค์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์
ภาพ: http://crrh.org/news/category/cannabis/mexico?page=1

ผลการวิจัยพันธุกรรมกัญชาพบสรรพคุณทางยาหลายประการ เช่น ยับยั้งเซลล์มะเร็ง อาการอัลไซเมอร์ อาการซึมเศร้า ลดอาการอาเจียนรุนแรง อาการกระวนกระวาย อาการปวดอย่างรุนแรง เพิ่มการเจริญอาหาร รักษาอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดติดเชื้อ อาการจิตหลอน หัวใจวายเฉียบพลัน อาการประสาทส่วนกลางเสื่อมที่มีผลต่อการทรงตัว การมองเห็น กล้ามเนื้อกระตุก อาการดังกล่าวพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อย่างไรก็ตาม กัญชามีทั้งคุณและโทษ จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ประเทศแคนาดา สำรวจตัวอย่างเยาวชน 300 รายที่อายุไม่เกิน 20 ปีที่เริ่มเสพกัญชาตั้งแต่อายุ 14 ปี พบผลทดสอบความสามารถทางสติปัญญาต่ำกว่าเยาวชนที่ไม่เคยเสพ อัตราการหยุดเรียนกลางคันสูงกว่าเยาวชนกลุ่มปกติ 

ปัจจุบันการควบคุมการเข้าถึงหรือการใช้กัญชาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ในลักษณะอื่นๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น จากปัจจัยประกอบหลากหลาย เช่น กฎหมายและการบังคับใช้ เพราะการตีความว่า กัญชาเป็นสิ่งเสพติดหรือไม่ มีความแตกต่างกันบางประเทศให้ถือว่าเป็นสินค้าทางเลือกและจำหน่ายได้ในสถานที่มีใบอนุญาตชั่วคราวและมีการติดตามประเมินผล เช่น ร้านกาแฟหรือร้านขายตรงที่อนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น คุกกี้ น้ำมันหอมระเหย บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องสำอาง ราคาเริ่มต้น 200 ดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายว่าสามารถควบคุมหรือเข้าถึงผู้เสพได้ในระดับหนึ่งถ้าต้องการได้รับการบำบัดจากภาครัฐ ซึ่งสุ่มเสี่ยงน้อยกว่าการห้ามปรามที่เข้มงวดเพราะทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคจะหนีลงใต้ดิน นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้จากระบบออนไลน์ การเข้าถึงสินค้าสะดวกและรวดเร็วดังกล่าว ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังถึงผลดีและผลเสียอย่างรอบด้าน
 

ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์นานาชนิดจากกัญชาในสหรัฐอเมริกา
ภาพ: http://www.megabudshop.com 

กัญชากำลังรุกคืบเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้น แม้แต่อาหารจานเด็ด เช่น พิซซ่าหรือสลัดผักก็ไม่เว้น


ภาพปก Image by M. Maggs from Pixabay


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th