The Prachakorn

การแต่งงานทำให้เรากินดีขึ้น และการเป็นโสด หม้าย หย่าร้างทำให้เรากินแย่ลง


สิรินทร์ยา พูลเกิด

20 มิถุนายน 2562
354



งานวิจัยต่างประเทศชี้ ชีวิตแต่งงานช่วยเพิ่มการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่มากกว่าใช้ชีวิตโสด หม้าย หรือหย่าร้าง

เหตุผลที่ ผู้ชาย ผู้หญิง อยากแต่งงาน คือ....?

          แต่งงานดีไหม หรือโสดดีกว่า?

          ควรอยู่ต่อ หรือหย่าดี?

คำถามนี้ถูกยกมาถามทีเล่นทีจริงอยู่บ่อยครั้งในวงสนทนาเพื่อนฝูง หรือตั้งเป็นกระทู้ถามคนทั่วไปในสื่อสังคมออนไลน์ว่า จริงๆ แล้วการเป็นโสด แต่งงาน หรือหย่าร้าง มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร อย่างเรื่องกิน ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า คนโสด แต่งงาน เป็นหม้าย หรือหย่าร้าง กินดีมากขึ้นหรือน้อยลง วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาช่วยคลายความสงสัย

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay 

คนแต่งงานแล้ว กินดีมีประโยชน์มากขึ้น

การศึกษาต่างประเทศชี้ชัด สถานภาพการแต่งงานเชื่อมโยงกับการกินอาหารของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคนที่แต่งงานแล้ว พบว่า กินผักและผลไม้มากกว่าคนที่เป็นโสด และคนที่เป็นหม้ายกินแย่กว่าคนที่ไม่เป็นหม้าย1,2

จากการศึกษาติดตามพฤติกรรมผู้ชายและผู้หญิงอเมริกันแบบระยะยาว3,4 พบว่า การยุติสถานภาพสมรสของผู้ชายและผู้หญิงอเมริกันส่งผลเชิงลบต่อพฤติกรรมการกิน โดยคนที่หย่าร้างหรือเป็นหม้ายจะกินผักและผลไม้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ยังอยู่ในสถานภาพแต่งงาน และในผู้ชายอเมริกันที่แต่งงานใหม่ พบว่า การกินผักและผลไม้กลับมาเพิ่มขึ้นจากเดิม

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับผลการติดตามคนอังกฤษอายุ 39-78 ปี คนเดิมอย่างต่อเนื่องนานเกือบ 4 ปี5 พบว่า ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอังกฤษที่เป็นหม้าย แยกกันอยู่ หย่าร้าง หรือยังโสดจะกินผักและผลไม้ลดลง ทั้งปริมาณและความหลากหลายของผักและผลไม้ที่กิน

 รูปจาก pexels.com

ผู้ชายหลังแต่งงานแล้ว ปรับปรุงเรื่องกินดีขึ้น

ผู้ชายได้ประโยชน์จากการแต่งงานหรือมีชีวิตคู่ในเรื่องการกินที่มีประโยชน์มากกว่าผู้หญิง6 จากเดิมที่ผู้ชายโสดกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพน้อยกว่าผู้หญิงโสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารพวกผักและผลไม้ แต่หลังจากที่แต่งงานหรือแต่งงานใหม่ พฤติกรรมการกินของผู้ชายกลับมีแนวโน้มดีขึ้น กินผักและผลไม้ที่หลากหลายมากขึ้น3

ผู้ชายและผู้หญิงต่างมีประสบการณ์และกระบวนการดำเนินชีวิตแต่งงานที่แตกต่างกันไป รวมถึงการส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพของตนเองและครอบครัว ผู้หญิงค่อนข้างถูกคาดหวังจากสังคมตั้งแต่เด็กให้คำนึงถึงสุขภาพตนเอง สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่น มากกว่าผู้ชาย1 และการเตรียมอาหารที่ดีต่อสุขภาพต้องใช้ความเชี่ยวชาญและเวลา หน้าที่เหล่านี้มักเป็นของผู้หญิงดังนั้นจากอิทธิพลของคู่ครองนี้ ผู้ชายจึงมักได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นทั้งเรื่องสุขภาพและการกินภายหลังจากการแต่งงานมากกว่าผู้หญิง และเมื่อเกิดการหย่าร้างขึ้น จึงส่งผลให้ผู้ชายหันไปกินอาหารสะดวกซื้อ ซึ่งมีคุณค่าทางสารอาหารน้อย รวมถึงมีส่วนประกอบของผักและผลไม้น้อย ส่งผลต่อการกินผักและผลไม้ลดลงตามไปด้วย

ผู้ชายหย่าร้าง ดื่มและสูบมากขึ้น

นอกเหนือจากกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพน้อยลง ผู้ชายที่หย่าร้างจะมีการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นกว่าตอนแต่งงานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยทำงานตอนต้นอายุ 23-33 ปี7 ที่เพิ่งหย่าร้างมีแนวโน้มดื่มหนักขึ้นเป็นสองเท่าจากตอนแต่งงาน ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากภาวะเครียด ขาดการดูแลจากคนรอบข้าง และประสบการณ์เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“The goal in marriage is not to think alike, but to think together – by Robert C. Dodds” เป้าหมายของชีวิตแต่งงานไม่ใช่การคิดเหมือนกัน แต่เป็นการคิดด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนจากการแต่งงาน ทำให้เกิดการสนทนา หารือ แบ่งปัน และแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่ความสุขในชีวิตที่ตั้งไจไว้ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน ถือเป็นปัจจัยเชิงจิตวิทยาที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ปัจจัยด้านสถานภาพสมรส ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ที่จะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการกิน ของคู่สมรสและคนในครอบครัวไทยได้อีกทางหนึ่ง

 

รูปจาก pixabay.com


แหล่งที่มา

1 Roos E., Lahelma E., Virtanen M., Prattala R., Pietinen P. Gender, socioeconomic status and family status as determinants of food behaviour. Soc. Sci. Med.1998;46(12):1519–1529.
2 Rosenbloom C.A., Whittington F.J. The Effects of bereavement on eating behaviours and nutrient intakes in elderly widowed persons.J.Gerontol.1993;48(4):S223–S229.
3 Eng P.M., Kawachi I., Fitzmaurice G., Rimm E.B. Effects of marital transitions on changes in dietary and other health behaviours in US male health professionals.J.Epidemiol. Community Health.2005;59:56–62.
4 Lee S., Cho E., Grodstein F., Kawachi I., Hu F.B., Colditz G.A. Effects of marital transitions on changes in dietary and other health behaviours in US women.Int. J. Epidemiol.2005;34:69–78.
5 Vinther J.L., Conklin A.I., Wareham N.J., Monsivaisc P. Marital transitions and associated changes in fruit and vegetable intake: Findings from the population-based prospective EPIC-Norfolk cohort, UK. Soc Sci Med. 2016 May; 157: 120–126.
6Conklin A.I., Forouhi N.G., Surtees P., Khaw K.T., Wareham N.J., Monsivais P. Social relationships and healthful dietary behaviour: evidence from over-50s in the EPIC cohort, UK.Soc. Sci. Med.2014;100:167–175.
7 Sobal J., Rauschenbach B., Frongillo E.A. Marital status changes and body weight changes: a US longitudinal analysis. Soc Sci Med 2001;56:1543–55.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th