The Prachakorn

คนไทยกับกิจกรรมทางกาย


นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

28 มิถุนายน 2562
345



ถ้าจะพูดว่าการออกกำลังกาย คือยาวิเศษ หลายคนคงไม่มีข้อกังขาใดๆ ทุกวันนี้เราจะเห็นว่ามีการรณรงค์ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้คนหันมามีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity: PA) ให้มากขึ้น และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior: SB) ให้น้อยลง เนื่องจากร่างกายคนเราถูกออกแบบให้ต้องมีการเคลื่อนไหว

ทว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ รอบตัวในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มไปในทิศทางที่อำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ให้ได้มากที่สุด การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ก้าวย่างเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมดิจิตอลมากขึ้น และกระแสทางสังคมที่ส่งผ่านพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว การมีกิจกรรมทางกายจึงไม่ได้กลมกลืนในวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน หากแต่เราต้องจัดสรรเวลาและความพยายามที่จะมีกิจกรรมทางกายขึ้นเอง และยิ่งกว่านั้นเรายังต้องข่มใจให้นั่งเนือยนิ่งเป็นระยะเวลาน้อยลงอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่การมีกิจกรรมทางกายกลายเป็นวาระทางสุขภาพที่ท้าทายและต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

การศึกษาถึงสาเหตุของการมี (หรือไม่มี) กิจกรรมทางกายได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง มีงานวิจัยที่พยายามตอบโจทย์หาที่มาที่ไปของพฤติกรรมนี้มาอย่างยาวนาน โดยสาเหตุที่ทำให้คนเราขยับหรือไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมีได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล เช่น เพศ อายุ ระดับการศึกษา ความเชื่อ และทัศนคติ ระดับชุมชนหรือสังคม เช่น การสนับสนุนจากครอบครัว การมีเพื่อนไปออกกำ.ลังกาย ระดับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การมีฟิตเนสในที่ทำงาน การมีสวนสาธารณะบริเวณที่อยู่อาศัย เป็นต้น และระดับนโยบายสาธารณะ เช่น นโยบายของมหาวิทยาลัยที่ให้นักศึกษาและพนักงานเข้าฟิตเนสของมหาวิทยาลัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในประเทศไทยเองก็มีการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เช่นกัน โดยจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic review) ซึ่งรวบรวมงานวิจัยได้ทั้งสิ้น 167 บทความ พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกายรวมทั้งสิ้น 261 ปัจจัย และปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 41 ปัจจัย โดยแบ่งตามกลุ่มอายุของประชากรได้ดังนี้

  • ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น (อายุ 6 ถึง 17 ปี) พบว่า เพศชาย อายุน้อยกว่า มีการรับรู้ความสามารถในตนเองสูง มองข้ามอุปสรรคในการออกกำลังกาย และให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อนมาก มีแนวโน้มที่จะมีกิจกรรมทางกายสูง
  • ในกลุ่มผู้ใหญ่ (อายุ 18 ถึง 59 ปี) พบว่า การประเมินสุขภาพตนเองสูง มีสุขภาพจิตที่ดี มีทัศนคติด้านบวกต่อการออกกำลังกาย มีการรับรู้ความสามารถในตนเองสูง มองเห็นประโยชน์ของการออกกำลังกาย มองข้ามอุปสรรคในการออกกำลังกาย มีเวลาว่าง ได้รับการสนับสนุนจากสังคม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ให้ความสำคัญกับครอบครัว และได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงพอ มีแนวโน้มที่จะมีกิจกรรมทางกายสูง

สำหรับในกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) พบว่าการประเมินสุขภาพตนเองสูง มีสุขภาพจิตที่ดี มีทัศนคติด้านบวกต่อการออกกำลังกาย มีการรับรู้ความสามารถในตนเองสูง มองเห็นประโยชน์ของการออกกำลังกาย มองข้ามอุปสรรคในการออกกำลังกาย มีความคาดหวังต่อผลลัพธ์สูง มีความรู้เรื่องกิจกรรมทางกายดี และมีสมรรถนะทางกายภาพที่ดี ล้วนส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกายที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เนื่องจากจำนวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเนือยนิ่งในประเทศไทยยังคงมีไม่มากนัก (พบเพียง 40 บทความ) จึงไม่สามารถสรุปปัจจัยที่สำคัญจากงานวิจัยเท่าที่มีนี้ได้ มีเพียงปัจจัยเดียวที่แสดงค่านัยสำคัญทางสถิติ คือ การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป (Obesity) ในกลุ่มผู้ใหญ่ ที่มีความสัมพันธ์กับการมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าปัจจัยส่วนใหญ่ที่ศึกษาในบริบทสังคมไทยยังคงมุ่งเน้นที่ระดับบุคคลและระดับชุมชนหรือสังคมการศึกษาในอนาคตจำเป็นต้องเน้นที่ระดับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและนโยบายสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความครอบคลุมในการศึกษาหาความสัมพันธ์ของการมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของคนไทย

 

ภาพ: www.th.pngtree.com

หากสนใจอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://rdcu.be/bxmXv

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th