The Prachakorn

อินโดนีเซียเร่งนโยบายย้ายเมืองหลวงเพื่อคุณภาพชีวิต


อมรา สุนทรธาดา

16 สิงหาคม 2562
332



ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนต่างกำลังเผชิญประเด็นท้าทายเสถียรภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น ปัญหาผู้อพยพโรฮิงญาในเมียนมา มาตรการคุมเข้มขยะพลาสติกนำเข้าในมาเลเซีย การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งของประเทศไทย การพัฒนาเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานในลาวด้วยงบเงินกู้จากจีน และนโยบายย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เป็นต้น บทความนี้ขอยกกรณีศึกษาของประเทศอินโดนีเซียเทียบเคียงกับประเทศไทยเพื่อร่วมฝันการย้ายเมืองหลวงที่เคยเป็นประเด็นมานานให้เป็นจริงได้บ้าง

ประธานาธิบดีซูการ์โน เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการย้ายเมืองหลวงตั้งแต่ปี 1950 และประธานาธิบดี โจโกวี วิโดโดมาสานต่อเจตนารมณ์ แม้ว่ายังไม่ได้กำหนดพื้นที่ชัดเจนสำหรับการตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่เดินหน้าลงพื้นที่สำรวจเมือง Palankaraya เมืองหลวงของ Central Kalimantan ที่ประธานาธิบดีซูการ์โนเคยเลือกไว้ เมืองนี้อยู่ห่างจากกรุงจาการ์ตาประมาณ 1,400 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที มีประชากรประมาณ 380,000 คน มีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ เช่น ไม่ใช่เป็นพื้นที่วงแหวนไฟ และปลอดภัยจากแผ่นดินไหวและภูเขาไฟเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ เหตุที่ประธานาธิบดี โจโกวี ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะทำตามสัญญาเรื่องยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีและได้รับชัยชนะอีกเป็นสมัยที่สอง แม้ว่าการย้ายเมืองหลวงจะเป็นนโยบายระยะยาวและใช้งบประมาณมหาศาล ไม่ง่ายที่จะเตรียมรับการย้ายโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจและการบริหารประเทศไปที่แห่งใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ใช้งบประมาณมหาศาล 23-33 หมื่นล้าน ดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาพื้นที่และสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเมืองหลวงแห่งใหม่ 

 
ประธานาธิบดีโจโกวี วิโดโด เร่งสานต่อการย้ายเมืองหลวง
ภาพจาก: www.asianews.it/news-en/Jakarta-will-no-longer-be-the-capital-of-Indonesia-46880.html

ปัจจุบันกรุงจาการ์ตา มีพื้นที่ ประมาณ 6,392 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน เป็นเมืองหลวงอันดับที่ 3 ของโลกที่เผชิญปัญหาความหนาแน่นการจราจร และครองอันดับหนึ่งด้านปัญหามลภาวะในกลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ผลกระทบดังกล่าวมีมูลค่าถึง 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ปัญหาการทรุดตัวของพื้นดินในกรุงจาการ์ตาอยู่ในระดับวิกฤต เนื่องจากปริมาณการสูบน้ำใต้ดินเพื่อการบริโภค/อุปโภคสำหรับประชากรราว 3.5 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตศูนย์กลางของกรุงจาการ์ตา ที่แผ่นดินทรุดตัวเฉลี่ย 25 เซนติเมตร ต่อปี คาดการณ์ว่าในปี 2030 พื้นที่ราว 40% ของกรุงจาการ์ตาจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 4.27 เมตร 

สาเหตุหลักที่เป็นปัญหาการระบายน้ำคือพื้นที่ส่วนใหญ่มีสิ่งก่อสร้างและการสร้างถนน ซึ่งเป็นปัญหาหลักเพราะพื้นที่ซับน้ำลดลง ในขณะที่การบุกรุกป่าชายเลนเขตชานเมืองเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราวของชุมชนแออัดที่ขาดระบบกำจัดขยะจากครัวเรือน รวมทั้งการสร้างอาคารสูง นอกจากนี้ยังเป็นที่รวมของแม่น้ำหลัก 13 สายที่มีวัชพืชและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ล้วนมีผลต่อการระบายน้ำโดยเฉพาะหน้าฝน

การแก้ปัญหาเท่าที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ แต่กลับเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากของผู้ยากไร้เพราะรัฐบาลใช้วิธีไล่รื้อหรือเวนคืนที่ดินที่เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรระดับล่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานย้ายถิ่นจากเกาะสุมาตราและเกาะกาลิมันตันที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการพื้นที่เพื่อทำไร่ยาสูบและการเปิดหน้าดินทำเหมืองถ่านหินสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ที่ได้รับสัมปทาน ดังนั้นแรงงานไร้ฝีมือจำเป็นต้องอพยพเข้าเมืองหลวงเพื่อหางานทำ

 
ปัญหาน้ำท่วมช่วงฤดูฝนในกรุงจาการ์ตา
ภาพจาก: https://www.nytimes.com/interactive/2017/12/21/world/asia/jakarta-sinking-climate.html

การย้ายเมืองหลวงกำลังเป็นที่วิพากย์ เรียกร้องให้รัฐบาลศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลดีผลเสียจากกรณีศึกษาของ เมียนมาและมาเลเซีย ในกรณีของมาเลเซียย้ายเมืองหลวงจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปที่เมืองปุตราจายาเมื่อปี 1950 มีระยะทางเพียง 45 กิโลเมตร จากกรุงกัวลาลัมเปอร์และเป็นการย้ายเฉพาะศูนย์กลางการบริหารและประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ หากเปรียบเทียบกับเมียนมา ย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองเนปิดอว์ เมื่อปี 2005 ซึ่งกลายเป็นเมืองผีหลอกไม่ดึงดูดให้คนย้ายไปตั้งถิ่นฐาน รวมทั้งนักท่องเที่ยว เพราะใช้หลักการย้ายเมืองหลวงแบบรวมศูนย์กลางการบริหาร ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้า-บริการ แต่ขาดสาธารณูปโภคที่จำเป็นหลายอย่าง เจ้าหน้าที่ภาครัฐไปปฏิบัติงานในวันทำงาน และยอมเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางกลับกรุงย่างกุ้งระหว่างวันหยุด แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงหรือชาวต่างประเทศต้องการบินกลับย่างกุ้งทันทีเมื่อเสร็จภารกิจ

ลองคิดทีเล่นทีจริงว่าเราพร้อมย้าย”กรุงเทพฯ” ไปที่อื่นหรือไม่


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th