The Prachakorn

เพราะโลกนี้มีผู้หญิง: ประเด็นเรื่องผู้หญิงในเวทีโลก Women Deliver 2019


กุลภา วจนสาระ

07 พฤศจิกายน 2562
284



Women Deliver เป็นการประชุมระดับโลกของบรรดานักกิจกรรม ขับเคลื่อนทางสังคม นักวิจัย นักวิชาการ นักการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำประเทศ คนทำงานและผู้สนใจจากหลากหลายภาคส่วน สาขาวิชาชีพ ที่ทำงานในประเด็นสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างเพศ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ การเสริมพลังผู้หญิงในการพัฒนา ฯลฯ จัดขึ้นทุก 3 ปี ปีนี้ (2019) จัดขึ้นที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภายใต้คำขวัญว่า “Power. Progress. Change.” เรียกได้ว่าเป็นเวทีระดับโลกว่าด้วยเด็กและผู้หญิงที่ใหญ่ที่สุด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 8,000 คน มากกว่า 3,200 องค์กร จาก 165 ประเทศ 

เวทีพูดคุยในการประชุม Women Deliver 2019 หรือ WD2019 คราวนี้อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาและกิจกรรมในห้องต่างๆ มีทั้งเวทีก่อนการประชุม เวทีคู่ขนาน เวทีพิเศษ เกิดขึ้นพร้อมๆ กันไปในพื้นที่ทั้ง 9 โซนของการประชุม ที่ต่างร่วมกันแสดงพลังของผู้หญิงด้านต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงโลก

ไฮไลท์ของการประชุมคือเวทีเปิดงาน “The Power of Us” ที่แสดงการประสานพลังและเปิดโอกาสให้กับทุกความต่างได้มีพื้นที่ของตัวเอง เริ่มต้นด้วยการต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมอย่างเป็นทางการโดย 3 ผู้นำชนพื้นเมืองของแคนาดา นายกรัฐมนตรีของประเทศแคนาดา และประธานการจัดงานครั้งนี้ เวทีเปิดงานเป็นการเสวนาพูดคุยกับผู้นำจากประเทศต่างๆ อาทิ ซาห์เล เวิร์ค-ซูเด ประธานาธิบดีของประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นผู้หญิง กล่าวถึงความสำคัญของผู้หญิงในเวทีการเมือง, นานา อาคูโฟ-อัดโด ประธานาธิบดีของประเทศเคนยา ที่ผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน, อูหุรุ เคนยัตตา ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศกานา, จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา ที่เรียกเสียงปรบมือกึกก้องเป็นระยะๆ ตลอดการเสวนา โดยเฉพาะเมื่อเน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลแคนาดาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและขับเคลื่อนประเด็นผู้หญิง แพทย์หญิงอัลลา มุราบิต ผู้หญิงเก่งที่พูดถึงความสำคัญของโอกาสและประสบการณ์ของผู้หญิงในแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ และที่ไม่คาดคิดก็คือเสียงจากนักกิจกรรมรุ่นใหม่อายุเพียง 18 ปีจากประเทศแซมเบียอย่างนาตาชา มวันซา ที่ช่วงชิงเวทีแผ่พลังกระจายความหวังให้แก่การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเด็กและผู้หญิง จนกระทั่งผู้ร่วมเสวนาทุกคนในเวทีและผู้ฟังต่างลุกขึ้นยืนปรบมือให้ด้วยความชื่นชม

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนในหลายเวทีก็คือ ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ผู้หญิงต้องเผชิญเมื่อต้องการเลือกหรือกำหนดชีวิตเจริญพันธุ์และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักเพศเดียวกัน พนักงานบริการทางเพศ เรื่องของท้องและการทำแท้ง ความรุนแรงทางเพศ การบังคับแต่งงาน ฯลฯ ด้วยเครื่องมือที่สำคัญคือ การตีตรา การสร้างความกลัว การทำให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นความผิด (โดยเฉพาะทางกฎหมาย) และการกีดกัน ทำให้ผู้หญิงที่เลือกดำเนินชีวิตต่างจากที่แบบแผนทางสังคมกำหนดไว้เข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ตามสิทธิที่ควรจะได้รับ ซึ่งหลายเวทีต่างเรียกตรงกันว่านี่คือความไม่เป็นธรรมทางอนามัยเจริญพันธุ์

แม้เวทีในห้องประชุมใหญ่จะคึกคักตลอด 4 วันของการประชุม แต่เวทีย่อยและเวทีคู่ขนานต่างๆ ก็เต็มไปด้วยผู้สนใจเข้าร่วมเนืองแน่นไม่แพ้กัน บางเวทีเริ่มต้นตั้งแต่ 6.00 น. บางเวทีจบลงหลัง 22.00 น. บางเวทีตอกย้ำประสบการณ์ร่วมและการขับเคลื่อนคล้ายคลึงกัน บางเวทีให้มุมมองและวิธีคิดจากต่างสังคมต่างวัฒนธรรม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นพื้นฐานหนักแน่นของเวทีประชุมส่วนใหญ่ก็คือ การเสริมพลังให้ผู้หญิงทั่วโลกสามารถเลือกตัดสินใจในชีวิตและร่างกายของตัวเอง โดยปราศจากความกลัว อคติ การตีตรา และการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติใดๆ

ถึงวันนี้ เวทีประชุม Women Deliver ก็กลายเป็นพื้นที่และเวลาอันมีความหมายที่เหล่านักกิจกรรม คนทำงานด้านสิทธิเด็กและสตรีทั่วโลกต่างรอคอย เพื่อจะได้ใช้เวลา 4-5 วันของทุก 3 ปีนี้ร่วมกันเติมเต็ม ตอกย้ำ และจุดประกายใจให้กับชีวิตที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นต่อไปด้วยพลังอันเต็มเปี่ยม ด้วยความกระจ่างแจ้งในใจว่าการเสริมพลังให้ผู้หญิงเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่กว่าที่เคย
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th