The Prachakorn

ฤา..การอยู่คนเดียวจะสุ่มเสี่ยงต่อความเปราะบาง?


ศุทธิดา ชวนวัน

12 พฤศจิกายน 2562
303



ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ยุค “เกิดน้อย อายุยืน” ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คนหนุ่มสาวอยู่เป็นโสดเพิ่มขึ้น มีการเลื่อนอายุการสมรสออกไปและมีลูกกันน้อยลง ในปี 2562 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุสูงถึงร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด3 การเปลี่ยนแปลงทางประชากรดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวไทยที่มีขนาดลดลง รูปแบบของครอบครัวที่มีความหลากหลายมากขึ้น แนวโน้มที่สูงขึ้นของผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง ต้องห่างไกล จากลูก หลาน และญาติ ทำให้อยู่ในสภาวะที่เปราะบางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

งานวิจัยเรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนซึ่งมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลายในสังคมไทย เพื่อประเมินความเข้มแข็งและความต้องการสนับสนุนของครัวเรือน” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดูแลผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนเปราะบางในรูปแบบการอยู่อาศัยต่างๆ 

ในบทความนี้จะนำเสนอประเด็นหลักที่ได้จากการศึกษา ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว และอาศัยอยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเท่านั้น เพราะจากผลการศึกษาได้ข้อค้นพบว่า ผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะต้องเฝ้าระวังในเรื่องการได้รับการดูแลมากกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่นที่ยังมีลูก หลาน ญาติพี่น้องอาศัยอยู่ด้วย

ในปี 2553 จากทั่วโลก 143 ประเทศ มีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวประมาณร้อยละ 12 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในทวีปยุโรป ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับคู่สมรสเท่านั้นพบสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ สำหรับผู้สูงอายุในทวีปเอเชียและแอฟริกา จะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวและคู่สมรสเท่านั้นอยู่ในสัดส่วนน้อยกว่า แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน1

สำหรับประเทศไทย ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว หรืออยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเท่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในอดีตเมื่อปี 2513 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมีเพียงร้อยละ 3.7 และมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับคู่สมรสเท่านั้นเพียงร้อยละ 6.31 ในปี 2560 ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.4 และร้อยละ 21.5 ในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเท่านั้น4

ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งอยู่ตามลำพังมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุหญิง4 เพราะผู้หญิงมีอายุยืนยาวมากกว่าผู้ชาย ในปี 2562 อายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 60 ปีของผู้หญิงคือ 22.8 ปี และผู้ชาย 17.1 ปี2

ผู้สูงอายุในเขตเมืองอยู่คนเดียว มากกว่าผู้สูงอายุในเขตชนบท ในขณะที่ผู้สูงอายุในเขตชนบท อยู่กับคู่สมรสเท่านั้นมากกว่า การอยู่อาศัยทั้งสองรูปแบบนี้พบมากในผู้สูงอายุในภาคเหนือของประเทศไทย (ร้อยละ 13.5 ในผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว, ร้อยละ 25.9 ในผู้สูงอายุที่อยู่กับคู่สมรสเท่านั้น)4

ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ใกล้ลูก มากกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเท่านั้น4 แม้ว่าผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่น่าเป็นห่วง เพราะต้องอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว แต่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทของความเปราะบางเสมอไปเพราะมีลูกอาศัยอยู่ใกล้ๆ

ผลการศึกษาในเชิงคุณภาพได้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมีความต้องการให้เพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนมาเยี่ยมเยียน พบปะพูดคุยบ้าง เพื่อคลายความเหงาและเพื่อลดความกังวลหากมีปัญหาสุขภาพ หรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นโดยไม่มีใครรู้ ปัญหากลัวตายตามลำพังคนเดียว เป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวโดยไร้ญาติขาดมิตรมีความกังวลใจ จึงมีความต้องการให้มีคนมาช่วยดูแลแวะเวียนทักทายประจำวัน 

งานวิจัยนี้อาจช่วยสะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ไม่ได้เป็นตัวกำหนดทำให้ผู้สูงอายุมีความเปราะบาง แต่จะมีผลมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การมีภาวะเจ็บป่วย ความยากจน ความพิการ ความสัมพันธ์ในครัวเรือน การมีลูกอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ฯลฯ ที่ส่งผลทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเปราะบางได้ รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่มีความเปราะบางในด้านของการดูแลดังเช่นการอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรสเท่านั้น ได้ถูกนิยามไว้เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังว่า ผู้สูงอายุในรูปแบบการอยู่อาศัยดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเป็นกลุ่มเปราะบางเพราะไม่มีผู้ดูแล หรือเป็นหน้าที่ที่ครอบครัวหรือสังคมจะต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถอยู่คนเดียวได้โดยการดูแลตนเองได้เป็นระยะเวลานาน 

 
ภาพโดย: ศุทธิดา ชวนวัน

 

เอกสารอ้างอิง
United Nations, Department of Economic and Social Affairs, PopulationDivision (2018). Database on the Households and Living Arrangements of Older Persons 2018.
2 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม.(2562). สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
3 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2556). การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
4 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2560). การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2560. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ.
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th