The Prachakorn

โครงสร้างอายุเปลี่ยนสังคม


ปราโมทย์ ประสาทกุล

14 พฤศจิกายน 2562
377



ผมแน่ใจว่า เดี๋ยวนี้ใครต่อใครก็ยอมรับกันแล้วว่าสังคมไทยกำลังมีอายุสูงขึ้น ไม่ว่าใครจะเรียกสังคมไทยที่กำลังมีอายุสูงขึ้นในขณะนี้ว่า “สังคมสูงวัย” หรือ “สังคมสูงอายุ” หรืออะไรก็ตาม แต่พวกเราก็จะสังเกตเห็นได้ว่า เดี๋ยวนี้ มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจริงๆ ไม่ว่าเราจะเรียกผู้สูงอายุว่า “ผู้สูงอายุ” “ผู้สูงวัย” “ผู้อาวุโส” “ผู้เฒ่า” “คนชรา” “คนแก่” หรืออะไรก็ตาม เราก็จะเห็นคนที่มีอายุมากๆ เหล่านี้อยู่ทั่วไป ทั้งตามถนนหนทาง พื้นที่สาธารณะ ร้านค้า ศูนย์การค้า หรือแม้กระทั่งในครอบครัวของเรา สังคมไทยมีอายุสูงขึ้นอย่างแน่นอน

เดี๋ยวนี้ คนไทยจะได้รับรู้ข่าวสาร ข้อมูล สถิติตัวเลขต่างๆเกี่ยวกับผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผู้สูงอายุไทยกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ข่าวประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปี สถิติที่แสดงว่าสัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นจนเกือบจะถึง 20% ของประชากรทั้งหมดแล้ว การคาดประมาณว่าแรงงานไทยจะมีจำนวนลดลงในขณะที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 20 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า ข่าวเรื่องการเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ  ข่าวเรื่องการขยายอายุเกษียณให้ยาวนานออกไป และแม้กระทั่งเรื่องผู้สูงอายุได้กลายเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยไปเสียแล้วตั้งแต่ปีกลายนี้

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรครั้งนี้...ยิ่งใหญ่นัก

ความจริงการที่ประชากรมีอายุสูงขึ้นเป็นปรากฏการณ์ปรกติธรรมดาที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศและ “กำลังเกิดขึ้น” ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกในปัจจุบัน ปรากฏการณ์ที่สังคมต่างๆ ทั่วโลกมีอายุสูงขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อผู้คนมีลูกกันน้อยลงพร้อมๆ กับการที่ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้สัดส่วนประชากร วัยเด็กลดต่ำลง และสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มสูงขึ้น ในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเกือบทุกประเทศ “กำลังมีอายุสูงขึ้น” หรือกล่าวได้ว่า ประเทศเหล่านี้เป็น “สังคมที่กำลังสูงวัย” ในขณะเดียวกัน ประชากรในประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศมี “อายุสูงขึ้นมากแล้ว” จนเรียกได้ว่าประเทศเหล่านี้เป็น “สังคมสูงวัย” ไปแล้ว

ปัจจุบันนี้ มีคนอยู่ทั่วทั้งโลกประมาณ 7,700 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 1,000 ล้านคน เสียดายที่ผมไม่ได้ทำงานกับกองประชากร ของสหประชาชาติ ไม่เช่นนั้นผมจะเอาผลการคาดประมาณประชากรของสหประชาชาตินี่แหละมาแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า “ราวเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ผู้สูงอายุในโลกของเราจะมีจำนวนครบหนึ่งพันล้านคน” แล้วจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของการสูงวัยของประชากร

ในโลกของเราทุกวันนี้ ทุกทวีป ยกเว้นแอฟริกาได้กลายเป็นสังคมสูงวัยกันหมดแล้ว โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงกว่า 10% ของประชากรโลกทั้งหมด ยุโรปมีอัตราผู้สูงอายุสูงที่สุด หนึ่งในสี่ของประชากร ยุโรปเป็นผู้สูงอายุ แอฟริกาเป็นทวีปที่ประชากรมีอายุน้อยที่สุด โดยมีผู้สูงอายุไม่ถึง 5% แต่มีสัดส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีสูงถึงเกือบ 40%

ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 10 ประเทศได้รวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ปีนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ หรือครึ่งหนึ่งได้กลายเป็นสังคมสูงวัยไปแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และเมียนมา สำหรับ สิงคโปร์ ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงกว่า 20% จึงเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ก็ไม่ได้ทิ้งห่างจากเรามากนัก ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ รัฐบาลไทยได้หยิบยกเอาการสูงวัยของประชากรมาเป็นประเด็นสำคัญ โดยเสนอให้จัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม ที่เรียกว่า ASEAN Center for Active Ageing and Innovation เพื่อรองรับสถานการณ์การสูงวัยของประชากรในภูมิภาคนี้ !!!

โครงสร้างอายุของประชากรเปลี่ยนโลก (Disruptive population age structure)

มาถึงวันนี้ เราเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ได้เปลี่ยนสังคมของมนุษยชาติอย่างสิ้นเชิง โครงสร้างอายุได้เปลี่ยนประชากรจากที่เคยมีอายุน้อยเป็นประชากรอายุมาก พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive technology) สังคมมนุษย์ก็แทบไม่เหลือร่องรอยเดิมอีกต่อไปแล้ว
 

ภาพจาก: https://pixabay.com/th/photos/

ดูประเทศไทยเป็นตัวอย่าง ในรอบ 50-60 ปีที่ผ่านมานี้ สังคมไทยได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ วันนี้ ผมมีอายุมากกว่า 70 ปี ผมอยู่มานานพอที่จะได้เห็นภาพจริงของสังคมเมื่อ 50-60 ปีก่อน

เมื่อ 60 ปีก่อน ประเทศไทยมีคนอยู่ราว 26 ล้านคน เดี๋ยวนี้ ประชากรไทยเพิ่มจำนวนเป็นประมาณ 66 ล้านคน ขนาดประชากรขยายใหญ่ขึ้น 2 เท่าครึ่ง ที่น่าสนใจคือ โครงสร้างอายุของประชากรได้เปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือรูปเดิม เมื่อก่อน ประเทศไทยมีเด็กมาก ผู้เฒ่าผู้แก่มีน้อย เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี คิดเป็นอัตราส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ผู้สูงอายุมีอยู่ไม่ถึง 5% แต่ทุกวันนี้ เด็กกำลังจะมีจำนวนน้อยกว่าผู้สูงอายุเสียแล้ว จำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากไม่ถึงล้านคนเมื่อ 60 ปีก่อนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 12 ล้านคนในปัจจุบัน

ลองนึกถึงภาพที่เปลี่ยนไปนะครับ เมื่อก่อน ถ้าเราเข้าไปในหมู่บ้านหรือชุมชน เราจะเห็นเด็กๆ อยู่ทั่วไป ทั้งเด็กเล็ก เด็กใหญ่ เราอาจได้ยินเสียงทารกร้องจากที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง ผมรับรองได้ว่าภาพเด็กๆ เกลื่อนไปเช่นนั้นยากที่จะพบเห็นได้อีกแล้ว ในสังคมไทยปัจจุบัน เดี๋ยวนี้ ในหมู่บ้านหรือชุมชน เราจะเห็นแต่ผู้สูงอายุอยู่ทั่วไป

เมื่อก่อน คนอายุ 60 ปีต้นๆ ก็เรียกว่าเป็นผู้สูงอายุได้อย่างเต็มปากเต็มคำ.แล้ว เมื่อผมยังเป็นเด็ก ปู่ย่าตายายที่อายุแค่ 70 ปีก็ดูแก่จริงๆ เมื่อก่อนคนอายุ 80 ปีขึ้นไปเป็นทวดเทียดคนได้อย่างสบายๆ คนที่อายุถึง 70-80 ปีส่วนมากก็อยู่กับบ้านแล้ว ไม่เหมือนคนสมัยนี้ ผู้สูงอายุวัยต้น อายุ 60-70 ปีกว่าๆ ส่วนใหญ่ยังดูเป็นหนุ่มเป็นสาว คนอายุ 70 ปีกว่า ส่วนใหญ่ก็ยังดูไม่แก่ ยิ่งสมัยนี้ ผู้คนแต่งตัวกันเหมือนไม่มีวัย เราจึงเห็นผู้คนอายุมากๆ เดินขวักไขว่อยู่ตามพื้นที่สาธารณะ ดูไม่ออกว่าอายุเท่าไรกันแน่

เมื่อก่อน ครอบครัวไทยมีขนาดเฉลี่ย 5-6 คน แต่เดี๋ยวนี้ ขนาดครัวเรือนเฉลี่ยเล็กลงเหลือเพียง 3 คนเท่านั้น แต่ที่เปลี่ยนไปอย่างมากก็ตรงที่ เมื่อก่อนครัวเรือนที่มีคนอาศัยอยู่คนเดียวหาได้ยากมาก แต่เดี๋ยวนี้...ครัวเรือน ที่มีคนอยู่ตามลำ.พังคนเดียวมีอยู่เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม มีคนรุ่นใหม่ในเมืองจำนวนมากที่เลือกที่จะอยู่คนเดียวในอะพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียม เมื่อก่อนการที่ผู้สูงอายุจะอยู่ตามลำพังคนเดียวเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ จะมีคำถามว่า เมื่ออายุมากแล้วอยู่คนเดียวเจ็บป่วยเป็นอะไรขึ้นมา แล้วใครจะมาช่วย แต่เดี๋ยวนี้มีผู้สูงอายุมากถึง กว่า 10% ที่อยู่ตามลำพังคนเดียว

โครงสร้างอายุของประชากรที่เปลี่ยนรูปไปอย่างมากในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ ประกอบกับเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าไปแบบก้าวกระโดดได้เปลี่ยนสังคมและวิถีชีวิตของคนไทยไปจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้เห็น

 
ภาพจาก: https://www.thaihealth.or.th/Content/36740

ผมสงสัยว่า ความคิดเก่าๆ วิธีการแบบเดิมๆ จะตามทันการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโลกที่เกิดขึ้นนี้ได้หรือไม่ ผมคิดว่าเราอาจต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่าที่มีความคิดและและมุมมองใหม่เกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์การสูงวัยของประชากรในวันนี้และวันหน้า
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th