The Prachakorn

ไทยขึ้นแท่นตลาดการศึกษานานาชาติ


สักกรินทร์ นิยมศิลป์

12 ธันวาคม 2562
275



นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา นักศึกษาไทยจำนวนมากได้มุ่งไปศึกษายังต่างประเทศ เพื่อศึกษาเรียนรู้วิทยาการต่างๆ รวมทั้งหาประสบการณ์การทำงานในต่างแดน โดยประเทศปลายทางหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยในปี 2016 จำนวนนักศึกษาไทยที่ไปสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรมีจำนวนใกล้เคียงกันคือ 7,052 คน และ 6,246 คนตามลำดับ ตามด้วยออสเตรเลีย 4,751 คน และญี่ปุ่น 2,256 คน1

 
ที่มา: https://sites.google.com/site/epnr2012/prakas/karrabnakreiyntangchati

ในทางตรงกันข้าม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เติบโตขึ้นมาเป็นตลาดการศึกษานานาชาติขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน จะเป็นรองก็เพียงมาเลเซียและสิงคโปร์เท่านั้น โดยในปี 2556 ไทยมีนักศึกษานานาชาติในระบบอุดมศึกษา จำนวน 13,994 คน โดยส่วนใหญ่มาจากจีน (9,329 คน) ลาว (1,311 คน) เมียนมา (1,310 คน) เวียดนาม (1,100 คน) และกัมพูชา (944 คน)2 ส่วนในปัจจุบัน มีการประเมินว่าประเทศไทยมีนักศึกษาต่างชาติในระดับอุดมศึกษาทั้งสิ้นมากกว่า 30,000 คนเลยทีเดียว3 ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเป็นเมืองหลักหนึ่งในห้าของเอเชียสำหรับการส่งบุตรหลานมาเรียนในโรงเรียนนานาชาติในระดับประถมและมัธยม เช่นเดียวกับมหานครปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โตเกียว และดูไบ โดยไทยมีโรงเรียนนานาชาติกว่า 200 แห่ง จำนวนนักเรียนรวมกันกว่า 70,000 คน โดยร้อยละ 54 เป็นนักเรียนต่างชาติจาก จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และชาติตะวันตก4

ปัจจัยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ

ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตของการศึกษานานาชาติในไทย คือนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วยแนวทางต่างๆ อาทิ พัฒนาทักษะด้านภาษาและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน อำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับบุคลากรด้านการศึกษาและนักเรียนนักศึกษาต่างชาติ พัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการศึกษาให้นักศึกษาไทยและอาเซียนสามารถโอนเครดิตระหว่างกันได้ และอำนวยความสะดวกในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในอาเซียน เป็นต้น5 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งส่งออกการศึกษา โดยแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2559-2564 มุ่งผลักดันบริการการศึกษานานาชาติที่มีมูลค่าตลาดรวมกันกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ทั้งที่เป็นหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรวิชาชีพ หลักสูตรในระดับมัธยมศึกษาและในระดับอุดมศึกษา เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ6

นอกเหนือจากนโยบายของรัฐแล้ว การขยายตัวของอุปทานหรือสถาบันการศึกษาและหลักสูตรนานาชาติในระดับต่างๆ ก็เป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญให้เกิดการเติบโตของตลาดการศึกษานานาชาติในไทย โดยสถาบันอุดมศึกษาของไทยเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากจำนวนเพียงสิบกว่าแห่งเมื่อสี่ทศวรรษก่อนเป็น 156 แห่ง ในปัจจุบัน แต่ปัจจุบัน นักศึกษาไทยเริ่มมีจำนวนลดลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป สวนทางกับสถานศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายสถาบันมุ่งพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ เพื่อดึงดูดให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนเพิ่มขึ้น ทดแทนจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง ทำให้ปัจจุบัน สถาบันอุดมศึกษาของไทยมีหลักสูตรนานาชาติรวมกันถึงประมาณหนึ่งพันหลักสูตร นอกจากนี้ หลายสถาบันยังขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดทำหลักสูตรร่วมกัน จัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา หรือบุคลากรด้านการศึกษา เป็นต้น เพื่อเป็นจุดขายในการดึงดูดนักศึกษานานาชาติ ต่อมาในปี 2017ทางการไทยได้ผ่อนปรนนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของต่างประเทศสามารถมาเปิดแคมปัสในไทยได้ เพื่อผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม 4.0 อีกทั้งส่งเสริมการศึกษานานาชาติในไทยด้วย7

นักศึกษาจีนพาเหรดมาไทย

ในด้านอุปสงค์ นักศึกษาต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดคือนักศึกษาจีนโดยในปี 2015 จำนวนนักศึกษาจีนในสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีจำนวน 6,157 คน8 โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การศึกษาในไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการทำการตลาดอย่างจริงจังของหลายสถานศึกษา โดยมีการจัดตั้งเอเยนซี่เพื่อแนะแนวการศึกษาและประชาสัมพันธ์หลักสูตรต่างๆ นอกจากนี้ หลายสถาบันการศึกษายังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน ทั้งในรูปแบบโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนและให้ทุนนักศึกษาอีกด้วย โดยหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติเป็นเป้าหมายหลักของนักศึกษาจีน นอกจากนี้ ยังมีบุคลากรด้านการศึกษาของจีนที่ต้องการมาเรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในไทยเพื่อปรับวุฒิการศึกษาด้วย

ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาของไทยที่เป็นที่นิยมของนักศึกษาจีนเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่มหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยรังสิต โดยมหาวิทยาลัยเกริกได้ขายหุ้นบางส่วนให้กับนักลงทุนจีน ทำให้มีการมุ่งตลาดนักศึกษาจีนอย่างจริงจัง สำหรับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ก็ได้จัดทำหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์นักศึกษาจีนที่เน้นทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ส่วนมหาวิทยาลัยรังสิตก็ได้จัดทำความร่วมมือกับหลายมหาวิทยาลัยในจีน เช่น มหาวิทยาลัยกุ้ยโจวและมหาวิทยาลัยกวางสี เป็นต้น9


ที่มา: https://www.wegointer.com/

สรุป

ประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมเป็นจุดหมายปลายทางของนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย โดยนักศึกษาจากจีนมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม หัวใจที่สำคัญของการเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ คือคุณภาพของการศึกษา การกำกับดูแลสถานศึกษาและหลักสูตรต่างๆ ของภาครัฐ ให้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณ เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการวิจัยในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง


สืบค้นจาก https://wenr.wes.org/2018/02/education-in-thailand-2, วันที่ 18 พ.ย. 2562
สืบค้นจาก https://esa.un.org/miggmgprofiles/indicators/files/Thailand.pdf, วันที่ 18 พ.ย. 2562
สืบค้นจาก https://www.thephuketnews.com/the-dark-underworld-of-thailand-foreign-university-students-69199.php#3m5LhMvHMMRml5Ri.97, วันที่ 18 พ.ย. 2562
สืบค้นจาก https://www.tieonline.com/article/2538/developments-in-thailand-and-malaysia-in-the-is-market, วันที่ 18 พ.ย. 2562 
สืบค้นจาก https://www.qaa.ac.uk/docs/qaa/international/country-report-thailand-2019.pdf?sfvrsn=ab3fc081_6, วันที่ 18 พ.ย. 2562
สุรีย์พร พันพึ่งและสักกรินทร์ นิยมศิลป์. (2562) รายงานวิจัยเพื่อ สกสว. เรื่อง การย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะในประเทศไทย: แนวโน้มและการปรับตัวในยุคอุตสาหกรรม 4.0. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม
สืบค้นจาก https://www.qaa.ac.uk/docs/qaa/international/country-report-thailand-2019.pdf?sfvrsn=ab3fc081_6, วันที่ 18 พ.ย. 2562
สืบค้นจาก https://www.universityworldnews.com/post.php?story=20181116134327618, วันที่ 18 พ.ย. 2562
สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/education/news-328362, วันที่ 18 พ.ย. 2562


 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th