The Prachakorn

“พ่อ” นั้นสำคัญไฉน ไม่ว่าโลกจะหมุนหรือหยุดหมุน


วรรณี หุตะแพทย์

26 ธันวาคม 2562
286



“พ่อ” มีบทบาทสำคัญยิ่งใหญ่ในครอบครัว มีงานวิจัยหลากหลายชี้ว่า “พ่อ” ที่มีส่วนร่วม ให้ความใกล้ชิด ให้เวลา แสดงให้ “ลูก” รู้สึกและเห็นถึง ความรัก ที่ผูกพันอย่างลึกซึ้งจากหัวใจ จะส่งผลสนับสนุนและส่งเสริมให้ “ลูก” เติบโตเป็น คนที่มีสุขภาวะทางกายมั่นคง สามารถใช้ความสามารถ ทักษะ และ พลังบวก ดำรงชีวิตของตนเองและอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและปกติสุข

ประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ความเป็นพ่อ”

“พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ไม่มากเมื่อเทียบกับการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ขณะที่ในสังคมตะวันตก เริ่มใส่ใจและศึกษาเรื่องนี้กันหลากหลายยิ่งขึ้น มีรายงานล่าสุดพบว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กอเมริกัน อยู่กับ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ขณะที่ร้อยละ 35 ของเด็กกลุ่มนี้ ไม่เคยเห็นพ่อของตนเองเลย ในขณะเดียวกัน ร้อยละ 24 เจอพ่อน้อยกว่าเดือนละครั้ง การวิจัยนี้ ยังรายงานต่อด้วยว่า กรณี ครอบครัวที่มี “พ่อ” อยู่ด้วยกัน พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ในแต่ละวันที่อยู่ด้วยกัน พ่อใช้เวลาอยู่กับลูกแบบใกล้ชิดไม่ถึง10 นาที งานวิจัยนี้ ยังรายงานว่า แม้ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” หรือ “แม่ในครอบครัวสมบูรณ์” จะดูแลให้เวลาและปกป้องลูกอย่างเต็มที่ แต่หาก “พ่อ” ไม่ร่วมมือ หรือไม่ทำงานเป็นทีม ในการให้เวลา ให้ความใกล้ชิด และให้หัวใจกับ “ลูก” จะเป็นผลร้ายต่อการเติบโตของ “ลูก” ที่ต้องใช้ชีวิตต่อสู้กับโลกที่หมุนไปข้างหน้าตลอดเวลา

Photo by Dominika Roseclay from Pexels

งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจข้อมูลเมื่อปี 2562 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนทำงานในองค์กรทั้งหมดจำนวน 12,436 ราย ใน 104 องค์กรทั่วประเทศ พบว่า เพศชายที่มีสถานภาพสมรสทั้งมีลูกและไม่มีลูก มีจำนวน 3,008 ราย เมื่อแยกเป็น กลุ่ม “พ่อ” 3 รุ่น (Gen Baby Boomers: BB, Gen X และ Gen Y) เพื่อค้นหาความอบอุ่น และความเข้มแข็งของครอบครัว ในประชากรกลุ่มนี้ พบว่า พ่อ Gen BB ที่มีลูก มีค่าคะแนนรวมทั้งความอบอุ่นและความเข้มแข็งในครอบครัวสูงกว่าในสัดส่วนมากกว่าพ่อ Gen BB ไม่มีลูก ขณะที่ ทั้งพ่อ Gen X และ Gen Y แสดงผลตรงกันข้าม กล่าวคือ ทั้ง พ่อ Gen X และ Gen Y ที่ไม่มีลูก มีค่าคะแนนรวม ครอบครัวอบอุ่น และครอบครัวเข้มแข็งต่ำ.กว่า พ่อ Gen BB

สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่องานวิจัยลงลึกในสัมพันธภาพ ของ ครอบครัวอบอุ่น เน้นไปที่ สมาชิกในครอบครัวมีการแสดงออกที่สื่อถึงความรักความเอาใจใส่ในชีวิตประจำวันซึ่งกันและกัน และมีการสื่อสารพูดคุยกันอย่างเปิดเผย รวมถึงมีการใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน พ่อทุก Gen ทั้งมีลูกและไม่มีลูก สะท้อนออกมาด้วยค่าคะแนนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่มีความแตกต่างได้ชัดเจน กับพ่อทั้งหมดที่สะท้อนในภาพรวม

ผลวิจัยของโครงการนี้ แสดงให้เห็นในระดับหนึ่งว่า การปฏิบัติตัวของ “พ่อ” กับคนที่ยังไม่เข้าสู่การเป็น “พ่อ” มีการปฏิบัติกับสมาชิกในครอบครัวในเรื่องการมีส่วนร่วม การสื่อสาร การเอาใจใส่ซึ่งกันและกันไม่แตกต่างกัน ประเด็นนี้ นับเป็นโจทย์ใหญ่ สำหรับการพัฒนาสร้างเสริม “ครอบครัวอบอุ่น” และ “ครอบครัวมีสุข” ในสังคมไทย ความสำคัญ ตัวตน และการปฏิบัติ ของความเป็น “พ่อ” กับ “สมาชิกในครอบครัว” ที่อยู่ร่วมกัน จำต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้หมายถึง “พ่อ” คนเดียว สมาชิกในครอบครัว ต้องร่วมมือร่วมใจกัน

โลกจะหมุนหรือหยุดหมุน ครอบครัว ก็ต้องดำเนินไปตามวัฏจักรภายใต้ระบบนิเวศน์ของครอบครัว “พ่อ” ก็ยังคงความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งของการนำครอบครัว ประเด็นสำคัญ หากครอบครัวใดมี “ลูกชาย” และ พ่อ-ลูก อยู่กันด้วยความห่างเหิน ไร้ตัวตน “ลูกชาย” ไม่สามารถซึมซับได้ว่า “พ่อ” ของเขาเป็นใคร ไม่สามารถเข้าถึงพ่อได้เมื่อยามต้องการ โตมาโดยไม่มีการเรียนรู้ว่าบทบาทและความสำคัญของ “ผู้ชาย” มีความหมายอย่างไรต่อครอบครัว สถานการณ์เยี่ยงนี้ คือ หายนะที่ยิ่งใหญ่ของ “ลูกชาย” ที่จะเติบใหญ่ไปเป็นพลเมืองคนหนึ่งในสังคมนั้นๆ ซึ่งผลกระทบความเสียหายท้ายสุด ก็จะส่งต่อสังคมและประเทศชาติในวงกว้าง

ความสำคัญของ “พ่อ” จะอยู่ได้ สมาชิกในครอบครัว ต้องให้ความสำคัญ กับ “พ่อ” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

รูป 1    ค่าเฉลี่ยคะแนนดัชนีความอบอุ่นและความเข้มแข็งในครอบครัวของพ่อมีบุตรกับไม่มีบุตร

รูป 2 ค่าเฉลี่ยคะแนนสัมพันธภาพในครอบครัวของพ่อมีบุตรกับไม่มีบุตร

ที่มา:    โครงการการพัฒนาสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th