The Prachakorn

จะดีไหม...ถ้าผู้ชายได้วันลามาเลี้ยงลูกบ้าง


มนสิการ กาญจนะจิตรา

31 ธันวาคม 2562
254



หากพูดถึงการเลี้ยงลูก คนส่วนใหญ่มักต้องนึกถึงผู้หญิงเป็นหลัก บทบาทของแม่ในการเลี้ยงลูก ใครๆ ก็รู้ว่าสำคัญ เพราะแม่เป็นตั้งแต่คนอุ้มท้อง คนคลอด และคนให้นม เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการกำหนดวันลาคลอดให้กับแม่ สั้นบ้าง ยาวบ้าง แล้วแต่บริบทของแต่ละประเทศ แต่สำหรับพ่อนี่สิ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่จะมีสวัสดิการให้พ่อได้ลามาเลี้ยงลูก ทั้งๆ ที่บทบาทของพ่อก็สำคัญไม่แพ้กัน วันนี้จึงอยากขอยกตัวอย่างงานวิจัยในต่างประเทศ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การมีวันลาให้พ่อนั้นดีอย่างไร

ดีต่อแม่

การที่พ่อได้วันลามาช่วยเลี้ยงลูกนั้นดีต่อแม่แน่นอน เพราะจะช่วยแบ่งเบาแม่ได้มาก เคยอ่านบทความของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ท่านเขียนไว้ได้ถูกใจมากว่าหน้าที่ของพ่อที่สำคัญที่สุด คือ “หารสองทุกงานที่แม่ทำ” โดยทำแบบ “ไม่ต้องคิด ไม่ต้องถาม คอยหารสองก็พอ” แปลว่า บทบาทของพ่อก็คือบทบาทของแม่ ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าช่วยกันหารสอง แม่ย่อมเหนื่อยน้อยลงแน่นอน นอกจากนี้ ผู้หญิงหลายคนมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ด้วยการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด และความรู้สึกกังวลต่างๆ ที่ถาโถมมากับการเป็นแม่มือใหม่ ซึ่งงานวิจัยพบว่าการที่พ่อมีส่วนร่วมในการช่วยเลี้ยงลูก ช่วยลดความรุนแรงของอาการซึมเศร้าหลังคลอดของแม่ได้1 

นอกจากนี้ การมีวันลาให้พ่อยังช่วยในเรื่องความก้าวหน้าทางการงานของแม่ได้อีกด้วย งานวิจัยในประเทศสเปน พบว่าการที่พ่อลามาช่วยเลี้ยงลูก ช่วยเพิ่มโอกาสในการกลับเข้าทำงานของแม่ได้ถึงร้อยละ 112 ส่งผลให้แม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศในสังคมอีกด้วย

ดีต่อลูก

การมีส่วนร่วมของพ่อในการเลี้ยงลูกตั้งแต่แรกเกิด ส่งผลดีต่อลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว งานศึกษาในสวีเดนพบว่า การที่พ่อได้ใช้วันลาเพื่อเลี้ยงลูก ทำให้พ่อได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกในช่วงปีแรกมากขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสลูกได้กินนมแม่ครบ 6 เดือนตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ3 ผลจากงานวิจัยนี้น่าสนใจทีเดียว เพราะชี้ให้เห็นว่าการกินนมแม่ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่กับแม่เท่านั้น แต่เกี่ยวกับคนรอบตัวแม่ด้วย งานศึกษานี้อธิบายว่า การมีคนคอยสนับสนุนและให้กำ.ลังใจแม่ เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มโอกาสการให้นมแม่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งคนที่จะใกล้ชิดแม่มากที่สุดก็คือพ่อนั่นเอง

ดีต่อครอบครัว

งานศึกษาในประเทศนอร์เวย์พบว่า การอนุญาตให้พ่อลาเลี้ยงลูกได้ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น4 โดยพบว่าในครอบครัวจะมีความขัดแย้งลดลงถึงร้อยละ 11 และเพิ่มโอกาสที่จะแบ่งงานบ้านอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้นถึงร้อยละ 50 จะเห็นได้ว่า การที่พ่อมีโอกาสอยู่บ้านเลี้ยงลูกมากขึ้น ส่งผลไปยังการแบ่งงานอื่นๆ ในบ้านอีกด้วย 

ฟังอย่างนี้แล้ว เห็นประโยชน์ของวันลาของพ่อหรือยังคะสำหรับประเทศไทย จริงๆ เริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องนี้อยู่บ้าง เห็นได้จากที่ภาครัฐอนุญาตให้ข้าราชการชายสามารถลาติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ เพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูลูกหลังคลอดตามประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาปี 2555 จากก้าวแรกนี้ ควรดำเนินการต่อโดยขยายสิทธิให้ครอบคลุมคนในวงกว้างมากขึ้นเพิ่มวันลาให้นานขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้น อาจเป็นรูปแบบคล้ายๆ กับโควตาวันลาของพ่อในต่างประเทศ เช่น สมมติพ่อมีโควตาวันลาเลี้ยงลูก 30 วัน พ่อสามารถเลือกลาเมื่อไหร่ก็ได้ภายใน 1 ปีแรกหลังลูกคลอดตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดให้ลาติดต่อกันไปเลยทีเดียว 

ทุกวันนี้ ผู้หญิงและผู้ชายมีบทบาทในตลาดแรงงานไม่แตกต่างกันมากแล้ว การมีนโยบายให้พ่อลาเลี้ยงลูกจะเป็นก้าวสำคัญในการช่วยลดความแตกต่างของบทบาทชายหญิงในบ้านด้วย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

ภาพโดย: เกียรตินิยม ขันตี 5


Sejourne, Beaume, Vaslot, and Chabrol (2012)
Farre and Gonzalez (2017)
Flacking, Dykes, and Evald (2010)
Kotsadam and Finseraas (2011)
ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพให้เผยแพร่ได้


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th