The Prachakorn

Work From Home (WFH)


ดนุสรณ์ โพธารินทร์

21 เมษายน 2563
330



เอกสารกองโต ตรงหน้า กับงานที่ต้องเคลียร์ให้เสร็จ ช่วงกักตัวจากโรคระบาด COVID-19 มีงานเพิ่มกว่าเดิมหลายเท่า ใครเป็นแบบนี้บ้าง ? ประชุมงานและเรียนผ่านโปรแกรมออนไลน์ การทำงานแบบไม่มีเวลาหยุด อีกทั้งร้านอาหารร้านเดิมที่เคยฝากท้องปิดตัวลงชั่วคราวเนื่องจากการระบาดของ Covid-19 ร้านที่เปิดจะให้บริการแบบซื้ออาหารกลับมาทานที่บ้าน (take home) สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้เขียนชีวิตพอสมควร

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในจังหวัดปริมณฑล เป็นนักศึกษาปริญญาเอกและทำงานบางช่วงเวลาเป็นนักวิจัยโครงการ และมีธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ โดยปรกติจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเรียน และการทำงาน ส่วนเวลาสำหรับสังสรรค์กับหมู่เพื่อนจึงมีไม่มากนัก จังหวัดที่อาศัยอยู่เป็นจังหวัดแรก ๆ ที่พบผู้ป่วยด้วยโรคระบาดนี้ แต่เพราะมีการระบาดอย่างต่อเนื่องทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) จำกัดช่วงเวลาในการออกเดินทาง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เพราะโรคนี้ติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกายเช่น น้ำลาย น้ำมูก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนและทำงานที่บ้านแทนการออกไปเข้าชั้นเรียนและเข้าไปนั่งทำงานในมหาวิทยาลัย

Work From Home (WFH) เป็นรูปแบบการทำงานยุคใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาในยุคนี้ เพื่อให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกันสะดวกและรวดเร็ว1 ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้โปรแกรมออนไลน์สำหรับการประชุมซึ่งแต่ละโปรแกรมนั้นก็จะมีความแตกต่างของตัวโปรแกรมไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ทำให้เกิดสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารเมื่อต้องทำงานอยู่ที่บ้าน แต่จริง ๆ แล้วการเรียนหรือทำงานผ่านโปรแกรมออนไลน์นั้นยังมีปัญหาอยู่บ้างขึ้นอยู่กับความเสถียรของสัญญาณอินเทอร์เน็ต หากไฟฟ้าดับก็ไม่สามารถใช้โปรแกรมได้ การประชุมที่สะดวก นัดหมายได้ทุกที่ทุกเวลาเพราะทุกคนไม่สามารถออกไปไหนได้ ทำให้มักจะนัดประชุมออนไลน์อยู่บ่อยครั้งและใช้เวลาในการเรียนหรือการประชุมงานเกินเวลานัดหมายเสมอ แต่อย่างน้อยการมีประชุมออนไลน์นี้ก็มีด้านดี เพราะเราสามารถทำงานกับทีมงานได้ตลอดเวลา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที 

ชั้นวางสินค้าอันโล่งเตียน 

ในช่วงแรกของการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ประชาชนส่วนใหญ่เตรียมพร้อมในการกักตัวอยู่บ้านโดยการซื้ออาหาร เช่นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง เพื่อเตรียมพร้อมในการกักตัวอยู่บ้าน ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินเข้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อเดินเข้าภายในตัวอาคารก็ได้พบคนยืนต่อแถวตามระยะห่างที่ทางเจ้าหน้าทำจุดสำหรับยืนต่อแถวเพื่อวัดไข้และมีเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างทำความสะอาดมือ และมีป้ายปิดประกาศว่า “กรุณาสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้าใช้บริการ” ผู้เขียนรู้สึกอุ่นใจกับภาพที่เห็น รู้สึกปลอดภัยได้ในระดับหนึ่งเพราะมีการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ เมื่อผ่านจุดคัดกรองเข้ามาเพื่อเลือกซื้อสินค้า ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าในรถเข็นทุก ๆ คันจะมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ไข่ และปลากระป๋อง เมื่อผู้เขียนเดินไปยังชั้นวางสินค้าดังกล่าวก็พบว่า ชั้นวางสินค้าโล่ง ไม่เหลือสินค้าเลย จึงได้ถามพนักงานและได้รับคำตอบกลับมาว่า

 “สินค้าหมดค่ะ...ลูกค้า ” 

ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์ 15 มีนาคม 2563

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

ในขณะกักตัว WFH ผู้เขียนมักใช้บริการส่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ทั้ง Line man และ Food panda บทความหนึ่งเผยแพร่ว่าผู้ส่งสินค้ามีรายได้สูงถึง 50,000 บาท จากการส่งสินค้าในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาหลังจากมีมาตรการ WFH  ผู้เขียนจึงได้ลองสอบถามพนักงานที่มาส่งอาหารถึงค่าตอบแทนที่ได้รับ และชั่วโมงการทำงานที่ทำ พนักงานกล่าวว่า

“รายได้ดีกว่าตอนทำงานประจำอีกครับ รู้อย่างนี้มาทำงานนี้นานแล้ว”  

ที่มา: Sarun Roj 

การกักตัวอยู่บ้าน WFH ทำให้ผู้เขียนได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง ใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนลดลง อ่านหนังสือ บทความต่าง ๆ แต่ความคิดถึงผู้มีพระคุณซึ่งอยู่ต่างจังหวัดมีมากขึ้น และมากขึ้นทุกวัน ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มระบาดของ Covid-19 ก็ไม่มีโอกาสได้พบหน้า ทำได้เพียงคุยไถ่ถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น 

“สบายดีไหมลูก ?......กินข้าวหรือยัง ?” เสียงคุ้นชินที่แสนอบอุ่นจากปลายสาย

“สบายดีครับแม่  กินข้าวแล้วครับ” ผู้เขียนตอบด้วยน้ำเสียงปกติ แต่ในใจยังคงคิดถึงอ้อมกอดอันอบอุ่นของแม่จับใจ

การกักตัวอยู่บ้าน Work from home อาจทำให้ใครหลาย ๆ คนมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เห็นได้จากเมื่อเปิดเข้าดูหน้า Facebook หรือ Instagram พบคลิปวีดีโอ บทความ ข้อความ เกี่ยวกับเหตุการณ์การกักตัวทำงานอยู่บ้าน ซึ่งไม่เคยเห็นมุมนั้นของเขาเลย เช่น บางคนมีฝีมือในการทำอาหารหรือขนม บางคนมีสัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก ซึ่งทำให้ผู้เขียนยิ้มไปกับสิ่งที่เห็น

ผู้เขียนมีความคิดหนึ่งว่า ในอนาคตเมื่อเหตุการณ์การระบาดของ COVID-19 สิ้นสุดลง ประเทศไทยคงจะมีการปรับรูปแบบการทำงานของประเทศไทยเป็นแน่ ซึ่งการทำงานที่บ้านอาจได้ผลงานและมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำงานในที่ทำงาน อีกทั้งได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็เป็นได้
                                    
 


อ้างอิง

  • กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (2563). Work From Home คืออะไร ช่วยให้รอดจาก โควิด-19 ได้อย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563, จากเว็บไซต์ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872368  
  • ไทยรัฐออนไลน์ . (2563). ผวาโควิด-19 ระบาดหนัก คนแห่เข้าห้างตุนสินค้า ถึงขนาดรถเข็นไม่พอ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563, จากเว็บไซต์ https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1795696.
  • Sarun Roj. (2020). BRANDING BUSINESS EDITOR’S PICS HIGHLIGHT. Retrived Apirl 20, 2020, from https://www.thumbsup.in.th/food-delivery-grab-lineman-foodpanda-get.
     

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th