The Prachakorn

มีลูก ไม่มีลูก: ครอบครัววิถีใหม่พร้อมหรือไม่ เมื่อเจอภัยโควิด-19


กัญญาพัชร สุทธิเกษม

16 กรกฎาคม 2563
837



โครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขเพื่อคนทำงานองค์กร

ความมั่นคงทางการเงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความพร้อมในการเผชิญวิกฤต ซึ่งเห็นได้ชัดในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น การเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงความพร้อมในด้านอื่น ๆ เช่น ความพร้อมด้านจิตใจ ด้านการรู้จักและเข้าใจตนเอง ด้านความมีสติ (รู้คุณค่าและความสามารถของตนเอง) ด้านการมีทัศนคติที่ดี และด้านความเข้าใจสัมพันธภาพที่มีต่อบุคคลอื่น ตลอดจนด้านการรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ 

ตามมาตรการรักษาความปลอดภัยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สมาชิกของทุกครอบครัวต้องหยุดอยู่บ้าน ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ตามปกติ เช่น ค่าผ่อนชำระหนี้สินต่าง ๆ อาทิ บ้าน รถยนต์ ฯลฯ ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายการบริโภคในครัวเรือน ค่าอินเทอร์เน็ต ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็กและ/หรือดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน บางคนตกงานหรือถูกเลิกจ้างทำให้รายได้ลดลง ส่งผลต่อภาระความพร้อมในการเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสมาชิกในครอบครัวขาดความเอื้ออาทรช่วยเหลือกัน ขาดการรู้จักหน้าที่ ขาดการสื่อสารที่ดีต่อกัน และขาดการวางแผนร่วมกัน ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญที่จะทำให้ครอบครัวมีความพร้อม และสามารถปรับตัวในภาวะวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างปลอดภัย

ความพร้อมของสมาชิกในครอบครัวจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการสู้ภัยโควิด-19 จากการสำรวจ “ครอบครัวมีสุข” คนทำงานองค์กร โครงการการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นและมีสุขของคนทำงานองค์กรในประเทศไทย ดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า โครงสร้างครอบครัวในสังคมไทย ในศตวรรษนี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยโครงสร้างครอบครัวในปัจจุบัน เน้นเชิงความรู้สึกทางจิตใจมากกว่าเชิงกายภาพ พูดง่าย ๆ คือ ครอบครัววิถีใหม่ที่ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน หรือต้องทำกิจกรรมร่วมกันตลอดเวลา ขอเพียงสมาชิกมีการสื่อสารกัน มีความสนิทสนมทางใจ มีการติดต่อไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ทั้งทางตรง คือ ไปพบเจอกัน หรือทางอ้อม คือ การสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยความรัก ความผูกพัน ความเอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเคารพนับถือ ความสนิทสนม ความห่วงใย และการเป็นที่ปรึกษาได้ทุกเรื่อง

นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ยังได้สำรวจออนไลน์สถานการณ์เร่งด่วน เพื่อประเมินผลกระทบสถานการณ์ โควิด-19 ต่อครอบครัวคนทำงานในองค์กร จำนวน 3,310 คน จาก 73 องค์กรทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 22 พฤษภาคม 2563 โดยพบว่า ครอบครัววิถีใหม่ยังคงมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายมากที่สุด (ร้อยละ 50.5) รองลงมา เป็นครอบครัวประเภท สามีภรรยาที่ไม่มีลูก (ร้อยละ 21.3) ครอบครัวอยู่คนเดียว (ร้อยละ 15.3) ครอบครัวพ่อแม่ลูก (ร้อยละ 10.3) และครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวน้อยที่สุด (ร้อยละ 2.7)  

เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมด้านการจัดการการเงินกับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ของครอบครัวคนทำงาน พบว่า ครอบครัวประเภทพ่อแม่ลูกมีรายได้เพียงพอใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 มากที่สุด (ร้อยละ 37.1) รองลงมา คือ ครอบครัวขยาย (ร้อยละ 35.2) และครอบครัวอยู่คนเดียว (ร้อยละ 34.7)  ตามลำดับ นอกจากนี้ ครอบครัวพ่อแม่ลูกยังมีความสามารถในการช่วยเหลือครอบครัวอื่นที่ประสบปัญหาโควิด-19 มากที่สุด (ร้อยละ 37.7) รองลงมา คือ ครอบครัวขยาย (ร้อยละ 37.4) และครอบครัวอยู่คนเดียว (ร้อยละ 36.7)  

ในทางกลับกัน เมื่อสอบถามถึงความพร้อมของครอบครัวด้านการมีเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน พบว่า ครอบครัวทุกลักษณะมีเงินเก็บใช้ในช่วงโควิด-19 ค่อนข้างน้อย โดยครอบครัวขยาย ครอบครัวพ่อแม่ลูก และครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว มีสัดส่วนการเงินเก็บไว้ใช้ในสถานการณ์โควิด-19 ใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 32.7 และร้อยละ 32.3 ตามลำดับ) กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด ได้แก่ ครอบครัวสามีภรรยาที่ไม่มีลูก และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งมีสัดส่วนการมีเงินเก็บไว้ใช้ในสถานการณ์โควิด-19 น้อยกว่ากลุ่มอื่น สอดคล้องกับจากการศึกษาของไกรวิชญ์ ประชุมพันธ์ และคณะ (2561, p. 326) ที่ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการพฤติกรรมการออมของผู้บริโภคเพื่อใช้จ่ายในอนาคตของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ครอบครัวในกรุงเทพมหานครที่มีสถานภาพหย่าร้างมีค่าเฉลี่ยของพฤติกรรมการออมน้อยกว่ากลุ่มที่เป็นโสดหรือสมรส อาจเนื่องจากผู้ที่หย่าร้างต้องกลายเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน เลี้ยงดูบุตร (รูปที่ 1)

 
รูปที่ 1 การมีเงินเก็บ ความเพียงพอของรายได้ และความสามารถในการช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด ของครอบครัวแบบต่าง ๆ

ครอบครัวพ่อแม่ลูก มีความพร้อมในการเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มีการวางแผนอย่างรอบคอบและมีความเข้มแข็ง มากกว่าครอบครัวลักษณะอื่น (ร้อยละ 59.1 58.3 และ 52.9 ตามลำดับ) ในขณะที่ ครอบครัวอยู่คนเดียว และครอบครัวสามีภรรยาที่ไม่มีลูก น่าเป็นห่วงเช่นเดิม เนื่องจากมีความพร้อมในการเผชิญปัญหา มีการวางแผน และมีความเข้มแข็งในระดับต่ำกว่าครอบครัวลักษณะอื่น (รูปที่ 2) 


รูปที่ 2 การวางแผน ความเข้มแข็ง ความพร้อมในการเผชิญสถานการณ์โควิด ของครอบครัวลักษณะต่าง ๆ

ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวพ่อแม่ลูกของคนทำงานองค์กร มีความพร้อมในสถานการณ์โควิด-19 มากที่สุด เนื่องจากการมีลูกอาจทำให้ครอบครัวต้องวางแผน เพราะลูกมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่าย ทรัพยากร และความเสี่ยงในครอบครัว (Love, D.A., 2010, p. 393) พ่อแม่จึงต้องเตรียมพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น หากจะทำความเข้าใจปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวพ่อแม่ลูกมีการวางแผนหรือเตรียมความพร้อม อาจจะต้องศึกษาหรือถอดบทเรียนเพิ่มเติมในประเด็นอื่น ๆ เช่น เทคนิคการสื่อสารพูดคุยในครอบครัว การช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในครอบครัว แรงจูงใจหรือเหตุผลของการออมเงิน ทัศคติของครอบครัวต่อการรับมือในสถานการณ์โควิด-19/วิกฤติต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด การวางแผน และวิธีการใช้จ่าย และสามารถนำมาใช้เป็นต้นแบบการดำเนินชีวิตในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือวิกฤตให้กับครอบครัวอื่น ๆ ได้  

สำหรับครอบครัวคนทำงานองค์กรที่เป็นครอบครัวสามีภรรยาไม่มีลูก และครอบครัวอยู่คนเดียวซึ่งมีความพร้อมและความเข้มแข็งในระดับต่ำ เป็นความท้าทายของครอบครัวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดการเตรียมความพร้อมมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของครอบครัวลักษณะดังกล่าวกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวอยู่คนเดียว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.8 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 20.5 ในปี 2560 และครอบครัวสามีภรรยาที่ไม่มีลูก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.9 เมื่อปี 2539 เป็นร้อยละ 27.3 ในปี 2560 (ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, 2560) ขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวในช่วง 2533-2558 เพิ่มขึ้นจาก 9.7 แสนครัวเรือน เป็น 1.3 ล้านครัวเรือน (ขวัญเนตร สุขใจ, 2562, น.2) การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว มีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าครอบครัวที่อยู่เป็นคู่ เพราะมักวิตกกังวลกับการเลี้ยงลูก จึงไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ นอกจากนี้กฎหมายหรือนโยบายด้านต่าง ๆ มักเอื้อประโยชน์ให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยวมากกว่าครอบครัวพ่อเลี้ยงเดี่ยว การที่พ่อต้องหาเลี้ยงครอบครัวลำพังเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย ส่งผลให้ต้องทำงานหนักกว่าเดิม และปัญหาจะมากขึ้นตามจำนวนลูกที่ต้องดูแล (McKeown, K., 2000, pp 6-7)  นอกจากนี้ยังพบว่า ครอบครัวขนาดเล็กที่ไม่มีลูกและมีรายได้น้อย ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เพราะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ จากการตกงาน ความยากจน การศึกษาน้อย และไม่มีความรู้เรื่องการเงิน จึงมีความอ่อนแอเมื่อประสบภาวะวิกฤต (Kim,J., Gutter,M. & Spangler, T., 2017, p) ในขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว พบว่า มีปัญหาความสัมพันธ์กับลูก ปัญหาเศรษฐกิจ การมีรายได้และมีงานทำ (ชลลดา จารุศิริชัยกุล, 2555) ดังนั้น หากครอบครัวเหล่านี้ ไม่มีการเตรียมความพร้อม เมื่อเกิดปัญหาจะมีความกดดันสูง อาจส่งผลกระทบด้านจิตใจ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงในครอบครัวได้ การส่งเสริมครอบครัวขนาดเล็กให้สามารถเตรียมพร้อมรับวิกฤตจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น แนวคิด/ทัศนคติต่อการมีครอบครัว/การมีลูกของคนทำงานองค์กร แนวคิดการใช้ชีวิต หรือการวางแผนชีวิตและการเงินของครอบครัวที่ไม่มีลูก เพื่อค้นหาเหตุจูงใจที่ทำให้ครอบครัวเหล่านี้ตระหนักถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตมากขึ้น

ที่ผ่านมาโครงการฯ ทำหน้าที่สนับสนุนให้คนทำงานและองค์กร มีการวางแผนเพื่อพัฒนาครอบครัวคนทำงานในทุกรูปแบบให้เป็น “ครอบครัวมีสุข” เป็นครอบครัวที่มีความอบอุ่น สงบสุข เข้มแข็ง และพอเพียง อย่างต่อเนื่อง โดยมีการวัดค่าคะแนนก่อนและหลังการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาครอบครัวคนทำงาน ทำให้แต่ละองค์กรได้ฝึกการจัดทำแผนกิจกรรม และเชื่อมไปถึงบุคลากรในที่ทำงานให้ได้เรียนรู้การวางแผน ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยวางรากฐานการพัฒนาครอบครัวคนทำงานองค์กรให้มีความพร้อม และสามารถพึ่งตนเองได้ในทุกสภาวะและวิกฤติต่าง ๆ 

 


เอกสารอ้างอิง

  • Kim,J., Gutter, M. & Spangler, T. (2017). Review of family financial decision making: suggestions for future research and implications for financial education. Journal of Financial Counseling and Planning, 28(2), 253-267. 
  • Love, D.A. (2010). The effects of marital status and children on savings and portfolio choice. The Review of Financial Studies, 23(1), 385-432. 
  • MacKeown, K. (2000). Families and Single Fathers in Ireland. Retrieved 13 July 2020 from https://www.researchgate.net/profile/Kieran_Mckeown3/publication/237462253_Families_and_Single_Fathers_in_Ireland/links/5541d0a50cf2b790436be73f/Families-and-Single-Fathers-in-Ireland.pdf 
  • ขวัญเนตร สุขใจ. (2562). ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว:ความท้าทายที่ต้องก้าวผ่านให้ได้ในสังคมไทยปัจจุบัน. บรรยายในการประชุมคณะกรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ทางจิตวิทยาและสังคม ในวันพุธที่ 13 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมศูนย์ให้บริการปรึกษา ชั้น 5 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.     
  • ชลลดา จารุศิริชัยกุล. (2555). เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างมีคุณภาพ. สำนักพัฒนาสุขภาพจิต. กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นจาก https://web.facebook.com/SamakomAnuban/posts/164090590429195/
  • ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์. (2561). การอยู่อาศัยร่วมกันของสมาชิกในครัวเรือนไทย พ.ศ. 2539-2560: การจำแนก    รูปแบบด้วยกลุ่มวัย ใน จงจิตต์ ฤทธิรงค์. ศุทธิดา ชวนวัน, สิรินทร์ยา พูลเกิด และสรัญญา สุจริตพงศ์. (บรรณาธิการ) ครอบครัวไทย สะท้อนอะไรในสังคม. (ครั้งที่ 1), หน้า 37–49), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

รัฐประหาร ในเมียนมา

อมรา สุนทรธาดา

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

เมีย 2018 ณ เมียนมา

จรัมพร โห้ลำยอง

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โครงสร้างอายุเปลี่ยนสังคม

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

คนไร้บ้านในสิงคโปร์

อมรา สุนทรธาดา

ทำไมคุณพ่อต้องลาคลอด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

HAPPY FAMILY TALK

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th