The Prachakorn

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19


กัญญาพัชร สุทธิเกษม

18 สิงหาคม 2563
337



วิกฤตการณ์โควิด-19 (COVID-19) ทำให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงและผลกระทบด้านการทำงานที่ผู้หญิงได้รับอย่างชัดเจนโดยพบว่า ผู้หญิงจำนวนมากตกงานในช่วงโควิด-19 ผู้หญิงใช้เวลาทำงานบ้าน ดูแลลูกหรือผู้สูงอายุในครอบครัวมากขึ้นโดยไม่มีรายได้ และต้องเผชิญความเครียดและได้ผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว

นักวิจัยจากกลุ่มให้คำปรึกษาในบอสตัน สำรวจประชากรกว่า 3,000 คน ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พบว่า ในช่วงโควิดผู้หญิงทำงานใช้เวลาเฉลี่ยมากกว่า 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการทำงานอยู่บ้านโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ในออสเตรเลีย ผลการศึกษาเชิงประจักษ์จากการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ชี้ว่าในครัวเรือนที่มีเด็ก พ่อแม่จะต้องใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันในการดูแลลูก โดยผู้หญิงใช้เวลามากกว่า 2 ใน 3 ของเวลาที่นอกเหนือจากการทำงาน (Savage, 2020)

แม้จะมีการปลดล็อคการผ่อนปรนทั่วโลก แต่นักวิชาการหลายคนเชื่อว่าจะมีผลกระทบระยะยาวต่อการทำงานของผู้หญิงและชีวิตในบ้านอันเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19การศึกษาล่าสุดของสหประชาชาติเตือนแม้กระทั่งว่าการระบาดใหญ่อาจทำให้ความก้าวหน้าในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศลดลงไปหลายสิบปี ระบบครอบครัวกำลังถดถอยจากบรรทัดฐานดั้งเดิมมากขึ้น เนื่องจากการปิดโรงเรียนและศูนย์ดูแลเด็กในช่วงกลางวันรวมทั้งค่ายฤดูร้อนต่าง ๆ ทำให้วิถีการหารายได้ในครอบครัวของชายและหญิงต้องเปลี่ยนไปเนื่องจากไม่มีคนดูแลลูก และจะต้องเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่สูญเสียรายได้เพื่อออกมาดูแลลูก ในช่วงโควิด-19 พบว่า ผู้หญิงต้องตกงาน ทำให้สูญเสียความมั่นคงด้านรายได้ ภาคธุรกิจที่มีผู้หญิงทำงานจำนวนมากได้แก่ ธุรกิจบริการและต้อนรับ ธุรกิจค้าปลีก การท่องเที่ยว เมื่อธุรกิจเหล่านี้รับผลกระทบจากโควิด ผู้หญิงจึงมีอัตราตกงานสูงกว่าผู้ชาย (Savage, 2020)

ภาพโดย: https://www..th.pngtree.com

ข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยของแคนาดา สะท้อนว่า ผู้ชายมีเวลาในการทำงานบ้านมากขึ้นในช่วงกักตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ครอบครัวส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับบทบาทและการแบ่งงานในบ้าน โดยพบว่าผู้ชายมากกว่า 40% กล่าวว่าพวกเขาทำอาหารมากขึ้น ในขณะที่ประมาณ 30% บอกว่าพวกเขาเพิ่มเวลาในการซักเสื้อผ้าและทำความสะอาดบ้าน การศึกษาเชิงวิชาการจากเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกาและเยอรมนีเสนอข้อค้นพบที่คล้ายกัน ในขณะที่บริษัทสำรวจ Pulse พบว่าผู้ชายเกือบสองในสามต้องการทำงานที่บ้านด้วยเหตุผลเพื่อจะได้มีเวลากับครอบครัวเพิ่มขึ้น (Savage, 2020)

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้หญิง

ผู้หญิงมีความเสี่ยงจากผลกระทบของวิกฤติโควิด เนื่องจากพบว่า 1) มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตและภัยพิบัติ เมื่อปี 2014-2016 ที่มีการระบาดของโรคอีโบลาและไข้ซิก้า ปี 2015-2016 และในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวเมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน โดยผู้หญิงและเด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่ควบคุมโดยผู้ชายมีโอกาสสูงที่จะได้รับอันตรายจากความรุนแรง 2) ผู้หญิงเป็นกลุ่มแถวหน้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะร้อยละ 70 ของคนที่ทำงานด้านสุขภาพและบริการสังคมทั้งหมดทั่วโลกเป็นผู้หญิง ดังนั้น ความจำเป็นเร่งด่วนจึงต้องเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้หญิงโดยเริ่มจากการจัดหาทรัพยากรให้กับผู้ที่รับภาระหน้าที่หลักให้เพียงพอ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อซึ่งจะทำให้ผู้หญิงเหล่านี้มีความเสี่ยงมากขึ้นนอกจากนี้ ผู้หญิงส่วนมากเป็นประชากรสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปีและเป็นผู้ป่วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้าถึงบริการสุขภาพได้น้อยกว่าผู้ชาย จากประสบการณ์ในหลาย ๆ ประเทศที่เคยเกิดโรคระบาดมาก่อน พบว่า การให้บริการทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการดูแลสุขภาพมารดาก่อนคลอดและการเข้าถึงการคุมกำเนิด ตลอดจนการทำแท้งอย่างปลอดภัยลดลงทันทีเนื่องจากทรัพยากรด้านการแพทย์จำเป็นต้องใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตโรคระบาด การสูญเสียดังกล่าวมีผลกระทบร้ายแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงและต้องได้รับการป้องกันในทุกกรณี 3) ผู้หญิงมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมั่นคงทางการเงินของผู้หญิงมีสภาพอ่อนแอกว่าผู้ชายมาก นอกจากนี้ สถานะของผู้หญิงในตลาดแรงงานมีความปลอดภัยน้อยกว่าผู้ชาย และผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่มีแนวโน้มต่อเนื่องหลายปี (Linde & Laya, 2020)

อ้างอิง

  • Linde, Ann., Laya Gonzalez Arancha. (2020). What the COVID-19 pandemic tells us about gender equality. World Economic Forum. Retrieved from https://wwwweforum.org/agenda/2020/05/what-the-covid-19-pandemic-tells-us-about-gender- equality/
  • Savage, M. (2020). How Covid-19 is changing women’s lives. Retrieved from https://www.bbc.com/worklife/article/20200630-how-covid-19-is-changing-womens-lives

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th