The Prachakorn

ครัวเรือนกลุ่มกับการดูแลผู้สูงอายุอย่างอบอุ่น


โยธิน แสวงดี

264



ครัวเรือนกลุ่มเป็นลักษณะการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยที่ใกล้ชิดติดกันในบริเวณพื้นที่บริเวณเดียวกัน ส่วนมากจะเป็นบ้านเดี่ยวแต่ละหลัง ระยะห่างจากหลังหนึ่งไปอีกหลังหนึ่งไม่มากนักอาจประมาณ 5 ถึง 6 เมตร หรือบางพื้นที่อาจไกลกว่านั้น เช่น ประมาณ 10 หรือ 30 เมตร หากเป็นในเขตเมืองบ้านเรือนเรียงรายคล้ายห้องแถว หรือทาวเฮาส์ อาจจะมีความคล้ายกับการเป็นครัวเรือนกลุ่มได้

คำว่าครัวเรือนกลุ่ม ศัพท์ทางสังคมวิทยาที่เป็นภาษาอังกฤษมีกล่าวถึง 2 คำ คำแรกคือ

 “Multilocality” อีกคำหนึ่งคือ “Compounded Family” ทั้งสองคำจะให้นัยที่สื่อถึงการมีลักษณะบ้านเรือนที่เป็นครัวเรือนอยู่ใกล้ชิดติดกันเป็นกลุ่ม จะพบมากในครอบครัวของชาวตะวันออก เช่นไทย จีน อินเดีย ฯลฯ ที่บิดา มารดา และบุตร ตลอดจนเครือญาติต่างๆที่ใกล้ชิดโดยสายเลือด และจากการเป็นญาติด้วยการสมรสระหว่างตระกูลจะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน

หากกล่าวถึงความเป็นมาของครัวเรือนกลุ่มในสังคมไทย สามารถชี้ได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษไทยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง กล่าวคือมีผลสะท้อนในทางบวกต่อการดูแลสารทุกข์ สุกดิบของบุตรหลาน ตลอดจนญาติ พี่น้อง ผู้ใกล้ชิดรวมถึงผู้เคารพนับถือ ที่มีบ้านเรือนในระแวกเดียวกันได้ด้วย มีผลนำไปสู่ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ความเอื้ออาทร มิตรไมตรีต่อกันอย่างยิ่ง สามารถพบปะพูดคุยกันได้ตลอดเวลา ที่สำคัญมีผลต่อการ “ฝากผี ฝากไข้” กันและกันได้ด้วยจุดเริ่มต้นของครัวเรือนกลุ่ม มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อสังคมมีการพัฒนาในด้านการจับจองที่ดินทำกินที่สร้างแนวทางให้คนในชุมชนย้ายถิ่นจากชนบทสู่ชนบท เปิดโอกาสหาที่ดินทำกินใหม่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมมากขึ้น เมื่อถึงถิ่นที่อยู่ใหม่และปรารถนาจะทำการเกษตรกรรมที่นั่น ก็จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กันเป็นกลุ่ม ข้อดีไม่เพียงแต่ได้ดูแล อาศัยซึ่งกันและกัน แต่ยังสามารถสอดส่องโจรภัยต่างๆ ต่อมาเมื่อครอบครัวขยายตัวโตมากขึ้น ลูกหลานได้แต่งงาน ออกบ้าน ออกเรือน บิดามารดา จะยกที่ดินทำกิน และพื้นที่ดินเพื่อให้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นคือ บ้านเรือนบุตรหลานและญาติๆ ก็จะเรียงรายกันอยู่รายรอบ ครัวเรือนที่เป็นครอบครัวของบรรพบุรุษอยู่อย่างนั้น

การให้ความสำคัญกับลักษณะของครัวเรือนกลุ่ม เพื่อการบริหารงานในหมู่บ้าน ตลอดจนสอดส่องดูแลภาวะสุขภาพของคนในบริเวณครัวเรือนกลุ่มนั้นๆ ในระยะเริ่มต้นของการตั้งบ้านเรือนจะใช้คำว่า “คุ้ม” ที่สื่อถึงการเป็นกลุ่มของครัวเรือนหรือบ้าน เช่น “คุ้มตะวันสีทอง” “คุ้มแสงแดดส่อง” เป็นต้น การกำหนดเป็นคุ้มกับการพิจารณาถึงลักษณะของครัวเรือนกลุ่ม หากใช้มิติของวิชาสังคมวิทยาชนบทมาวิเคราะห์จะพบว่าเป็นอันเดียวกัน กล่าวคือ “คุ้ม” หรือ “ครัวเรือนกลุ่ม”  ก็คือกลุ่มบ้านที่ส่วนใหญ่ผู้อยู่อาศัยล้วนแต่เป็นญาติกันโดยสายเลือด หรือโดยการสมรส มีการนับหน้าถือตาซึ่งกันและกันด้วยความรักและเคารพ

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าปัจจุบันประเทศไทย เป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยการกระจายตัวจะมีทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ปัญหาที่พบไม่เพียงแต่ในด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงประเด็นการป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ และรวมถึงความซึมเศร้าที่เกิดจากภาวะสุขภาพจิต ที่การค้นหาแนวทางเพื่อการแก้ปัญหาให้ดีขึ้นพบว่า ไม่เพียงแต่ภาครัฐและภาคเอกชนจะดำเนินการ ชุมชนและครอบครัวต่างเร่งให้การระดมสมองเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีมากที่สุด ดังเช่น จากผลการวิจัยของ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ ที่ทำการค้นคว้าและวิเคราะห์ถึง “ลักษณะของครัวเรือนกลุ่มที่มีผลต่อการดูแลผู้สูงอายุ”  ในพื้นที่เฝ้าระวังทางประชากรกาญจนบุรี หรือโครงการกาญจนบุรี ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เน้นทำการพิสูจน์ว่า “ลักษณะของครัวเรือนกลุ่มจะมีผลต่อการดูแลผู้สูงอายุหรือไม่อย่างไร?”โดยผลการวิจัยพบชัดเจนในเชิงประจักษ์ว่า การที่บ้านใกล้เรือนเคียงรู้จักมักคุ้นซึ่งกันและกันอย่างดี ทั้งในลักษณะของการผูกพันโดยสายเลือดและวงศ์ตระกูล ตลอดจนการเป็นญาติที่เกิดจากการสมรส และ/หรือ ที่เคารพนับถือกัน ต่างมีผลในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันอย่างดียิ่ง ทั้งในด้านการดูแลผู้สูงอายุอย่างอบอุ่น เช่น การพูดคุยพบปะ เคารพยกย่อง แบ่งปันอาหาร เยี่ยมเยียน เอาใจใส่เมื่อเจ็บป่วยเหมือนญาติใกล้ชิด ฯลฯ มีผลทำให้ผู้สูงอายุได้รับผลทางจิตใจที่เป็นสุขและได้รับการดูแลที่อบอุ่น นั่นคือระบบของครัวเรือนกลุ่ม หรือ “คุ้ม” ที่มีความสัมพันธ์ และผูกพันซึ่งกันและกัน ต่างนำมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและโดดเด่นอย่างยิ่งในการดูแลที่อบอุ่นให้กับผู้สูงอายุ

การพิสูจน์ของ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ เกี่ยวกับบทบาทของครัวเรือนกลุ่ม กับการดูแลผู้สูงอายุนี้ ไม่เพียงแต่จะวิเคราะห์ในบริบทที่เป็นสังคมชนบท เช่น พื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่สูง พื้นที่พืชไร่ พื้นที่ปลูกพืชผสมผสานและกึ่งเมือง ยังครอบคลุมถึงพื้นที่ที่เป็นเขตเมืองด้วย และพบว่าที่ใดก็ตามที่มีลักษณะของครัวเรือนกลุ่ม ต่างมีผลในการดูแลผู้สูงอายุอย่างอบอุ่นยิ่ง เปรียบเหมือนผู้สูงอายุทุกๆคนในกลุ่มครัวเรือนหรือ “คุ้ม” เป็นญาติสนิทใกล้ชิดจริงๆ ประชากรทุกเพศและวัยหนุ่มสาวที่เป็นวัยแรงงานต่างให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุที่มีในชุมชนอย่างมาก นั่นคือ เมื่อครอบครัวเข้มเข็ง ครัวเรือนเข้มแข็ง ชุมชนก็จะเข้มแข็งตาม ด้วยเหตุนี้นโยบายของการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุอย่างอบอุ่นควร ที่จะให้เป็นการเริ่มต้นโดยระบบของครอบครัวและชุมชน ที่ต้องเริ่มจากแนวคิดของครัวเรือนกลุ่ม แล้วยกระดับโตขึ้นให้เป็นภาพของสังคมในที่สุด

ลักษณะของครัวเรือนกลุ่มในพื้นที่ชนบทโดยทั่วไปรั้วบ้านจะโปร่งมองเห็นกันหมด หรือไม่ก็ไม่มีรั้ว บุคคลสามารถเดินไปมาพบปะกันได้ง่าย บางครั้งอาจมองเห็นกันและจะสื่อสารถามไถ่กันได้สะดวก ขณะที่ในพื้นที่เขตเมืองของโครงการกาญจนบุรีรั้วบ้านในบริเวณครัวเรือนกลุ่มจะเป็นรั้วโปร่ง มองเห็นกันได้ ที่เป็นรั้วมิดชิดสูงก็มีบ้างแต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยรอบข้างเยี่ยมเยียนกันได้ ดังนั้นหากพื้นที่ใดมีรั้วโปร่งมองเห็นกัน ผู้สูงอายุก็จะได้รับการพูดคุย ซักถาม เยี่ยมเยียนอย่างอบอุ่น ในทางตรงกันข้ามหากบ้านเรือนมีรั้วสูงปิดทึบเพื่อป้องกันโจรร้าย และมีเจตนาที่จะอยู่ในโลกส่วนตัวในลักษณะปัจเจกชนนิยม ตัดขาดจากข่ายสังคมของครัวเรือนที่เป็นครอบครัวรอบข้าง ผู้สูงอายุที่อยู่ในครัวเรือนเดี่ยวเช่นนั้นอาจไม่อบอุ่นเท่ากับการให้ “ระบบของครัวเรือนกลุ่ม” เป็นผู้ดูแล


เอกสารอ้างอิง :       

  • Musiksphan, W. 2008. Influence of Existential Locality on Labor Force Age Out-Migration and The Elderly, And Children’s Living   Arrangement. Ph.D. dissertation in Demography, Faculty of  Graduate Studies, Mahidol University

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th