The Prachakorn

60…ใช่ว่าต้องหยุด (ทำงาน)


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

08 ตุลาคม 2563
397



สถานการณ์สังคมสูงอายุของประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเกือบถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด การพิจารณากำหนดแนวทางและขับเคลื่อนมาตรการรับมือจัดการผลกระทบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุและสังคมโดยรวมของประชากรทุกช่วงวัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หนึ่งในนั้นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เป็นเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมการทำงานและการคงอยู่ในกำลังแรงงานของประชากรไทยให้ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่คนไทยจำนวนมากยังยึดติดกับความคิดว่าเป็นเกณฑ์อายุเกษียณที่ควรหยุดทำงานและพักผ่อน ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรเนื่องจากอายุเกษียณในภาครัฐของไทยยังคงกำหนดไว้ที่อายุ 60 ปี แต่น่าจะดีกว่าหากเราสามารถช่วยกันสร้างค่านิยมใหม่ได้ว่า “เกษียณอายุ หรือสูงวัยแล้ว ใช่ว่าต้องหยุดทำงาน”

บทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลบางประการที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำงานของผู้สูงอายุไทยที่เป็นข้อค้นพบจากโครงการวิจัย “สถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย: การวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจระดับประเทศ” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

ร้อยละผู้มีงานทำของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปขึ้นไป
รูป 1 ร้อยละผู้มีงานทำของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปขึ้นไป
แหล่งข้อมูล: วิเคราะห์จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2562 (ไตรมาส 3) สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากรูป 1 ซึ่งแสดงร้อยละผู้มีงานทำของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป (ข้อมูลปี 2562 ไตรมาส 3) จะเห็นได้ว่าประชากรไทยมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานสูงที่สุดในช่วงอายุ 30-49 ปีทั้งผู้ชาย (ร้อยละ 94) และผู้หญิง (ร้อยละ 80-82) โดยผู้หญิงเริ่มออกจากกำลังแรงงานหรือหยุดการทำงานเร็วกว่าผู้ชายคือตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ขณะที่ผู้ชายจะเริ่มออกจากกำลังแรงงานชัดเจนที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ในภาพรวม เมื่อเข้าสู่อายุ 60 ปี ร้อยละผู้มีงานทำของประชากรทั้งหมดลดลงอย่างมากจากร้อยละ 77 ในช่วงอายุ 55-59 ปี เหลือเพียงร้อยละ 55 ในช่วงอายุ 60-64 ปี และในภาพรวมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 34.5 หรือ 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ยังคงทำงาน จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม การทำงานของแรงงานสูงอายุไทย (ผู้สูงอายุที่ยังคงมีงานทำ) ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.3 อยู่ในภาคเกษตร (อีกร้อยละ 32.1 อยู่ในภาคบริการและการค้า) ร้อยละ 62.0 มีสถานภาพการทำงานเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง (อีกร้อยละ 20.4 ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง) และสูงถึงร้อยละ 88.0 เป็นแรงงานนอกระบบ (ตามคำจำกัดความของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) แม้ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีมาตรการและนโยบายในการส่งเสริมการทำงานและมีงานทำของผู้สูงอายุมากพอสมควร แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงปี 2547-2562 พบว่าร้อยละของผู้มีงานทำในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลับมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี โดยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ทำงานหรือหยุดทำงานนั้น พบว่ามีสาเหตุมาจากเหตุผลการเกษียณอายุจากการทำงานหรือต้องการพักผ่อนเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า การส่งเสริมการมีงานทำและการคงอยู่ในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุให้ยาวนานขึ้น ควรมุ่งเน้นไปที่ประชากรกลุ่มอายุ 60-64 ปี

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แรงงานทุกกลุ่มวัย รวมถึงแรงงานสูงอายุย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกภาคเศรษฐกิจ ทั้งจากการหยุดหรือปิดกิจการของสถานประกอบการ การถูกเลิกจ้างหรือไม่ต่อสัญญา (ซึ่งการศึกษาจำนวนหนึ่งในต่างประเทศ ชี้ว่าแรงงานสูงอายุเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มถูกพิจารณาเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรก ๆ) การถูกลดชั่วโมง/วันทำงานและสวัสดิการคุ้มครองต่าง ๆ ปัญหาการขาดทุนของผลประกอบการและผลผลิตทั้งในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้าและบริการจากการลดลงของกำลังซื้อภายในประเทศและการส่งออกที่หดหาย ล้วนเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ทำให้แรงงานจำนวนมากอาจต้องตกงานหรือเลิกกิจการ ซึ่งกลุ่มที่มีความเปราะบางไม่ใช่เฉพาะเพียงแรงงานสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่รวมถึงแรงงานก่อนวัยสูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 50-59 ปี ที่ยังอยู่ในช่วงวัยที่ควรต้องทำงานเก็บเงินสำหรับวัยสูงอายุ ซึ่งหากถูกเลิกจ้างหรือตกงานก็จะมีโอกาสในการได้งานใหม่หรือกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ค่อนข้างน้อย

สำหรับแรงงานสูงอายุที่ยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน การปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตการทำงานใหม่ ที่มีแนวโน้มต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ก็เป็นความท้าทายที่สำคัญต่อแรงงานสูงอายุในการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะใหม่ที่จำเป็นเหล่านี้

รูป 2 การใช้อินเทอร์เน็ตของแรงงานไทย
แหล่งข้อมูล: วิเคราะห์เฉพาะผู้มีงานทำ จากการสำรวจ ICT พ.ศ. 2561, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เกษียณอย่างเกษม

อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th