The Prachakorn

คุยกับประสาน อิงคนันท์ : มนุษย์ต่างวัย สื่อกับการลดช่องว่างระหว่างวัย


ณปภัช สัจนวกุล

09 ธันวาคม 2563
1,170



ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (aged society) ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 กว่า 15 ปีมาแล้วที่สัดส่วนของประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด และคาดประมาณว่า อีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ (พ.ศ. 2565) เราจะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์” คือ 1 คนใน 5 คน ที่เราใช้ชีวิตเดินสวนกันไปกันมาจะเป็นผู้สูงอายุเหล่านี้คือปรากฎการณ์การสูงวัยอย่างรวดเร็วของประชากรไทย และแน่นอนว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมไทยจะยิ่งทำให้เรามีโอกาสมองเห็น “ช่องว่าง” ที่เกิดขึ้นระหว่างวัยของคนในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องความคิดความเห็นของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ที่บางทีอาจจะมีความไม่เข้าใจกัน 

Talk with the Prachakorn ในครั้งนี้ จึงชวนคุณประสาน อิงคนันท์ สื่อมวลชนผู้ก่อตั้งเพจมนุษย์ต่างวัย สนทนาถึงบทบาทของสื่อในการมีส่วนสำคัญเพื่อที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย ที่ดูเหมือนว่านับวันช่องว่างของคนในสังคมนั้นจะกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ 

สื่อกับสังคมสูงวัย

ปกติคนอาจจะรู้จักกันว่าผมทำรายการคนค้นฅนกับรายการกบนอกกะลา แต่ในช่วง 4-5 ปีมานี้ได้มีโอกาสมาทำงานเกี่ยวกับสังคมสูงวัยมากขึ้น ต้องบอกตามตรงก่อนว่า ตอนที่ผมมาเริ่มต้นทำรายการเกี่ยวกับสังคมสูงวัย มาอย่างคนไม่รู้เรื่องอะไรเลย โดยปีแรก ๆ เริ่มทำรายการชื่อ “ลุยไม่รู้โรย” ซึ่งออกอากาศในช่องไทยพีบีเอส ตอนนั้นผมมองแต่เรื่องของผู้สูงอายุที่ออกมามีชีวิต active มีความสุข มีความสมบูรณ์แข็งแรงทางด้านร่างกาย ยังทำงานอยู่ แต่ว่าการมองให้เห็นภาพรวมอื่น ๆ ของสังคมสูงวัย ตอนนั้นต้องยอมรับว่ามันแทบจะเป็นศูนย์ ผมเข้าใจว่าอันนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในความคิดของคนส่วนใหญ่ด้วยก็ได้ 

ผมรู้สึกว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัย พอพูดบ่อย ๆ บางคนจะไม่รู้สึกกับมันนะ จะไม่เข้าใจว่าเมื่อประเทศไทยมีคนแก่เยอะขึ้น แล้วมันจะมีผลกระทบอะไรกับเขา หรือบางทีเขาก็อาจจะมองด้วยความรู้สึกที่ว่า ก็อันนั้นเป็นเรื่องของผู้สูงอายุไม่ใช่หรือ จะมาเกี่ยวข้องอะไรกับคนอายุ 20-30 ปีแบบเขา 

จนกระทั่งทางสถานี [ไทยพีบีเอส] ชักชวนให้มาทำ project เพื่อสังคมสูงวัยมากขึ้น พอได้ทำมากขึ้น เราก็เริ่มรู้สึกว่าเราน่าจะลองไปดูงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อจะเข้าใจว่าเราได้สื่อสารประเด็นนี้ให้มีความคมชัดและมีความเชื่อมโยงกันแล้วหรือยัง พอเราไปคุยเรื่องผู้สูงอายุมากขึ้น เราก็จะเห็นว่า หลาย ๆ ที่ก็จะพูดถึงในทำนองว่า เมื่อจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นในสังคม เช่น รัฐจะต้องมีภาระในการดูแลยังไงบ้าง คนรุ่นอื่นจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมขึ้นอย่างไรเพื่อมาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ และมีอีกหลายหลาย ๆ ประเด็น เช่น เรื่องสังคมการออม เรื่องสุขภาพ พูดถึงการจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุได้ออกมาใช้ชีวิตในสังคม ไม่ใช่ว่าถูกแบ่งแยกแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน 

ทัศนคติต่อเรื่องวัยของคนในสังคม

ในประเด็นที่มีการสื่อสารกัน ผมมาติดใจอยู่อันหนึ่งตรงเรื่องทัศนคติ คือเราจะรู้สึกได้ว่าเมื่อผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้น ทัศนคติในการใช้ชีวิตหรือทัศนคติในการมองตัวเองกับมองสังคมจะเป็นอย่างไร เช่นอาจจะมองว่าคุณค่าหรือศักยภาพของตัวเองหมดลงแล้วหรือยัง หรือถ้ายังไม่หมด เราจะใช้คุณค่าและศักยภาพของตัวเองไปทางไหน อันนี้เป็นเรื่องของทัศนคติที่ผู้สูงวัยมีต่อตัวเอง 

อีกประเด็นหนึ่งที่เรามองไม่เห็นคือ มันจะมีเรื่องทัศนคติที่คน Gen อื่น ๆ มองกลับมาทางผู้สูงอายุ เราจะมองเห็นกันเยอะมากคือเรื่องของการ stereotype เมื่อคุณอายุมากขึ้นหรืออยู่ในวัยเกษียณ เขาก็จะ stereotype ว่าร่างกายของคุณก็จะแข็งแรงประมาณนี้แหละ คุณก็จะแข็งแรงแบบคนแก่ อย่างในสังคมไทย เวลาเรา stereotype ผู้สูงอายุกัน อาจเจอในเรื่องกีฬา เราก็จะนึกทึกทักเอาว่าผู้สูงวัยจะเล่นได้อย่างเดียว คือเล่นเปตอง หรือว่าถ้าพูดถึงดนตรีก็น่าจะเล่นอังกะลุง คือเราคิดและไป stereotype ว่าคนที่อายุมากแล้วจะต้องเป็นแบบนี้นะ

แต่พอเราได้ค้นหาข้อมูลมากขึ้น ก็เลยคิดว่าถ้าเราจะทำสื่อ เราต้องสื่อสารประเด็นอะไรเป็นหลัก เราก็คิดว่าเราอยากจะสื่อสารประเด็นเชิงทัศนคติของคนในสังคม ว่าเขาควรจะมีทัศนคติในการมองผู้สูงอายุแบบไหน ในขณะเดียวกันทัศนคติที่กลุ่มผู้สูงอายุจะมองต่อตัวเองควรจะเป็นอย่างไร 

เพราะผมเชื่อว่าถ้าทั้งสองมีทัศนคติที่ดีต่อกัน หรือว่ามีทัศนคติที่ดีต่อตัวเองแล้ว ภาระที่จะเกิดขึ้นในช่วงการเป็นผู้สูงวัยก็จะน้อยลงไป แน่นอนว่าเมื่อผู้สูงอายุได้ออกไปใช้ชีวิต ออกไปมีส่วนร่วมกับสังคมมาก ๆ เงื่อนไขทางด้านสุขภาพที่จะกลายเป็นคนผู้ป่วยติดเตียง หรือการมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง มันก็มีโอกาสลดน้อยลงไป ดังนั้น เราก็เลยให้ความสำคัญไปที่เรื่องทัศนคติที่เป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นสังคมสูงวัย 

ที่มาของเพจ “มนุษย์ต่างวัย”

ผมมาเริ่มทำเพจอันหนึ่งชื่อว่า “มนุษย์ต่างวัย” เพื่อต้องการสื่อสารกับสังคมเกี่ยวกับประเด็นผู้สูงอายุ คือก่อนหน้าที่จะมาทำรายการออนไลน์แบบนี้ ผมก็ทำรายการในโทรทัศน์หรือว่าเป็นคลิปออนไลน์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุอยู่บ่อยครั้งทีเดียว ผมเคยทำรายการที่มีชื่อว่า The Senior เราชวนผู้สูงอายุมาลองทดลองว่าเขาจะออกจากขีดจำกัดของตัวเองยังไงได้บ้าง อันนี้บางคนอาจจะมองว่าเรามาชวนผู้สูงอายุทำอะไรเลอะ ๆ เทอะ ๆ แต่จริง ๆ แล้ว เรากำลังคุยถึงเรื่องของการชวนเขาออกนอกกรอบ และในขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวก็จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุเห็นว่าเขาจะสามารถออกนอกกรอบยังไงได้บ้าง 
 
ผมลองชวนคุณป้า 2 ท่านที่เคยเป็นแม่เพลงเรืออยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีมาอยู่กับวัยรุ่นแล้วลองมาทดลองแต่งเพลงแร็พดู โดยมีเวลาให้สัก 1 สัปดาห์ เป้าหมายคือการผลิด music video เพลงแร็พให้คุณป้าสัก 1 เพลงปรากฏว่าเขาทำได้ แล้วก็ทำให้คนหนุ่มสาวรู้สึกด้วยว่า เออ จริง ๆ แล้วเขามีอะไรที่สามารถจะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับผู้สูงอายุได้นะ เรารู้สึกว่าประเด็นที่เราจะสามารถสื่อสารกับคนต่างวัย มันสามารถพาออกไปได้ในทุกเรื่อง อันนี้เลยเป็นที่มาของการทำเพจที่ชื่อว่า มนุษย์ต่างวัย

“แค่ต่างวัย แต่ไม่ได้มาจากต่างดาว”

คำพูดนี้จริง ๆ แล้วผู้สูงอายุก็พูดได้ หรือแม้กระทั่งคนอายุ 16 ก็พูดได้ว่า ฉันแค่ต่างวัย แต่ไม่ได้มาจากต่างดาว เวลาที่มีความขัดแย้งกับหัวหน้าที่มีอายุ 40 กว่า หรือคน Gen Y จะพูดกับคน Gen X ก็ได้ เพราะฉะนั้นตัวงานออนไลน์ชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะสื่อสารว่า เรื่องช่องว่างระหว่างวัยนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ หรือจริง ๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของ “ช่องว่างระหว่างใจ”

เนื้อหาที่เรานำเสนอในเพจนี้ค่อนข้างหลากหลาย เราจะเล่าเรื่องของผู้สูงอายุที่ยังรู้สึกว่าได้มีชีวิตที่ active และมีทัศนคติในการใช้ชีวิตที่มีความสุข จำนวนผู้ชมในเพจเราตอนนี้มีประมาณสัก 400,000 ราย ผู้ชมที่เข้ามาก็อาจจะพอมองเห็นว่าอนาคตของเขาอยากจะมีชีวิตแบบไหน ถามว่าตรงนี้มีผลยังไง มันมีผลมากนะที่เราจะมาพูดถึงสังคมสูงวัยในวันข้างหน้า ที่เราจะเห็นคนต่างวัยจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว เขาวางแผนได้ว่าเขาอยากจะมีบั้นปลายชีวิตแบบไหน นั่นหมายถึงว่าเขาต้องเตรียมตัวเรื่องสุขภาพและเรื่องการเงิน 

“สวัสดีวันจันทร์” ข้อความทางไลน์แชทจากผู้สูงอายุ

ในเพจมนุษย์ต่างวัย เรายังพูดถึงเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างวัย ถ้าเราเห็นในไลน์ ทำไมถึงต้องมีข้อความหรือรูปภาพว่า “สวัสดีวันจันทร์” คือเวลาผู้สูงอายุจะส่งไลน์ให้กัน อันนี้ใคร ๆ ก็จะรู้อยู่แล้วนะว่าส่งดอกไม้ส่งอะไรให้กัน แล้วคนก็จะรู้สึกว่าส่งมาทำไมเนี่ย น่ารำคาญ แต่วันหนึ่งผมมีโอกาสไปบ้านของผู้สูงอายุท่านหนึ่ง และผมก็ไปถามว่าคุณลุงครับ คุณลุงยังส่งไลน์ไหม ส่งไลน์สวัสดีวันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดีหรือเปล่า เขาบอกว่า ส่งสิ เลยถามว่าแล้วทำไมคุณลุงยังต้องส่งล่ะ เขาก็บอกสั้น ๆ อันหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยคที่ทำให้ผมสะอึกเลย เขาบอกว่า 

แหม่ คุณประสาน เราเนี่ยแก่แล้ว เราตายวันไหนเพื่อนมันจะรู้ได้ยังไง เราส่งไปเพื่อให้เพื่อนมันรู้ว่าเรายังไม่ตาย ยังสุขภาพดี 

ลองเพื่อนบางคนนะมันเคยส่งมาทุกวัน ลองมันหายไปสัก 3 วัน เราลองโทรไปคุยกับลูกสาว เขาบอกว่าตายไปแล้ว พอมีการสื่อสารเรื่องนี้ออกไป ลูกหลานที่เห็นข้อความก็คุยกันว่า จากนี้ไปเราก็จะไม่รำคาญแล้ว เราสื่อสารในประเด็นนี้บ่อย ๆ เพราะเราเชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์และทำให้คนรู้สึกว่ามีการเชื่อมโยงกันระหว่างของคนต่างรุ่น คนต่าง Gen ได้ 

เป้าหมายของเพจมนุษย์ต่างวัย เราไม่ได้อยากจะทำให้มองสังคมสูงวัยเป็นการมองสังคมแบบแยกกลุ่ม แต่เราต้องการให้มองว่าสังคมสูงวัยเป็นเรื่องสังคมของคนทุกวัย ถ้าวันหนึ่งประเทศของเรามีผู้สูงอายุเยอะขึ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะได้ประโยชน์หรือได้ผลกระทบทางใดทางหนึ่ง 

เพราะฉะนั้นความตั้งใจในการทำ content ของเพจนี้ คือการทำให้คนรู้สึกว่า สังคมสูงวัยมันอยู่ใกล้ ๆ เรา มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอะไรเลย มันเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับเราได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถทำให้ความหมายของสังคมสูงวัยมันเชื่อมโยงและเป็นเรื่องของคนทุกวัยได้

ความไม่ลงรอยกันระหว่าง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่”

จริง ๆ ตอนที่เพจมนุษย์ต่างวัยเกิดขึ้นได้สักปีเดียว ตอนนั้นเพจเราเกิดขึ้นในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างวัยที่กำลังคุกรุ่น กำลังมีถ้อยคำที่กระจัดกระจายอยู่ในสังคม เช่น ไดโนเสาร์ควรตายกันได้แล้ว แก่ ๆ กันแล้ว หรือว่ามีถ้อยคำอย่างเช่น พวกโลกสวย ฉันนี่อาบน้ำร้อนมาก่อนแก เกิดขึ้นในช่วงนั้น 

ผมเลยคิดว่าส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ข้อขัดแย้งต่าง ๆ เกิดขึ้น ปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือ การตีตราและการเหมารวม คือเอาเรื่องของวัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งด้วย 

ปฏิเสธไม่ได้นะว่าคนต่างวัยย่อมคิดไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน แต่ที่เขาคิดไม่เหมือนกันก็เพราะว่าแต่ละคนมีประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีประสบการณ์มาก หรือมีประสบการณ์มาแล้วว่าสิ่งนี้มันน่ากลัว แต่ในคนหนุ่มสาวอาจจะไม่เคยมีประสบการณ์กันว่าสิ่งนี้น่ากลัว ไม่มีความกลัว เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีความกล้ามากกว่าคนที่มีประสบการณ์มาแล้ว ปัญหาคือว่าประสบการณ์มันไม่เท่ากัน ต่างคนก็มีการตีตราตามมา คนก็จะบอกว่าตัวเองนี่แหละถูก ส่วนคนอื่นผิด แต่จริง ๆ แล้วของบางอย่างเราก็ไม่สามารถไปบอกได้ว่าใครถูกหรือใครผิด ผมว่ามันเป็นเรื่องของการยอมรับและการทำความเข้าใจ


 

ความต่างระหว่างวัยใน (ธุรกิจ) ครอบครัว

มีตัวอย่างการทำธุรกิจของคนต่างวัยที่น่าสนใจในเพจมนุษย์ต่างวัย คือแม่ทำธุรกิจขายลูกชิ้นเห็ดหอมอยู่ที่เชียงใหม่ ขายดีมาก เป็นร้านเล็ก ๆ เป็นรถเข็น วันหนึ่งลูกเรียนจบจากกรุงเทพฯ มา แล้วลูกบอกว่าร้านมันเก่ามากแล้ว เขาไปช่วยขายแล้วรู้สึกไม่เวิร์ค เขาอยากจะทำใหม่ ลงทุนใหม่ ถามว่าแม่เห็นด้วยไหม แม่ไม่เห็นด้วย เพราะแม่รู้สึกว่าทำไมต้องไปใช้เงินลงทุนใหม่ ที่ทำทุกวันนี้ก็ขายได้ แต่ในขณะที่เด็กไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เด็กรู้สึกว่าขายได้จริงแต่ทำไมเราไม่ปรับปรุงใหม่ให้ทันยุคทันสมัย และสามารถทำให้มันเป็นแฟรนไชส์ได้ 

สังเกตไหมว่ามองกันคนละแบบ คนหนึ่งเขามองในภาวะของความที่ไม่อยากเสี่ยง แต่อีกคนมองในเรื่องของการเติบโตในธุรกิจให้มันขยายออกไป บ้านนี้ยังโชคดีที่เขาปรับเข้าหากันได้ โดยที่เขาอาศัยการเปิดใจคุยกันด้วยเหตุผล เช่นลูกสาวใช้วิธีการเอากระดาษโน้ตมาแปะให้แม่เห็นว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วแม่เขาเห็นอะไรบ้างก็เอาวิธีการนี้มาคุยกันว่า อะไรคือจุดร่วม อะไรคือจุดต่าง และอะไรคือที่เขาคิดว่าจะไปด้วยกันได้ เขาก็มานั่งไล่ก็นั่งคุยกันสองคน ปรากฏว่าที่สุดแล้วแม่ยอมให้ลูกไปทดลอง ขยายร้าน ทำร้านให้มีดีไซน์ แล้วมันก็ขายได้ อันนี้คือตัวอย่างของการเปิดใจฟังกันที่มันสำเร็จ แต่แน่นอนก็มีที่ไม่สำเร็จอีกเยอะ เราไม่ปฏิเสธหรอก 

แน่นอนว่าปัญหาความไม่เข้าใจกันย่อมมีอยู่แล้ว แต่คำถามคือ แล้วเราจะยืนอยู่ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งนี้หรือ ในเมื่อมีปัญหาความขัดแย้งเราก็ต้องลุกขึ้นมาหาวิธีการทางใดทางหนึ่ง แต่ส่วนวิธีการที่เลือกนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้หรอก แต่สำคัญคือเราได้ลุกขึ้นมาสร้างวิธีการอะไรบางอย่างให้มันเกิดขึ้น 

ความต่างระหว่างวัยในที่ทำงาน

ในที่ทำงานก็เหมือนกัน การที่เราจะจัดการคนต่างวัยในการทำงาน เช่นในการเลือกโลโก้บริษัท เราก็จะรู้เลยว่าโลโก้แบบนี้เป็นอันที่เด็กเลือก เลือกอันนี้คือผู้ใหญ่เลือก ถามว่าแบบไหนคือสวย มันไม่มีแบบไหนสวยนะ มันมีแต่แบบที่เหมาะสมแล้วก็สอดคล้องกับยุคสมัย แต่หัวใจของมันคือจะมีการ reflect กันเท่านั้นเอง มันจะต้องเกิดกระบวนการบางอย่างที่ต้องให้เหตุผลว่าทำไมเราเลือกอันนี้ เราเลือกแบบนี้เพราะอะไร แต่สุดท้ายจะนำไปสู่เรื่องของการเคาะว่าเอาแบบไหน ถ้าวันหนึ่งมันเคาะไปในแนวทางผู้ใหญ่ แน่นอน มันไม่ได้หมายถึงว่าผู้ใหญ่ชนะ แต่หมายถึงว่า ผู้ใหญ่ต้องไปท้าทายว่าสิ่งที่ตัวเองเลือกถูกหรือเปล่า คุณอาจจะออกไปพิสูจน์แล้วล้มเหลวข้างนอกก็ได้ นั่นหมายความว่าผู้ใหญ่ต้องยอมรับด้วยว่าสิ่งที่ตัวเองเลือกผิด คราวหน้าถ้ามีการตัดสินใจบางอย่างคุณก็ไม่สามารถตัดสินใจบนฐานความคิดของตัวเองได้ทุกอย่าง คุณก็ต้องกลับไปตัดสินใจในความคิดของเด็กบ้าง

วิธีการแบบนี้ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการทำให้คนทำงานด้วยกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของการเปิดมาก ๆ ไม่ใช่เรื่องของการปิดหรือเรื่องของการแบ่ง ยิ่งวัยต่างกันมาก ๆ ในองค์กร ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการแบบนี้ ซึ่งเวลาทะเลาะกันไม่ได้หมายถึงว่าอัตตามันจะเกิดได้ในเฉพาะคนรุ่นเก่า 

ทุกคนล้วนมีอัตตาเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น คนแก่ก็มีอัตตาแบบคนแก่ ว่าเขามีประสบการณ์ เขามีอำนาจ ต้องเชื่อเขา ในขณะที่เด็กก็มีอัตตาแบบเด็ก ว่าเขาทันโลกทันยุค และเขาคือคนที่รู้โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่ละคนก็ถืออัตตากันคนละแบบ

การแบ่งคนตาม Generations

โดยส่วนหนึ่งผมคิดว่าการแบ่งคนตาม Generations มีส่วนในการสร้างความรู้สึกที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกนะ เช่น เวลาที่สื่อหรือหนังสือพิมพ์พาดหัวข้อข่าวประมาณว่า Gen Y ไร้เงินออม มันก็จะมีคนที่เหมารวมในลักษณะนี้ด้วย หรือก็อาจเรียกว่าเป็นการสร้างวาทกรรม คนที่อยู่ในวัยแบบนี้ก็มีความรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวอาจมีแนวโน้มพฤติกรรมเป็นไปในทิศทางนี้ เพราะว่าโดยนิสัยใจคอที่เติบโตมาจะเป็นลักษณะของการเชื่อเรื่องความสุขที่ไม่ต้องรอไปจนถึงช่วงบั้นปลายของชีวิต เป็นความสุขที่สัมผัสได้เลย ได้เงินมาไม่ต้องเก็บ 

แต่ขณะเดียวกัน กลุ่ม Gen Y ก็มักจะตอบโต้ว่า ที่เขาต้องเป็นแบบนี้ก็เพราะกลุ่มคน Gen X และ Baby Boomers ที่ปกครองประเทศกันอยู่นี่แหละ ที่ได้สร้างหนี้สินไว้ให้กับพวกเขา จนในที่สุด Gen เหล่านี้ต้องมารับช่วงต่อ ทำให้ไม่รวยสักที ได้เงินเดือนมาก็ต้องเสียค่าครองชีพแพง ๆ แล้วจะเก็บเงินได้อย่างไร พอเก็บไม่ได้ก็มาบอกว่าคน Gen นี้ไม่รู้จักออม เขาก็จะมีความรู้สึกถึงการถูกตีตราในช่วงวัยแบบนี้ 

ถามว่าการแบ่งคนตาม Generations มันทำให้เกิดการแบ่งแยกในความรู้สึกแบบหนึ่งหรือเปล่า สำหรับในมุมผม มันก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่มันก็จำเป็นต้องใช้ เพราะเหมือนกับว่าการแบ่งคนตามช่วงวัย ช่วงอายุ ถ้าเราไม่ใช้คำเรียกแบบนี้ ก็ไม่รู้ว่าควรใช้แบบไหน เพียงแต่ว่าเวลามาอยู่ในบริบทที่ถูกใช้ มันจะกลายเป็นคำที่กึ่ง ๆ เป็นการตีตราได้เหมือนกัน ก็เหมือนกับเราตีตราสาวใหญ่ ลุง ป้า เป็นต้น กลายเป็นว่า เอาคำเหล่านี้มาผสมอยู่ในบริบทต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด

หยุดใช้วัยเป็นเครื่องมือในการตัดสินคุณค่าของคน

เราควรมองเบื้องหลังของแต่ละคน แทนที่จะมองด้วยวัย เราไม่ควรจะใช้วัยมาเป็นเครื่องมือในการตัดสิน เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน คุณก็สามารถที่จะใจแคบและใช้อำนาจได้ถ้าพื้นเพคุณเป็นคนแบบนั้น เพียงแต่ว่าในวัยเด็ก คุณยังไม่แสดงออกมาให้เห็นขนาดนั้น และคุณยังไม่มีพื้นที่มากพอที่จะแสดงอำนาจเท่านั้นเอง เมื่อวันหนึ่ง คุณเติบโตขึ้นไปเป็นหัวหน้า คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณจะไม่เป็นแบบเขา 

การทำงานหลังวัยเกษียณ

ถ้าระบบการจ้างงานมันไม่เปลี่ยน เช่นเมื่อคุณอายุ 60 ปี แล้วเกิดคุณอายุยืนถึง 80 ปี เพราะการแพทย์สมัยนี้ดี ใน 20 ปีนี้คุณจะมีชีวิตอยู่อย่างไร คุณจะเอาชีวิต 20 ปี ของคุณไปอยู่ตรงไหน 

ถ้าเราเป็นข้าราชการที่เคยทำงานในกระทรวงมาสัก 30 ปี พอเราอายุ 60 ปี เกษียณอายุ สถานะภาพเราหายไป ไม่มีพื้นที่ในการทำงานแล้ว เราคิดว่าเราเหมือนตายไปจากโลก ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ใช่ ในเมื่อเขายังมีเรี่ยวแรงในการทำงานอยู่ ผมก็เลยค่อนข้างเห็นด้วยกับการต่ออายุการทำงานหลังเกษียณ เพราะถ้ามองในรูปแบบเชิงเหตุผล โครงสร้างประชากรคนกลุ่มนี้จะมีเยอะขึ้นอยู่แล้ว และยิ่งถ้าเป็นกลุ่มสังคมอายุยืนด้วยแล้ว คุณยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ทำงานได้ คิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องจ้างงานต่อ 

แต่ต้องดูที่ความสามารถในการทำงานของคุณเป็นเกณฑ์ด้วยเหมือนกัน คุณเป็นคนอายุ 60 ปี ถ้าจะจ้างงานต่อ ก็ต้องเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างได้ อันนี้ก็จะกลับมาเป็นที่เรื่องวัย ธรรมชาติของมนุษย์ พฤติกรรมของมนุษย์ หรือความสามารถของมนุษย์ ซึ่งการจ้างที่กล่าวมา ก็อาจจะจ้างเป็นปีต่อปี ตามศักยภาพที่ไหว

การเกษียณ (ก่อนวัย) ของคนรุ่นใหม่

ในเรื่องของการเกษียณก่อนอายุ เมื่อลองถามคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป ว่าคุณยังอยากทำงานอยู่หรือไม่ ก็พบว่า กว่า 70-80% ยังอยากทำงานอยู่ แต่เมื่อลองนำคำถามนี้ไปถามกับคนหนุ่มสาวว่า อยากเกษียณอายุในวัยเท่าไร ก็มักจะตอบว่าอยากเกษียณในวัย 50 ปี นักวิจัยจึงมีข้อสงสัยว่า ถ้าสังคมเราเป็นสังคมอายุยืน คุณเกษียณในวัย 50 ปี แล้วอีก 30 ปี คุณจะทำอะไร ถ้าคุณมีอายุถึง 80 ปี เพราะอายุคาดเฉลี่ยในปัจจุบันสูงขึ้น แล้วในช่วง 30 ปีนั้น คุณจะทำอะไร 

เรื่องพวกนี้ก็มาจากพื้นเพของการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ที่เรารู้สึกว่า เราอยากจะมีชีวิตชิว ๆ อยากจะพักผ่อนเร็ว ๆ เพื่อที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่โลกในจินตนาการ ถ้าถามว่าโลกในการใช้ชีวิตจริง ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ลำพังเพียงเงินเก็บของคุณ คุณจะพอใช้ชีวิตเฉย ๆ ชิว ๆ ถึง 30 ปีได้หรือเปล่า แต่เรื่องเงินอาจจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญที่สุดก็ได้ เรื่องคุณจะมีชีวิตอยู่อย่างไรด้วยกับการที่มีชีวิตชิว ๆ ในระยะเวลา 30 ปี

ที่สุดแล้ว การเกษียณก่อนวัย สำหรับผมไม่คิดว่ามันมีอยู่จริงทั้งในเชิงปัจเจกและในเชิงระบบ อันนี้เราพูดถึงคนที่เกษียณอายุตัวเองออกมาเฉย ๆ ไม่ได้รวมถึงผู้ที่มีอาชีพอิสระ แต่เราพูดถึงค่านิยมของคนหนุ่มสาวที่บอกว่าอยากเกษียณอายุเร็ว ๆ เราคิดว่าเป็นเรื่องความฝันของคนรุ่นนี้ แต่พอคุณถึงวัยจะเกษียณจริง ๆ ผมไม่เชื่อในเรื่องนี้ ก็อาจจะเป็นเพราะวิธีคิดของคนรุ่นนี้ภายใต้สภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ทำให้นึกคิดว่าอยากจะชิว ๆ ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ในเชิงของการเติบโตและการถูกหล่อหลอมมา ผมถึงไม่กล้าบอกว่ารูปแบบความคิดแบบนี้ สามารถแบ่งออกเป็น Gen ได้หรือไม่ เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่า Gen นี้มีวิธีคิดแบบนี้ทั้งหมด

ค่านิยมกับการดูแลผู้สูงอายุในสังคมไทย

ในมุมมองของคนเอเชีย ก็อาจจะคิดว่า ค่านิยมเรื่องความกตัญญูนี้มีความสำคัญในการที่จะรักษาไว้ แต่แน่นอนว่าความพร้อมมันไม่เหมือนในยุคก่อนแล้ว คือยุคก่อน ๆ พ่อแม่ยังคาดหวังได้ว่า เรามีลูกเพื่อให้ลูกมาดูแลเรา แต่เดี๋ยวนี้มีคนย้อนกลับไปถามว่า คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าลูกของคุณจะมีความสามารถในการเลี้ยงดูคุณได้ หรือแม้กระทั่งไปถามพ่อแม่บางคน ก็อาจจะพูดว่า เดี๋ยวนี้เขาไม่คิดหรอกว่าจะต้องพึ่งพาลูก เขาหวังแค่ว่าให้ลูกรบกวนเขาน้อยที่สุด เพราะว่าความยากของการมีชีวิตมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อน

แต่ถามว่าค่านิยมความกตัญญูแบบนี้ยังควรจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการมีอยู่ในสังคมไทยหรือเปล่า ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นมากในสังคมสูงวัย หรือแม้กระทั่งการเห็นคุณค่าอะไรบางอย่างในตัวผู้สูงอายุด้วยการนับถือในเชิงว่าเขาเป็นผู้สูงอายุในชุมชน ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นมาก เพราะจากที่เราฟังคนอื่นพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัยในแต่ละประเทศ เราจะเห็นเลยว่าสังคมเราโชคดีที่มีค่านิยมนี้อยู่ ที่เป็นสังคมเครือญาติที่เราไม่ได้รู้สึกนับถือว่าเขาเป็นพ่อแม่เราอย่างเดียว เรายังนับถือผู้สูงอายุเพราะเป็นเครือญาติในชุมชน เช่น คุณลุงคนนั้นบ้านใกล้ ๆ เรา ป้าคนนี้ใกล้บ้านเรา เรายังมีลักษณะการนับถือในแบบนี้อยู่ 

นักวิชาการหลาย ๆ คนเขาพูดว่าการนับถือกันในแบบนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทำให้สังคมไทยสามารถรับมือกับสังคมสูงวัยได้ในแบบที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก นั่นคือจุดแข็งของเรา ค่านิยมพวกนี้ถูกเบาบางลงไปมากในสังคมอื่น ทุกคนล้วนคิดว่าเราเสียภาษีแล้ววันหนึ่งรัฐบาลต้องมาดูแลเรา เขาไม่ได้คาดหวังอยู่ที่ลูกหลาน เขาคิดว่ารัฐบาลต้องจัดการดูแล เพราะว่าเขาเสียภาษีอยู่มากแล้ว พอถึงวันหนึ่งแล้วรัฐบาลต้องจ่ายเบี้ยยังชีพหรือเบี้ยอะไรก็ตามให้กับผู้สูงอายุ ในหลายประเทศเช่นในญี่ปุ่นก็เป็นเหมือนกัน ผมฟังคนที่มาจากต่างประเทศเขาพูดกันหมดว่าระบบแบบนี้กำลังจะล้ม เพราะในความเป็นจริงมันเกิดขึ้นไม่ได้เนื่องจากจำนวนมันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ 

และในขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งว่า ทำไมเราต้องเสียเงินเพื่อใช้ดูแลผู้สูงอายุ ลำพังจะมีบ้านสักหลังยังไม่ได้เลย ทำไมต้องมาเสียเงินดูแลคนแก่ด้วย ทำไมไม่เอาเงินไปเดินทาง หรือในบางประเทศจะรู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้อยากอยู่ประเทศตนเองแล้ว ถ้าอยู่ประเทศตนเอง เงินก็จะหมดไปกับการใช้จ่าย สู้ไปใช้จ่ายที่ประเทศอื่นอาจจะดีกว่า จะได้มีความสุขให้กับตนเอง หาความสุขให้กับตนเองได้ เพราะว่าส่วนหนึ่งเราคิดว่าพอค่านิยมในการดูแลผู้สูงอายุต้องถูกสร้างด้วยเงิน ระบบมันเลยล้ม

ระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

ระบบการดูแลผู้สูงอายุในสังคมบ้านเรา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ยังอาศัยความรู้สึกและค่านิยมแบบนี้อยู่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนมากยังรู้สึกว่า คนที่เขาไปดูแลอยู่ไม่ไกลกันมาก ไม่ใช่คนแปลกหน้า อย่างน้อยก็เป็นคนแก่ในชุมชนที่เขาเคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก ผมรู้สึกว่าระบบแบบนี้ที่นับถือค่านิยมความกตัญญู การนับถือเรื่องความเป็นผู้ใหญ่ ยังมีความจำเป็นอยู่ในสังคม

วิธีการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอย่างนี้ ผมคิดว่าพวกนี้คือคำตอบ ลองคิดง่าย ๆ ว่าสมมติไปอยู่หมู่บ้านที่มีแต่คนรวยหมดเลย เขาจ่ายภาษีครบหมดเลยทุกอย่าง แต่พอแต่ละหลังในหมู่บ้านมีคนแก่ คุณจะหมดเงินไปกับการดูแลผู้สูงอายุยังไง คุณก็ต้องจ้างคนดูแลในอัตราที่แพง เดือนละประมาณ 20,000 บาท แต่ถ้าเกิดเป็นรูปแบบที่สังคมรอบ ๆ บ้านยังมีลักษณะเป็นเครือญาติอยู่ ต่อให้เขาไม่ร่ำรวยก็ยังมีคนมาดูแลคุณ มีอาหาร 3 มื้อ อย่างน้อยคุณยังอยู่ได้ อย่างน้อยยังมีคนแวะเวียนมาหาคุณ พาผู้สูงอายุไปอาบน้ำ ในโอกาสพิเศษยังมีคนมารดน้ำดำหัวคุณ ทำให้ปีหนึ่งมีโอกาสพิเศษบ้าง การได้รับคำอวยพรจากผู้สูงอายุ ผู้คนยังรู้สึกว่ายังมีความเป็นมงคล ในสังคมแบบเอเชีย เลยคิดว่าอันนี้เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทยในการทำให้ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระ

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
รอหมูป่าออกจากถ้ำ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ส้วม

วรชัย ทองไทย

70 ปี...NHS

ณปภัช สัจนวกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ครัวเรือนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน,ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th