The Prachakorn

ระบบราชการไทย กับ ประชากร Generation Y: แล้วเราจะดึงดูดเขาได้อย่างไร?


ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

326



การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในตลาดโลกปัจจุบันมีความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อทุก ๆ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งในส่วนของภาครัฐและการบริหารส่วนท้องถิ่นหลายภาคส่วนได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและแข่งขัน โดยการนำแนวคิดใหม่ในการบริหารภาครัฐ เข้ามาประยุกต์ใช้ในระบบการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพในการทำงานและการให้บริการแก่ประชาชน

การสรรหาบุคลากรคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ โดยหลักการสร้างระบบการบริหารให้ทันสมัย ต้องอาศัยข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถสูง มีความริเริ่มที่สร้างสรรค์ และพร้อมที่จะปรับปรุงการปฏิบัติงาน คุณสมบัติข้าราชการศักยภาพสูงนี้ หาได้ไม่ยากจากประชากรไทยรุ่นใหม่ที่เกิดมากับความเพียบพร้อมและความสับสน ตลอดจนความสงสัย “Why Generation” หรือเรียกขานกันว่า ประชากร Generation Y เรียกย่อว่า Gen Y

ประชากร Gen Y ส่วนใหญ่มีแบบฉบับเป็นของตัวเอง คิดเร็ว ทำเร็ว ปรับปรุงเร็ว ชอบความท้าทาย มีการศึกษาสูงขึ้น ให้ความสำคัญกับการจบปริญาโท ไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ใหญ่ มองว่าผู้ใหญ่มีความคิดล้าหลัง (ผู้ใหญ่ในที่นี้คือ ประชากรรุ่นพ่อแม่ ที่เป็นประชากร Generation X เรียกเต็มคำว่า Extraordinary Generation เรียกย่อว่า Gen X เกิดระหว่าง พ.ศ. 2508 ? 2524 และ ประชากรรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ที่เป็นประชากรรุ่น Baby Boomers Generation เรียกย่อว่า Gen B เกิดระหว่าง พ.ศ. 2468 - 2507)

ประชากร Gen Y มีวิถีชีวิตที่ทันสมัย นิยมสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำยุค เช่น BB หรือFacebook เป็นต้น เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในกลุ่มที่มีศักยภาพสูง จะมีโอกาสสูงในการเลือกงาน และมักเลือกที่จะทำงานในอาชีพที่ทันสมัย เงินเดือนlสูง และมีความก้าวหน้าที่รวดเร็ว นอกเหนือจากนี้ ยังชอบที่จะทำงานในอาชีพอิสระ (Freelance) เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ประชากร Gen Y มีมุมมองว่า การทำงานในระบบราชการไม่ได้สะท้อนความเป็นประชากร Gen Y ระบบราชการเป็นระบบการทำงานที่เชื่องช้ามีขั้นตอนมากมาย ไม่ทันสมัย ไม่ท้าทาย และไม่ก้าวหน้า ยิ่งถ้าเป็น บันฑิต Gen Y ที่มีศักยภาพสูง มีโอกาสหรือทางเลือกในการเข้าทำงานมาก การเข้ารับราชการก็จะยิ่งห่างไกลจากทางเลือก

การดึงดูดบัณฑิต Gen Y ที่มีศักยภาพสูงให้เข้าสู่ระบบราชการ จึงเป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วน ศูนย์นักบริหารระดับสูง สำนักงาน ก.พ. จัดให้มีทุนรัฐบาลที่เตรียมสร้างกำลังคนที่มีความสามารถและศักยภาพสูง เข้าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยริเริ่มโครงการดึงดูดนิสิตนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรีปีที่ 3 เทอม 2 ของสถาบันการศึกษาในประเทศ มีผลการเรียนดี ศึกษาในวิชาที่กำหนด และยังเตรียมไปถึงการศึกษาในระดับปริญญาโท หลังจากผู้รับทุนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและบรรจุเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เลือกไว้เป็นเวลา 2 ปี ทุนศึกษาต่อปริญญาโทนี้ สามารถเลือกศึกษาต่อได้ในมหาวิทยาลัยทั้งในหรือต่างประเทศ นอกเหนือจากนี้ ผู้ได้รับทุนจะมีความมั่นคงในอาชีพรับราชการ ได้รับสวัสดิการตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงเกษียณ และสวัสดิการการรักษาพยาบาลยังคุ้มครองถึงบุคคลในครอบครัวของข้าราชการ ข้อสำคัญ ส่วนราชการที่เป็นภาคีเครือข่ายกับทุนนี้ ยังได้เตรียมแผนพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพให้กับผู้รับทุน เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเติบโตสู่ระดับผู้บริหารองค์กรต่อไป

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ พบว่า ประชากร Gen Y ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3 และ ปีสุดท้ายของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ยืนยันว่า การทำงานในระบบราชการไม่ได้สะท้อนความเป็นประชากร Gen Y การทำงานในระบบราชการไม่ท้าทายความสามารถ ซ้ำยังเป็นการบั่นทอนความท้าทาย แม้ว่าการรับราชการจะได้รับสวัสดิการที่ดีและคุ้มครองไปถึงคนในครอบครัว และเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ประชากร Gen Y โดยเฉพาะผู้ที่มีศักยภาพสูง ก็จะเลือกทำงานอื่น ที่ไม่ใช่การเข้ารับราชการ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า สิ่งดึงดูดที่โครงการสรรสร้างมาเพื่อบัณฑิต Gen Y ที่มีศักยภาพสูงนี้ สามารถดึงดูดความสนใจของประชากรกลุ่มนี้ได้ดีทีเดียว พวกเขาให้ความเห็นถึงสิ่งจูงใจในลำดับแรก ๆ เกี่ยวกับการมีโอกาสได้รับทุนศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ และการรับราชการมีความมั่นคงในอาชีพ ซึ่งสะท้อนว่า ประชากร Gen Y เห็นประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าเจตนรมณ์หลักของการรับราชการที่มุ่งเน้นการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม

การดึงดูดบัณฑิต Gen Y ที่มีศักยภาพสูง เข้าสูระบบราชการ นอกเหนือจากต้องการส่งเสริมให้ระบบราชการมีการบริหารที่ทันสมัยเพื่อทันต่อการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันในตลาดโลกแล้ว การดึงดูดนี้ ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้บัณฑิต Gen Y เกิดความต้องการร่วมไปกับอุดมการณ์ในการเข้ารับราชการ การสร้างแรงบันดาลใจเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าสามารถเข้าถึงแนวคิด ปรัชญา และวิถีชีวิตของ Gen Y ได้ก็จะไม่ใช่เรื่องยาก

ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนที่เป็นวิถีชีวิตของ Gen Y การสร้างภาพลักษณ์เพื่อดึงดูดการเข้ารับราชการของ Gen Y ด้วยสื่อล้ำสมัย โดยสอดแทรกเนื้อหาข้าราชการ Gen Y ต้นแบบ ที่รับราชการด้วยระบบที่รวดร็ว ท้าทาย และมีความก้าวหน้า ทั้งของตนเอง และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ น่าจะเป็นวิธีการดึงดูดที่ได้ผล


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th