The Prachakorn

มารู้จักวัคซีนโควิด 19


มนสิการ กาญจนะจิตรา

15 มกราคม 2564
617



โลกเราเผชิญกับโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบ 100 ปี อย่างโควิด 19 มาครบ 1 ปีพอดี ความหวังของคนส่วนใหญ่จึงพุ่งไปที่การพัฒนาวัคซีนที่น่าจะช่วยทำให้การแพร่ระบาดลดลงและเราจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด 19 สักหน่อย ว่าตอนนี้มีการพัฒนาอยู่กี่ชนิด และวัคซีนจะช่วยป้องกันเราจากไวรัสนี้ได้มากน้อยเพียงใด

ทำความเข้าใจวัคซีนโควิด 19 ว่าคืออะไร

ร่างกายเรามีกลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคอยู่แล้ว คือ เม็ดเลือดขาว โดยเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • Macrophages เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่กินหรือย่อยเชื้อโรคหรือเซลล์ที่ตายแล้ว เมื่อกินหรือย่อยเชื้อโรคแล้ว macrophages จะปล่อยชิ้นส่วนของเชื้อโรคนั้นออกมา เรียกว่า antigen ซึ่งร่างกายจะจดจำว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และร่างกายจะสร้าง antibody ขึ้นมาเพื่อต่อสู้
  • B-lymphocytes หรือ B-Cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า antibody เพื่อต่อสู้กับชิ้นส่วนของเชื้อโรคที่ปล่อยออกมาจาก macrophages
  • T-lymphocytes หรือ T-Cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวอีกชนิด ซึ่งมีหน้าที่หลักในการหาเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเชื้อโรคต่าง ๆ และกำจัดมัน T-Cell มีส่วนช่วยระบบภูมิคุ้มกันให้ "มีความทรงจำในระยะยาว" และจะเพิ่มจำนวนได้เร็วขึ้น และตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้นเมื่อศัตรูตัวเดิมกลับเข้ามาในร่างกาย

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้ามา กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคก็จะเริ่มขึ้น ซึ่งสำหรับเชื้อโคโรน่าไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด 19 เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ อาจต้องใช้เวลาหลายวัน หรืออาจเป็นสัปดาห์กว่าที่กลไกเหล่านี้จะสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้สำเร็จ เมื่อหายจากการเจ็บป่วย ร่างกายจะมีภูมิต้านทาน ซึ่งก็คือร่างกายจะเก็บ T-Cell ไว้ เรียกว่า “memory cell” คือ จะจดจำเชื้อโรคตัวนั้นที่เข้ามาในร่างกาย ถ้าหากได้รับเชื้อตัวเดิมอีกระบบภูมิคุ้มกันก็จะทำงานเพื่อต่อสู้ได้ทันที ไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนเมื่อได้รับเชื้อครั้งแรก

วัคซีนโควิด 19 ทำหน้าที่ในการช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานนี้ขึ้นมาได้โดยไม่ต้องติดเชื้อจริง ๆ โดยให้ร่างกายมี T-Cell หรือ memory cell ที่จดจำเชื้อโควิด 19 ไว้ ถ้าหากเกิดได้รับเชื้อขึ้นมาก็จะรู้ว่าต้องต่อสู้กับเชื้อนั้นอย่างไรได้ทันที

วัคซีนโควิด 19 มีกี่ชนิด และทำงานอย่างไร

วัคซีนโควิด 19 ณ ขณะนี้ที่มีผลการทดลองระยะที่ 3 และได้รับการรับรองให้สามารถฉีดป้องกันในมนุษย์ได้แล้ว มี อยู่จาก 6 หน่วยงาน คือ

หน่วยงาน Platform สถานะ ประสิทธิผล จำนวนโดส และการเก็บรักษา
Pfizer-BioNTech mRNA อนุมัติในแคนาดาและประเทศอื่น ๆ
ใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ
ชื่อวัคซีน: Comirnaty (ชื่ออื่น ๆ tozinameran or BNT162b2 )
ประสิทธิผล: 95%
จำนวนโดส: 2 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์
ประเภท: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
การเก็บรักษา: –70°C
Moderna mRNA อนุมัติในแคนาดา
ใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอิสราเอล
ชื่อวัคซีน: mRNA-1273
ประสิทธิผล: 94.5%
จำนวนโดส: 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์
ประเภท: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
การเก็บรักษา: 30 วันในตู้เย็น 6 เดือนที่อุณหภูมิ –20°C
Gamaleya Viral vector Ad26, ad5 เริ่มใช้ในรัสเซีย
ใช้ในกรณีฉุกเฉินในเบลารุส และประเทศอื่น ๆ
ชื่อวัคซีน: Sputnik V (ชื่ออื่น ๆ Gam-Covid-Vac)
ประสิทธิผล: 91.4%
จำนวนโดส: 2 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์
ประเภท: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
การเก็บรักษา: ในช่องแช่แข็ง
Oxford-AstraZenaca Viral vector ChAdOx1 ใช้ในกรณีฉุกเฉินในประเทศอังกฤษ อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ชื่อวัคซีน: AZD1222 (ชื่ออื่น ๆ Covishield ในประเทศอินเดีย)
ประสิทธิผล: 62% ถึง 90% ขึ้นอยู่กับจำนวนโดส
จำนวนโดส: 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์
ประเภท: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
การเก็บรักษา: ในตู้เย็นอย่างน้อย 6 เดือน
Sinopharm Inactivated อนุมัติในประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน
ใช้ในกรณีฉุกเฉินในอียิปต์
ชื่อวัคซีน: BBIBP-CorV
ประสิทธิผล: 79.34%
จำนวนโดส: 2 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์
ประเภท: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
Sinovac Inactivated ใช้ในบางกรณีในประเทศจีน ชื่อวัคซีน: CoronaVac (ชื่อเดิม PiCoVacc)
ประสิทธิผล: น้อยกว่า 78%
จำนวนโดส: 2 โดส ห่างกัน 2 สัปดาห์
ประเภท: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
การเก็บรักษา: ในตู้เย็น

ที่มา: Carl Zimmer, Jonathan Corum and Sui-Lee Wee, Coronavirus Vaccine Tracker. Updated Jan. 9, 2021 Available at: https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html. Access on January 11, 2021

วัคซีนแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร

การผลิตวัคซีนใช้วิธีการแตกต่างกัน โดยมี 3 platform คือ mRNA viral vector และ inactivated

  • mRNA vaccine เป็นการนำยีนของโมเลกุลของไวรัส ที่เรียกว่า messenger RNA มาผลิตวัคซีน ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย เซลล์จะสร้าง spike protein ขึ้นมา เมื่อร่างกายมี spike protein ก็จะสร้างระบบภูมิคุ้มกันคือ B-Cell และ T-Cell ที่จะจดจำที่จะต่อสู้กับไวรัสได้
  • Viral vector vaccine เป็นวัคซีนที่มีการตัดต่อยีนของเชื้อโคโรน่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด 19 เข้าไปในไวรัสอื่นที่ไม่ใช่โคโรน่าไวรัส ซึ่งเรียกว่า viral vector เมื่อร่างกายได้รับ viral vector เข้าไป เซลล์จะสร้างโปรตีนที่เฉพาะกับโคโรน่าไวรัส ซึ่งจะทำให้ร่างกายสร้าง B-Cell และ T-Cell ที่จะจดจำไวรัสเพื่อไว้ต่อสู้กับไวรัสที่หากร่างกายได้รับในอนาคต
  • Inactivated vaccine คือวัคซีนที่ทำจากเชื้อโคโรน่าไวรัสที่ตายแล้ว เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย ก็จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโดยไม่ทำให้เกิดโรค

วัคซีนทางการแพทย์ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เรายังต้องใช้วัคซีนทางสังคม (Social vaccine) ต่อไป

จะเห็นว่าวัคซีน ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่เป็นการสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ทำให้เมื่อเราติดเชื้อขึ้นมา ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว การเจ็บป่วยก็จะน้อยลง นอกจากนี้ วัคซีนของทุกบริษัท ต้องฉีด 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 2-4 สัปดาห์ ถึงจะมีภูมิต้านทาน และประสิทธิผลของวัคซีน ยังไม่มีบริษัทไหนที่ได้ผล 100% ดังนั้น ถึงแม้เราจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่การป้องกันตนเองโดยการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อย ๆ การรักษาระยะห่าง จึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็น


อ้างอิง

  • Carl Zimmer, Jonathan Corum and Sui-Lee Wee, Coronavirus Vaccine Tracker. Updated Jan. 9, 2021 Available at: https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html
  • Centers for Disease Control and Prevention. COVID-19 Vaccines. Available at: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/index.html
  • World Health Organization. Covid-19 Vaccines. Available at: https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/covid-19-vaccines

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th