The Prachakorn

ไปไหน?.....ไปเที่ยวสิ


ประทีป นัยนา

04 กุมภาพันธ์ 2564
979



“ไปเที่ยว” เป็นคำกริยาที่ทุกคนในปัจจุบันนึกภาพออกว่าจะทำอะไร การที่คนเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ การไปเที่ยวชมสถานที่สวยงามหรือทัศนียภาพแปลก หรือเดินซื้อสิ่งของต่าง ๆ และเป็นที่รู้กันว่าใน 4-5 ปีมานี้การท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในบางปีการเติบโตของการท่องเที่ยวนับเป็นครึ่งหนึ่งของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเลยทีเดียว ในขณะที่การท่องเที่ยวบูม แต่ทำไมคนจำนวนมากของประเทศไม่ได้รู้สึกอะไรเท่าไร1  นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะคนหมู่มากไม่เคยคิดมาก่อน นึกถึงแต่ความสนุก และปัจจัยในความพร้อมของแต่ละบุคคลที่จะไปท่องเที่ยวเท่านั้นที่มีความแตกต่างกันออกไป เช่น อายุ ขั้นตอน วัฏจักรชีวิตครอบครัว อาชีพ โอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา และค่านิยม ฯลฯ

นับแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 การท่องเที่ยวได้หยุดชะงักลงจากการระบาดของโควิด 19 สถานการณ์ยังคงระบาดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (มกราคม พ.ศ. 2564)  ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในไตรมาส 1/2563 ลดลงร้อยละ 38.01 เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยคนไทย (ไทยเที่ยวไทย) ที่หดตัวลงร้อยละ 30.77 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายของผู้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลงร้อยละ 31.532  แต่เหตุการณ์นี้คงไม่เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น ยังคงมีเพื่อนร่วมโลกร่วมชะตากรรมกับการระบาดของโควิด 19 นี้ด้วย จึงได้นั่งคิดทบทวนดูว่า การท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่คู่กับประเทศไทยจริงๆ  ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า ทำไมมนุษย์ถึงได้ท่องเที่ยว ประเทศใดในโลกนี้ได้ท่องเที่ยวอย่างไร และเมืองไทยการท่องเที่ยวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จึงทำให้การท่องเที่ยวนี้เป็นสิ่งขับเคลื่อนของเศรษฐกิจของประเทศได้มากมายและเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงทางด้านท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งต่างจากสมัยอดีตที่ได้เล่าเรียนตอนชั้นประถมต้นเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ ยางพารา เลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพหลักของประเทศ

มาลองนึกย้อนไปด้วยกันว่า กำเนิดการท่องเที่ยวของมนุษย์ในโลกใบนี้มีที่มาอย่างไร จึงได้มีวิวัฒนาการเจริญได้สูงสุดในขณะนี้ ถ้าประเทศใดในโลกนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้าสู่ประเทศได้ เศรษฐกิจของประเทศนั้นย่อมจะเติบโตและสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาล

กำเนิดการท่องเที่ยวในยุโรป3 

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 2,600 ปีมาแล้ว
(1)  อาณาจักรบาบิโลน (Babylonian Kingdom) และอาณาจักรอียิปต์ (Egyptian Kingdom) มีการจัดการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ (Historic Antiquities) 2600 ปีมาแล้วในอาณาจักรบาบิโลน มีการจัดงานเทศกาลทางด้านศาสนา มีการพบหลักฐานจากข้อความที่นักเดินทางเขียนไว้ที่ผนัง หรือสิ่งก่อสร้าง
(2) จักรวรรดิกรีกและจักรวรรดิโรมัน การท่องเที่ยวสมัยกรีก เป็นการปกครองแบบนครรัฐ (City State) ทำให้ไม่มีผู้นำสั่งการให้สร้างถนน จึงนิยมเดินทางทางเรือ สถานที่ที่เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเทพเจ้า  เดินทางเพื่อแสวงหาความรู้ มีนักปราชญ์เป็นจำนวนมาก เช่น อริสโตเติล พลาโต การท่องเที่ยวสมัยโรมัน เป็นนักสร้างถนนที่ยิ่งใหญ่ ผลงานที่มีชื่อเสียงว่าเป็นถนนที่ก่อสร้างได้ดีที่สุดก็คือ Appian Way  ซึ่งเป็นถนนหลวงสายหลักที่เชื่อมต่อไปยังประเทศกรีกและดินแดนภาคตะวันออก สามารถเดินทางเป็นระยะทางยาวถึง  73 ไมล์ จากกำแพงเฮเดรียน (Hadrian  Wal) ในอังกฤษไปจนถึงลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีส (Euphrates  River) ตลอดเส้นทางการเดินทางจึงกล่าวได้ว่า ชาวโรมันเป็นนักสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวที่ดีที่สุดของโลกชาติหนึ่ง (ทั้งระบบการติดต่อขนส่งและการสื่อสาร) และสมัยโรมันเป็นสมัยที่การท่องเที่ยวรุ่งเรืองที่สุดในยุคโบราณ จนมีนักวิชาการปัจจุบันกล่าวว่า “แม้ว่าชาวโรมันจะมิใช่ชาติแรกที่เดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ เพื่อความเพลิดเพลินก็ตาม แต่ชาวโรมันก็เป็นชนชาติแรกที่แท้จริงที่สร้างวัฒนธรรมการท่องเที่ยวระบบมวลชนเป็นครั้งแรก”

ยุคกลางหรือยุคมืด (Middle Age or Dark Age)  ค.ศ. 500-1500 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ศาสนาเข้ามามีบทบาทในการกำหนดการดำเนินชีวิตของผู้คน วันหยุด (Holy Days) เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนชั้นกลางและชั้นสูงนิยมเดินทางเพื่อแสวงบุญ ลักษณะสำคัญของการท่องเที่ยวในยุคนี้คือ เกิดการพัฒนาทางด้านการค้า ผู้คนเริ่มใฝ่รู้เกี่ยวกับเรื่องของยุโรปสมัยก่อน โดยเฉพาะชาวอังกฤษที่ร่ำรวย นิยมส่งบุตรชายออกเดินทางไปต่างประเทศพร้อมกับผู้สอนประจำตัว (Travelling Tutors) เป็นระยะเวลา 3 ปี เรียกว่าแกรนด์ทัวร์ (Grand Tour) โดยมีจุดมุ่งหมายที่ประเทศอิตาลี อาจเรียกแกรนด์ทัวร์ว่าเป็นการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาก็ได้

ยุคปัจจุบัน (ค.ศ.1500 – 2000) สังคมเริ่มเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม เกิดการล่าอาณานิคมขึ้น ที่พักแรมได้รับการพัฒนากลายมาเป็นโรงแรม การโยกย้ายถิ่นฐานไปยังดินแดนใหม่ๆ นอกยุโรป อาทิ อเมริกา มีการพัฒนาประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ กับเรือกลไฟแบบกังหันข้างผสมใบ ทำให้เกิดการเดินทางได้เร็วขึ้น มีการพัฒนากิจการรถไฟ และในปี ค.ศ. 1841 โทมัส คุก (Thomas Cook) ได้จัดนำเที่ยวทางรถไฟแบบครบวงจรเป็นครั้งแรกที่อังกฤษ ในขณะที่เฮนรี เวลส์ (Henry Wells) ก็จัดกิจการนำเที่ยวขึ้นในอเมริกาเช่นกันการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ความสะดวกสบายมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง ที่พักแรม เงินตรา เอกสารการเดินทาง ผู้คนหันมานิยมการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ทำให้การเดินทางด้วยรถไฟลดน้อยลง พัฒนาของอุตสาหกรรมการบิน ที่เริ่มขึ้นในยุโรป ปี ค.ศ. 1919 และเริ่มขนส่งผู้โดยสาร ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางการสงคราม

พบว่าวิวัฒนาการของการท่องเที่ยวของยุโรปนั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรบาบิโลน  (Babylonian Kingdom)  อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ในยุคเมโสโปเตเมียโบราณ (Mesopotamia) ได้รับการรับรองขึ้นเป็นพื้นที่มรดกโลก ปีพ.ศ. 2562 การคงอยู่ของเมืองบาบิโลนนี่เองที่เป็นหลักฐานชั้นเยี่ยมของความรุ่งเรืองในอดีตกาล คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การ การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรองนครบาบิโลน อาณาจักรเมโสโปเตเมียโบราณ อายุ 4,000 ปี ขึ้นเป็นพื้นที่มรดกโลก เมื่อ 6 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2562 นับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ดินแดนเมโสโปเตเมีย ซึ่งรัฐบาลอิรักประกาศว่าจะจัดงบประมาณสำหรับการบำรุงรักษาและอนุรักษ์บาบิโลนอย่างจริงจัง4  ได้มีการจัดตั้งองค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) เมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน มีสมาชิกจำนวน 157 ประเทศ และได้กำหนดให้ทุกวันที่ 27 กันยายนของทุกปีเป็นวันท่องเที่ยวโลก

วิชัย เทียนถาวร. (2561).  สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจยุคแบบตะวันตกในรัชกาลที่ 5-7 สืบค้นเมื่อ 2 กพ.2564 https://www.matichon.co.th/columnists/news_1121421

กำเนิดท่องเที่ยวในประเทศไทย5

สมัยสุโขทัย (พ.ศ.1784-1891) ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ในช่วงเวลาเดียวกับยุคสมัยอาณาจักรล้านนารุ่งเรืองทางตอนเหนือ มีพระร่วงเจ้าหรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรก มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงสุโขทัย หรือจังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน ได้มีการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักร มีการเดินทางเป็นไปอย่างอิสรเสรี ส่วนมากเป็นไปเพื่อการค้าขาย และทางศาสนา ส่วนมากเป็นการเดินทางภายในประเทศเท่านั้น

สมัยอยุธยา (พ.ศ.1893-2310) เนื่องจากเป็นอาณาจักรใหญ่ และระบบสังคมเป็นแบบศักดินา ผู้คนไม่ค่อยมีอิสระในการเดินทางมากนัก นอกจากไปเพื่อการค้าเล็กๆ น้อย ส่วนด้านการเดินทางเพื่อการพักผ่อน ไม่ค่อยปรากฏ เพราะประชาชนส่วนมากมีเวลาว่างไม่มากนัก มักจะอยู่กับบ้านมากกว่า มีปรับปรุงเส้นทางทางน้ำเพื่อการคมนาคม ตลอดจนเส้นทางทางบกเพื่อความสะดวกสบายทางด้านการค้าเป็นหลัก การเดินทางกลุ่มคนในสมัยอยุธยามักจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในชนชั้นปกครอง ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาขุนนางทั้งหลาย ในบางครั้งอาจจะมีไพร่ทาสติดตามไปเพื่อรับใช้เช่นกัน ในประมาณปี ค.ศ.1511 โปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามายังอาณาจักรอยุธยา ตามมาด้วยญี่ปุ่น อังกฤษ สเปน ฮอลันดา ฝรั่งเศส ผลจากการเข้ามาของชาวต่างชาติในสมัยอยุธยา  ทำให้เกิดความเป็นนานาชาติในพระนครศรีอยุธยามากขึ้น ทำให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ทั้งของตะวันตกและของไทย ที่น่าสนใจคือมีบันทึกการเดินทางของชาวตะวันตกที่เขียนเอาไว้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ การเดินทาง สถานที่ต่างๆ ในอาณาจักรอยุธยา แล้วนำกลับไปตีพิมพ์เผยแพร่ที่ตะวันตก ก่อให้เกิดการเดินทางเข้ามายังเอเชียและอยุธยามากขึ้น ในฐานะที่อยุธยาเป็นดินแดนของสินค้าของป่า เครื่องเทศ ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถสร้างกำไรให้มหาศาลแก่พ่อค้าชาวตะวันตก กล่าวได้ว่าอาณาจักรอยุธยารุ่งเรืองมากทั้งทางด้านศิลปวิทยากร วัฒนธรรม ประเพณี บ้านเมืองร่ำรวย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  มีการแลกเปลี่ยนคณะทูตานุทูตระหว่างอยุธยาและชาติต่างๆ หลายครั้ง วรรณคดีที่เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงการเดินทางไปยังต่างแดนที่มีชื่อเสียงคือ นิราศฝรั่งเศส ของโกษาปาน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์  หลังสมัยสมเด็จพระนารายณ์ การค้าขายติดต่อกับชาติตะวันตกลดน้อยลง หันไปค้าขายกับจีนมากขึ้น  และพยายามพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการส่งสมณทูตไปเผยแผ่ศาสนาโดยทั่วไป ที่สำคัญคือเคยมีการส่งคณะสมณทูตไปยังลังกาทวีป

สมัยธนบุรี (พ.ศ.2310-2325) เป็นความพยายามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่จะฟื้นฟูความเป็นอยุธยาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โครงสร้างของบ้านเมือง วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ จะคล้ายกับในสมัยอยุธยา

สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325-ปัจจุบัน) ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 2 ทรงทำนุบำรุงทางด้านศิลปวัฒนธรรม และพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศ รัชกาลที่ 3 บ้านเมืองเปิดการค้าขายกับต่างชาติ รัชกาลที่ 4 ทรงพยายามทำให้บ้านเมืองมีความทันสมัยตามแบบตะวันตก มีการสร้างที่พัก ร้านอาหารตามแบบตะวันตกเกิดขึ้นหลายแห่ง รัชกาลที่ 5 ทรงปรับปรุงบ้านเมืองในทุกๆ ด้าน เช่น มีการสร้างทางรถไฟ เรือกลไฟ มีการเลิกทาสเลิกไพร่ ทำให้คนมีเสรีภาพในด้านต่างๆ มากขึ้น ทรงปรับปรุงบ้านเมืองในทุกด้าน มีการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งต่างประเทศหลายครั้ง มีการออกไปศึกษาต่อต่างประเทศมากขึ้น ที่เด่นชัดที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากการเสด็จประพาสหัวเมืองแล้ว รัชกาลที่ 5 และเจ้านายต่างๆ ยังเสด็จประพาสต่างประเทศตั้งแต่เมืองอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า มลายู สิงคโปร์ ชวา อินเดีย ไปถึงประเทศในยุโรปและรัสเซีย ไม่เพียงเจ้านายคนชั้นสูงเท่านั้นที่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยว และสามัญชนคนทั่วไปได้เดินทางไปเที่ยวยังแดนไกลมากขึ้นด้วย เช่น นายศรีโหม้ จากเมืองเชียงใหม่ไปสหรัฐอเมริกากับหมอสอนศาสนาคริสเตียน ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นเสมียนห้างฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 46  อยู่ 15 ปี ระหว่างทํางานห้างฝรั่ง ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนในอัตชีวประวัติว่า “นายห้าง พาไปเที่ยวตรวจสินค้าจะนํามาขาย” ยังต่างประเทศ ได้ไปสิงคโปร์ ปีนัง สุมาตรา มานิลา ปัตะเวีย มะกาว ฮ่องกง กาละ กะตะ อินเดีย หลายเมือง ตลอดในประเทศยุโรปด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก.ศ.ร. กุหลาบไปเป็นล่ามให้หลวงนายสิทธิ (จุ) ไปซื้อของยังเมืองจีนเพื่อมาทำเมรุพระศพพระนางเจ้าสุนันทาฯ อีกด้วย การไปเที่ยวดังกล่าวนั้นอาจถือได้ว่าเป็นการไปทำธุระหรือไปราชการงานเมืองเป็นหลักมากกว่าการไปเที่ยวเพื่อความสําราญใจหรือเพื่อไปพักผ่อนอย่างที่เราคุ้นเคยกันในสมัยต่อมา

รัชกาลที่ 6 มีการปรับปรุงสายการเดินรถไฟ มีการสร้างถนนหนทาง สรุปแล้ววิวัฒนาการทางการท่องเที่ยวไทยช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะได้รับการพัฒนาและสนับสนุนจากชนชั้นปกครอง แล้วค่อยขยายลงสู่ภาคประชาชนหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัชกาลที่ 7 เกิดสภาวะบ้านเมืองไม่อยู่ในความสงบ และพระองค์ก็มีพลานามัยที่ไม่ค่อยแข็งแรง จึงมีการเสด็จประทับตากอากาศที่หัวหิน ทำให้มีการสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพ-หัวหิน เพื่อส่งเสริมการพักตากอากาศ รัชกาลที่ 8 – ปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนอำนาจการบริหารประเทศมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาลจอมพล ป. ให้การสร้างโรงแรมขึ้นอีก 3 แห่งเพื่อต้อนรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยสมัยนั้นเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว จึงได้จัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) จัดตั้งในปี พ.ศ. 2503 พร้อมกันนั้นได้มีการจัดตั้งบริษัทการบินไทย เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยทางด้านการเดินทางคมนาคม และได้เปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ของ “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” เป็น “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ใช้ชื่อย่อว่า “ททท.”

ปัจจุบัน ททท.สามารถปฏิบัติงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของประเทศได้เจริญรุดหน้าอย่างเป็นที่น่าพอใจ จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยเพียงประมาณ 8 หมื่นคนในปี พ.ศ. 2503 กระทั่งถึงปัจจุบันนี้จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 39.79 ล้านคน (มกราคม - ธันวาคม 2562)7  การท่องเที่ยวก็ขยายตัวเติบใหญ่ กลายเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ยืนยงมานับสิบปีต่อเนื่องกัน และวันนี้ประเทศไทยได้ก้าวสู่ความเป็น Hub หรือสถานีกลางสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทรรศนะเรื่องการไปเที่ยวดังกล่าว น่าจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการใหม่ในโลกทรรศน์ของคนไทย ที่มีต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน ที่ไม่เหมือนกับคติไทยโบราณอีกต่อไป เวลาว่างการไปเที่ยวและความสุขสําราญได้เริ่มกลายเป็นสิ่งมีประโยชน์  มีคุณ (มากกว่าโทษ) ต่อคนไทย (ชั้นสูงก่อน) โดยเฉพาะต่อปัจเจกชนที่เริ่มเติบโตในสังคมเมืองสมัยใหม่หรือสังคมกระฎุมพี ที่ความรู้จากการปฏิบัติของตนเอง เริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือของความก้าวหน้าและความดีได้8

รูปโดย จีรวรรณ หงษ์ทอง

 

คำทักทายของคนไทย จะไปไหนล่ะ? ไปเที่ยวสิ....ได้หยุดลงอย่างกะทันหัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรายงานของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่า กรณีที่มีการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัดรายรับการท่องเที่ยวโลกจะลดลง 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทวีปเอเชียจะได้รับผลกระทบสูงสุด9  สถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่อาจคาดเดาได้ แต่ทุกคนมีความหวังในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 คนส่วนใหญ่ต้องมีการปรับตัว  และสิ่งที่จะอยู่คู่กับมนุษย์ในยุคนี้ที่เพิ่มมาอีกปัจจัยหนึ่งที่นอกจากโทรศัพท์มือถือที่ทุกวันนี้ขาดไม่ได้  คือหน้ากากปิดหน้า (mask) และยังนึกภาพในอนาคตไม่ออกว่าอีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า เราหรือท่านจะต้องเจอกับอะไรอีก และจะมีอะไรที่ต้องพกพาอะไรติดตัวเพิ่มอีกเพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า และเมื่อพิษของโควิด-19 ที่ป้องกันหรือเบาบางลง การท่องเที่ยว หรือการเที่ยวของเราต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่อีกครั้ง แต่จะไปในทิศทางใด มาเฝ้าดูกันต่อไป......

รูปโดย ชาลินี เสือกลับ


  1. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย. (2518). การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย. เข้าถึงเมื่อ 25 มกราคม 2564 https://www.the101.world/tourism-and-thai-economy
  2. อนันต์ วงศ์เบญจรัตน์. (2563). Covid-19 กับผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย สถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศไทย ไตรมาส 1/2563. เข้าถึง 25 มกราคม 2564. รายงานภาวะเศรษฐกิจการท่องเที่ยวม 1(14), 3-4.
  3. เจษฎา_ขวัญเมือง, ดวงกลม รามณู,รัตนากรณ์_ปรีดาสุทธิจิตต์ และวรรณิศา_ทยราษฐ์. (2011).  วิวัฒนาการของการท่องเที่ยว. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564. https://touristbuu.wordpress.com/about/
  4. บาบิโลน เมืองโบราณมรดกโลก เปิดอาณาจักรเมโสโปเตเมีย (2562). https://travel.trueid.net/detail/LqNxGvlA4gzo
  5. เจษฎา_ขวัญเมือง, ดวงกลม รามณู, รัตนากรณ์ ปรีดาสุทธิจิตต์ และวรรณิศา_ทยราษฐ์. (2011).  วิวัฒนาการของการท่องเที่ยว. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564. https://touristbuu.wordpress.com/about/
  6. ก.ศ.ร. กุหลาบ มีนามว่า กุหลาบ ตฤษณานนท์ เกิดในปี พ.ศ. 2377 เมื่ออายุได้สี่ขวบ พระองค์เจ้ากินรี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอไปเป็นบุตรบุญธรรมเด็กชายกุหลาบได้ใช้ชีวิตอยู่ในวังหลวงอยู่จนกระทั่งโกนจุก ก็ย้ายออกมาอยู่นอกเรือนในฐานะมหาดเล็กวังนอก งานหนังสือของเขาส่วนใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พงศาวดาร และชีวประวัติบุคคลสำคัญต่างๆ ก.ศ.ร. กุหลาบ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2464 รวมอายุได้ 87 ปี สืบค้นจาก http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1343.0
  7. ข่าวบีบีซี (BBC New Thai). (2020). โคโรนา: เครษฐกิจไทยจะไปได้แค่ไหนในไตรมาส 1 หลังไวรัสโควิด-19. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564. https://www.bbc.com/thai/thailand-51500412
  8. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2563) คนไทยเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์. 2564. https://www.silpa-mag.com/history/article_37875
  9. เสาวณี จันทะพงษ์ และ ทศพล ต้องหุ้ย. (2563). ผลกระทบวิกฤต COVID-19 กับเศรษฐกิจโลก: This Time is Different. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564. https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_18Mar2020.aspx

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เที่ยวทิพย์ในยุค New normal

สุภรต์ จรัสสิทธิ์

โสดมาราธอน

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th