The Prachakorn

ประสบการณ์การใช้บริการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น


น้ำส้ม เรืองริน

29 มีนาคม 2564
1,162



 “แต่งตัวแบบนี้มา มีตังค์ป่าวเนี่ย สะโพกหักแบบนี้ ค่าผ่าอย่างน้อยสองแสนนะ”

นี่คือคำพูดที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ หลังจากที่พ่อของผู้เขียนกระดูกสะโพกแตก เรียกปอเต๊กตึ๊งให้ช่วยไปส่งที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด ณ ปี 2560

คนไทยที่อยู่ในฐานะชนชั้นกลางหรือต่ำกว่านั้น เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มักถูกบอกให้ทน เนื่องจากคนยากจนนั้นมักไม่ได้ซื้อประกัน หรืออาจไม่รู้ถึงสิทธิตัวเองว่าสามารถใช้สวัสดิการอะไรของรัฐได้บ้าง ถ้าเป็นอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บที่ถึงขั้นต้องผ่าตัด บางคนอาจทำใจไม่ผ่า หรือไม่ก็ประกาศขอบริจาคค่ารักษาจากโซเชียล ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

แต่ในประเทศอื่น ๆ นั้นมีระบบสุขภาพที่แตกต่างจากบ้านเราอย่างไร?

วันนี้ผู้เขียนจะมาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น

ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า ตัวผู้เขียนเองได้ทุนมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น อยู่ที่นี่มาโดยรวมแล้วประมาณ 9 ปี แต่ตัวผู้เขียนเองนั้นเพิ่งทำความรู้จักกับระบบสุขภาพของญี่ปุ่นอย่างจริง ๆจัง ๆ ก็เมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อสิ้นปี 2563 ผู้เขียนเพิ่งได้รับการผ่าตัดเอ็นข้อเท้า (Ligament) ที่บาดเจ็บจากการที่ขาแพลงเป็นประจำมานานหลายปี ตอนมาอยู่ที่ญี่ปุ่นช่วงปีแรกๆ ผู้เขียนตกบันได แต่ไม่ได้ไปหาหมอ เพราะคิดว่าค่ารักษาน่าจะแพงอย่างเมืองไทย แต่ในความเป็นจริง ประชากรทุกคนรวมทั้งคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นระยะยาวนั้นจะต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance : 国民健康保険) ซึ่งค่าประกันรายเดือนจะคิดตามรายได้ของเรา เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักศึกษาอยู่ในเกณฑ์คนที่มีรายได้ต่ำ ก็จะเสียเพียงเล็กน้อย หากปีไหนทำงานพาร์ทไทม์เยอะมีรายได้มากขึ้น ปีต่อมาค่าประกันสุขภาพก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลทั่วไปในแต่ละครั้งนั้น ตัวผู้เขียนเองอยู่ในเกณฑ์บุคคลทั่วไป1 ซึ่งจะต้องจ่ายเพียง 30% ของค่ารักษาทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ปวดท้องไปหาหมอ หากราคาเต็มของค่าหมอค่ายาอยู่ที่ 10,000 เยน (3,000 บาท)  ผู้เขียนจะต้องจ่ายจริงแค่ 3,000 เยน (900 บาท ) ยิ่งไปกว่านั้น ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของที่นี่ครอบคลุมถึงการรักษาฟันด้วย ผู้เขียนเคยไปผ่าฟันคุดพร้อมทำความสะอาดฟัน ตอนที่นั่งรอจ่ายเงินก็ใจเต้นตุบ ๆ ว่าจะต้องเสียเท่าไหร่ (เพราะถ้าไปคลินิกทันตกรรมใกล้บ้านที่เมืองไทยผ่าซี่หนึ่งขั้นต่ำก็ 3,000 บาทแล้ว) ปรากฏว่ารวมค่ายาเบ็ดเสร็จแล้วจ่ายแค่ 2,800 เยน (800 บาท) อีกอย่างที่ไม่เหมือนระบบประกันสังคมหรือบัตรทองของบ้านเราคือ ในการใช้ประกันสุขภาพแห่งชาติญี่ปุ่นนั้นผู้ป่วยมีสิทธิเลือกใช้บริการโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ใดก็ได้  ไม่มีข้อกำหนดว่าใช้สิทธิประกันนี้ได้แค่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน2  และค่าใช้จ่ายแต่ละโรงพยาบาลนั้นไม่ค่อยต่างกัน

กลับมาเรื่องการผ่าตัดเอ็นข้อเท้า อย่างที่กล่าวไปว่าครั้งแรกที่ขาแพลงนั้นผู้เขียนไม่ได้ไปหาหมอ พอเวลาผ่านไปความเจ็บปวดก็ค่อย ๆ น้อยลง แต่ก็ทำให้ลักษณะท่าทางการเดินนั้นผิดท่าไป ผู้เขียนขาแพลงทุกปี พอเดินผิดท่านาน ๆ เข้าก็ลามไปส่วนอื่น ๆ คือมีอาการปวดเอวและเข่า เมื่อเข้าปีที่ 7 ผู้เขียนไปหาเพื่อนซึ่งอยู่ห่างจากหอพักไปประมาณ 80 กิโลเมตร เกิดขาแพลงขึ้นมาอีก แต่คราวนี้อาการหนักมาก เพราะเอ็นหน้าแข้งหลุดด้วย ไม่สามารถเอาเท้าแตะลงพื้นได้เลย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกรถพยาบาล ซึ่งที่ญี่ปุ่นนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย และใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็มาถึง แม้วันนั้นผู้เขียนจะไม่ได้พกเงินสดติดตัวไปก็ตาม คุณหมอแผนกฉุกเฉินบอกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน ไว้หายดีแล้วค่อยมาจ่ายได้ แถมให้ยืมไม้พยุงของโรงพยาบาลโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากเอ็กซเรย์และปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วคุณหมอก็ได้เขียนจดหมายส่งตัวให้เราไปโรงพยาบาลใกล้บ้านอีกที เพราะวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ มีแต่แผนกฉุกเฉินเท่านั้นที่เปิด ส่วนใหญ่แล้วโรงพยาบาลที่นี่หยุดทำการในวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

หลังจากที่ได้ไปพบหมอกระดูกในวันถัดมานั้น ก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเส้นเอ็นยืดมากเกินไปทำให้ข้อเท้าหละหลวม และทำให้ขาแพลงเรื้อรัง คุณหมอแนะนำให้ลองทำกายภาพก่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ค่อยผ่า ผู้เขียนทำกายภาพไป 6 เดือน แต่ก็เดินไม่ดีขึ้น แถมยังขาแพลงซ้ำอีกรอบ ผู้เขียนจึงตัดสินใจผ่า การผ่าตัดใหญ่นั้นคนที่นี่สามารถยื่นขอใช้สิทธิการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง (High-Cost Medical Expense Benefit : 高額医療費制度)3 อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าค่ารักษาโดยทั่วไปนั้นอยู่ที่ 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่หากจะต้องผ่าตัดใหญ่หรือนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น ผู้ป่วยสามารถขอใช้สิทธิการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายราคาสูงนี้ได้ ผู้เขียนรู้จักสิทธินี้จากคุณหมอ แล้วคุณหมอจะบอกให้เราทราบว่าจะต้องไปทำเรื่องขอสิทธิที่ไหนอย่างไร กรณีของผู้เขียนคือไปยื่นที่สำนักงานเขต แล้วทางเขตก็จะออกใบรับรอง เมื่อจะต้องเข้าโรงพยาบาลก็แค่แสดงใบรับรองนี้เท่านั้น ระบบนี้มีไว้เพื่อให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้ โดยที่ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าอาหารในราคาที่สามารถจ่ายได้

ตาราง 1: ค่าใช้จ่ายของผู้ที่ยื่นขอใช้สิทธิการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับบุคคลที่มีอายุกว่าไม่ถึง 69 ปี
เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโกะ ณ ปีงบประมาณ 2563

รายได้ (เยน) ประเภท ค่าใช้จ่ายสูงสุด (เยน) ค่าอาหารต่อมื้อ (เยน)
มากกว่า 9,010,000 A 256,600+ (ค่ารักษาทั้งหมด - 842,000) x 1% <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 140,100> 460
มากกว่า 6,000,000 น้อยกว่า 9,010,000 I 167,400 + (ค่ารักษาทั้งหมด - 558,000) x 1% <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 93,000>
มากกว่า 2,100,000 น้อยกว่า 6,000,000 U 80,100+ (ค่ารักษาทั้งหมด - 267,000) x 1% <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 44,400>
น้อยกว่า 2,100,000 E 57,600 <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 44,400>
ผู้ที่มีรายได้น้อยไม่ได้เสียภาษี O 35,400 <ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป : 24,400> 210

ที่มา: เว็บไซต์สำนักงานเขตโกเบ
https://www.city.kobe.lg.jp/a52670/kurashi/support/insurance/kogakuryoyohi.html   Accessed on March 10, 2021

ภาพ 1 : อาหารผู้ป่วยวันคริสต์มาส

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตัวเองโดยอ้างอิงจากเกณฑ์ของเมืองโกเบที่อาศัยอยู่ ผู้เขียนเป็นนักเรียนไม่ได้เสียภาษี จึงอยู่ในประเภท O (ดูตาราง 1) ค่าใช้จ่ายสุงสุด (Maximum) ของการใช้สิทธิการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง (กรณีของผู้เขียนคือผ่าเอ็นข้อเท้า นอนโรงพยาบาลหนึ่งสัปดาห์) อยู่ที่ 35,400 เยน (9,900 บาท)4  กล่าวคือ ไม่ว่าผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาลห้าวันสิบวัน จะต้องฉีดยากี่เข็มรักษาจริงกี่แสนกี่ล้านเยน ค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดที่ทางโรงพยาบาลสามารถเก็บจากผู้เขียนได้คือ 35,400 เยน ส่วนค่าอาหารอยู่ที่มื้อละ 210 เยน (60 บาท) หากป่วยจะต้องผ่าตัดนอนโรงพยาบาลหลายครั้งภายในหนึ่งปี ในครั้งที่ 4 เป็นต้นไป จำนวนเงินสูงสุดที่ทางโรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บจากผู้ป่วยประเภท O จะลดลงอยู่ที่ 24,600 เยน (6,900 บาท) อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าค่าใช้จ่ายสูงสุดของผู้ที่ยื่นใช้สิทธินี้นั้นแตกต่างกันไปตามรายได้ของแต่ล่ะคน เมื่อผู้ใช้สิทธิยื่นขอใบรับรองสิทธินี้ที่สำนักงานเขตที่อยู่อาศัย ในใบรับรองนั้นจะแจ้งไว้ชัดเจนว่าเราอยู่ในประเภทไหน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ผู้เขียนนำมายกตัวอย่างนั้นเป็นข้อมูลของเมืองโกเบ ณ ปีงบประมาณ 2563 เท่านั้น

ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของญี่ปุ่นนั้นดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ฉะนั้น ไม่ว่าผู้ป่วยจะจนหรือรวยมากน้อยเท่าใด ก็จะมีสิทธิที่จะได้รับการบริการที่เป็นธรรม ตอนแรกผู้เขียนเองก็กลัว เพราะว่าการเป็นคนต่างด้าวแถมไม่มีรายได้ จะมีปัญญาจ่ายค่ารักษามั้ย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประกันสุขภาพแห่งชาติญี่ปุ่นนั้นใช้ได้ทุกที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย หลังจากได้รับการรักษาผ่าตัดที่โรงพยาบาลญี่ปุ่นแล้ว ผู้เขียนรู้สึกอบอุ่นใจมากที่หมอ พยาบาล และพนักงานทุกแผนกดูแลผู้เขียนเป็นอย่างดี แม้ว่าจะเป็นช่วงโควิดที่ทางโรงพยาบาลงดให้คนภายนอกเข้าเยี่ยม ผู้เขียนซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ป่วยไม่มีความกังวลใด ๆ เลย แม้ทางโรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วยเป็นคนตัดสินใจเองว่าอยากจะออกจากโรงพยาบาลเมื่อใด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยอย่างผู้เขียนที่อาศัยอยู่คนเดียวไม่มีคนช่วยเหลือดูแลที่บ้าน ทางโรงพยาบาลจะเป็นห่วงมากและไม่ปล่อยให้กลับบ้านง่าย ๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าสภาพร่างกายผู้ป่วยจะแข็งแรงพอที่จะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้คงเป็นเพราะระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของที่นี่ที่ทำให้ทั้งทางโรงพยาบาลและผู้ป่วยไม่ต้องกังวลถึงค่ารักษา แต่คำนึงถึงสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก


อ้างอิง

  1. บุคคลทั่วไปจ่าย 30% ผู้สูงอายุจ่าย 10% ของค่ารักษาทั้งหมด
  2. ที่ญี่ปุ่นไม่ได้แบ่งประเภทโรงพยาบาลว่าเป็นของรัฐหรือเอกชนเหมือนหลายๆประเทศอื่น ประชาชนทั่วไปจะไปหาหมอที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน เมื่อพบว่าเป็นเคสที่รักษายากก็จะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
  3. หมายถึงบุคคลที่จ่ายค่าประกันสุขภาพแห่งชาติ
  4. อัตราแลกเปลี่ยนโดยประมาณ  ณ มีนาคม 2564


CONTRIBUTOR

Related Posts
คนไร้บ้าน

อมรา สุนทรธาดา

นโยบาย Replacement Migration กับ โควิด-19

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

70 ปี...NHS

ณปภัช สัจนวกุล

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th