The Prachakorn

ต่างรุ่น ต่างมุม กับทฤษฎีเจเนอเรชัน


มนสิการ กาญจนะจิตรา

12 เมษายน 2561
285



คุณเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้บ้างไหม คำพูดที่เปรียบเทียบคนในแต่ละยุคแต่ละสมัย ว่าคนรุ่นนั้นเป็นอย่างนั้น คนรุ่นนี้เป็นอย่างนี้ คำอาจจะคุ้นหูอยู่บ้าง เช่น “เด็กสมัยนี้...ใช้เทคโนโลยีกันเก่งจังเลย” หรือ “คนสมัยนี้ทำไมไม่ขยันทำงานกันเลย ไม่เหมือนสมัยก่อน”

จริงหรือไม่ ที่คนแต่ละยุคแต่ละสมัยมีลักษณะนิสัยไม่เหมือนกัน? จริงหรือไม่ ที่คนรุ่นนี้ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน?

ทฤษฎีเจเนอเรชัน เป็นทฤษฎีที่มีการถกเถียงกันมานาน โดยแนวคิดมีอยู่ว่า กลุ่มคนที่มีอายุไล่เลี่ยกัน จะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกันในช่วงเวลาเดียวกัน และได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์บางอย่างมาร่วมกัน ซึ่งบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวหล่อหลอมให้คนใน “ยุค” นั้นมีทัศนคติ มุมมอง และลักษณะนิสัยที่เป็นเฉพาะตัวของคนรุ่นนั้น

ตามหลักทฤษฎีนี้ สหรัฐอเมริกาได้แบ่งคนเป็นเจเนอเรชันตามปีเกิด โดยแต่ละเจเนอเรชันมีประสบการณ์การเติบโต
ที่แตกต่างกัน ทำให้มีอุปนิสัยที่แตกต่างกันไปดังนี้

  • Silent Generation (เกิดระหว่างปี 2468-2485) คนในรุ่นนี้เกิดในช่วงที่มีสงครามโลกและวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เข้าใจความยากลำบากเป็นอย่างดี คนรุ่นนี้จึงมีลักษณะนิสัยขยัน มีวินัย และมีระเบียบแบบแผน
  • เบบี้บูมเมอร์ (เกิดระหว่างปี 2486-2503) ผู้ที่เกิดช่วงหลังสงครามโลก เป็นช่วงแห่งการฟื้นฟูประเทศ ช่วงนั้นคนนิยมมีบุตรกันมากๆ เพื่อมาเป็นกำลังแรงงานให้กับประเทศ กลุ่มคนรุ่นนี้มีชีวิตเพื่อการทำงาน มีความทุ่มเท อดทน และประหยัดอดออม
  • เจเนอเรชันเอกซ์ (เกิดระหว่างปี 2504-2524) ผู้ที่เกิดในยุคที่เริ่มมีการควบคุมการกำเนิดของประชากร เจนเอกซ์เกิดมาในสภาพเศรษฐกิจที่มั่งคั่งแล้ว มีชีวิตที่สุขสบาย เป็นยุคที่เริ่มมีความรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เพลงฮิปฮอป วิดีโอเกม และคอมพิวเตอร์ คนในรุ่นนี้ให้ความสำคัญกับความสมดุลในชีวิต ชอบอะไรง่ายๆ ไม่เป็นทางการ
  • เจเนอเรชันวาย (เกิดระหว่างปี 2525-2548) ผู้ที่เกิดในยุคที่เทคโนโลยีรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด เจนวายเกิดมาในยุคที่พ่อแม่ประสบความสำเร็จและเอาใจใส่เลี้ยงดูลูกเป็นอย่างดี คนรุ่นนี้ไม่ชอบอยู่ในกรอบ ชอบเสพข่าวจากช่องทางหลากหลาย มีอิสระทางความคิด และสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว

ตัวอย่างเจเนอเรชันที่ยกมาในข้างต้นนี้เป็นเพียงเจเนอเรชันหลักๆ แต่ในปัจจุบันสามารถแบ่งเจนอื่นๆ อีกมากมาย ทฤษฎีเจเนอเรชันได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในการทำการตลาดที่ต้องการเจาะกลุ่มคนในแต่ละช่วงวัย ทฤษฎีเจเนอเรชันทำให้ธุรกิจเข้าใจลักษณะนิสัย ค่านิยม ความคิดความอ่านของแต่ละรุ่นได้ดียิ่งขึ้น ทำให้สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทฤษฎีเจเนอเรชันมักถูกใช้สำหรับการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กรที่มีพนักงานหลากหลายรุ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงาน และสร้างความจงรักภักดีต่อองค์กร

อย่างไรก็ตาม การใช้ทฤษฎีเจเนอเรชันควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง ผู้ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีเจเนอเรชันมองว่าความแตกต่างบางอย่างของแต่ละรุ่นอาจเป็นเพียงเพราะอายุที่แตกต่างกัน โดยไม่ได้เกี่ยวกับยุคสมัย เพราะคนไม่ว่าจะสมัยใดมักจะมองคนรุ่นอื่นแตกต่างกับตน แม้แต่นักปรัชญาอย่างเพลโตยังเคยกล่าวไว้ตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล “เกิดอะไรขึ้นกับคนหนุ่มสาว พวกเขาไม่เคารพผู้ใหญ่ และไม่เชื่อฟังพ่อแม่...” เช่นเดียวกันกับปีเตอร์เดอะเฮอร์มิทที่เคยกล่าวไว้เมื่อราว 700 ปีก่อน “...เด็กผู้หญิงทุกวันนี้ โผงผางเกินไป ไม่มีความเป็นกุลสตรีทั้งในการพูดจา พฤติกรรม และการแต่งตัว” ซึ่งคำพูดเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บ่นเด็กทุกวันนี้เลย

นอกจากนี้ การแบ่งกลุ่มเจเนอเรชันที่ได้นำเสนอมาในข้างต้นนี้เป็นการแบ่งตามหลักเกณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอ้างอิงตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา แต่อาจไม่เหมาะกับการประยุกต์ใช้กับสังคมไทย เนื่องจากคนไทยไม่ได้ร่วมประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้กับคนในสหรัฐอเมริกาเสมอไป ตัวอย่างเช่น กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ของสหรัฐอเมริกาคือ ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2486-2503 ซึ่งเป็นช่วงที่จำนวนการเกิดในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งถึงจุดสูงสุด แต่สำหรับประเทศไทยแล้วจำนวนการเกิดเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2490 และถึงจุดสูงสุดประมาณปี 2515 ซึ่งช้ากว่าสหรัฐอเมริกา ดังนั้นคนยุคเบบี้บูมของประเทศไทยที่แท้จริง อาจมีปีเกิดไม่เหมือนกับเกณฑ์ของโลกตะวันตกก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีเมื่อโลกแคบลงด้วยเทคโนโลยี เจนไทยกับเจนของโลกคงไม่แตกต่างกันมากนัก


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th