The Prachakorn

ครัวเรือนข้ามรุ่น รูปแบบครอบครัวที่กำลังมาแรงในสังคมไทย พ่อแม่ไม่อยู่ อยู่กับตายาย อยู่กับปู่ย่าเน้อ


กาญจนา ตั้งชลทิพย์

23 เมษายน 2561
1,306



ครัวเรือนข้ามรุ่น หรือครัวเรือนแหว่งกลางเป็นอย่างไร

คือ ครัวเรือน หรือบ้านที่มีเพียงคน 2 รุ่น คือ คนรุ่นปู่ย่า ตายาย กับคนรุ่นหลาน อาศัยเพียงลำพังอยู่ในบ้าน ไม่มีคนรุ่นพ่อแม่อาศัยอยู่ด้วย ทำให้ครัวเรือนกลายเป็นครัวเรือนแหว่งกลางที่ขาดคนรุ่นพ่อแม่ไป

แล้วคนรุ่นพ่อ-แม่หายไปไหน? เขาไปไหนกัน?

มาจากหลายๆ เหตุผล บางครอบครัวเป็นเพราะคนรุ่นพ่อแม่ต้องออกจากบ้านไปทำงานที่อื่นที่ไกลออกไป บางครอบครัวพ่อแม่เสียชีวิตด้วยสาเหตุต่างๆ จากอุบัติเหตุบ้าง จากโรคภัยไข้เจ็บบ้าง บางครอบครัวพ่อแม่หย่าร้างกันแล้วแยกกันอยู่ เอาลูกที่เป็นหลานมาให้ปู่ย่าหรือตายายเลี้ยง แต่ดูเหมือนว่าการออกจากบ้านไปทำงานที่อื่นเป็นเหตุผลของการออกจากบ้านของคนรุ่นพ่อแม่ที่ยังเป็นวัยทำงานมากกว่าสาเหตุอื่น

ทำไมครัวเรือนข้ามรุ่นจึงกำลังมาแรง

จากสถิติ1 พบว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีครัวเรือนข้ามรุ่นถึง 15% หมายความว่า ใน 100 ครอบครัว มี 15 ครอบครัวที่เป็นครอบครัวข้ามรุ่นที่มีเพียงปู่ย่าตายาย อยู่ลำพังกับหลาน ในสัดส่วนค่อนข้างสูง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการย้ายถิ่นไปทำงานของพ่อแม่ การศึกษาที่ผ่านมามักเน้นศึกษาถึงพ่อแม่ที่ย้ายถิ่น ขณะที่สมาชิกครัวเรือนที่อยู่กันตามลำพังข้างหลัง ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักวิชาการมากนัก

โครงการวิจัย “ครอบครัวข้ามรุ่นในประเทศไทย” มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงสมาชิกครัวเรือน (ปู่ย่า ตายาย และหลาน) ที่อยู่ข้างหลัง เน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นต่างๆ ในครัวเรือนข้ามรุ่น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นปู่ย่า ตายายกับคนรุ่นพ่อแม่ที่ย้ายถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่าตายายกับหลานที่อยู่ในบ้านเดียวกัน เพื่อดูว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น กลมเกลียว หรือขัดแย้งกัน มีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อความสัมพันธ์นั้น ทั้งนี้เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวมีผลต่อคุณภาพชีวิตของสมาชิกผู้อยู่อาศัย การศึกษานี้ เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการจาก University of Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา2 กับนักวิชาการของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล3 เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพที่เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนรุ่นปู่ย่าตายาย ในครัวเรือนข้ามรุ่นใน 3 จังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จำนวน 48 คน

ภาพประกอบจาก Vectorpage.com

พบอะไรในความสัมพันธ์ในครัวเรือนข้ามรุ่นบ้าง

เสียงจากปู่ย่าตายายสะท้อนว่า การได้เลี้ยงหลาน ดูแลหลาน เป็นทั้งความสุขและความทุกข์ สุขที่มีหลานอยู่พูดคุยด้วย ทำให้ไม่เหงา สุขที่มีหลานคอยหยิบโน่นหยิบนี่ ไปซื้อของ ช่วยทำงานบ้านให้ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นทุกข์ห่วงหลานว่าจะไม่มีอะไรกิน จะไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะพ่อแม่ของหลานบางคนส่งเงินมาให้บ้าง ไม่ส่งมาบ้าง ทุกข์ทั้งเวลาหลานป่วย หรือตัวเองป่วย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อความรู้สึก ต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกของครัวเรือนข้ามรุ่น ทั้งในด้านความรู้สึกแน่นแฟ้น กลมเกลียว หรือความขัดแย้ง ระหว่างคนที่อยู่บ้านเดียวกัน (ปู่ย่าตายาย กับหลาน) และระหว่างคนที่อยู่บ้านกับคนที่ไม่อยู่บ้าน (ปู่ย่าตายาย กับพ่อแม่ของหลานที่ไปทำงานที่อื่น) คำอธิบายความสัมพันธ์มีทั้งเหตุผลทางเศรษฐกิจ (เงินส่งกลับจากลูก) สายสัมพันธ์ที่ยังคงอยู่จากการกลับมาเยี่ยมบ้าน การได้พูดคุยทางโทรศัพท์กัน และยังมีเรื่องของความคิดความเชื่อในบริบทสังคมไทย ความกตัญญู ความเคารพผู้ใหญ่โดยเฉพาะกับพ่อแม่ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ที่ส่งผลต่อลักษณะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น

ครัวเรือนข้ามรุ่นที่มีปู่ย่าตายายเลี้ยงดูหลานตามลำพังมีแนวโน้มมากขึ้นตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า ควรมีกลไกอย่างไรที่จะช่วยประคับประคองความสัมพันธ์ให้ยังคงแน่นแฟ้น และมีความขัดแย้งน้อยที่สุด ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกทุกคนในครอบครัวนั่นเอง


Knodel et al. 2015. The Situation of Thailand’s Older Population: An Update Based on the 2014 Survey of Older Persons in Thailand. Population Studies Center Research Report, pp. 15-847.

Professor Berit Ingersoll Dayton

สุรีย์พร พันพึ่ง กาญจนา ตั้งชลทิพย์ กาญจนา เทียนลาย และวรรณี หุตะแพทย์

** จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง  ปีที่ 37 ฉบับที่ 5 ครัวเรือนข้ามรุ่น รูปแบบครอบครัวที่กำลังมาแรงในสังคมไทย “พ่อแม่ไม่อยู่ อยู่กับตายาย อยู่กับปู่ย่าเน้อ”

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th