The Prachakorn

สามีฝรั่งคือปลายทาง


ดุสิตา พึ่งสำราญ

23 เมษายน 2561
986



พยาบาลจากจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศไทยอยู่กินกับสามีคนไทย 20 ปี มีชีวิตที่ “อดทนเยอะสำหรับผู้หญิงไทย ด้วยหน้าที่ ด้วยความเป็นแม่ ความเป็นเมีย แต่เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เราเหนื่อย บ้านก็ไม่ส่ง แบงค์ยื่นมา อะไรให้รับผิดชอบแค่นิดหน่อยเอง ทำไมไม่มีเลย กลับบ้านก็ไม่กลับ ต้องโทรตาม” จนทำให้เลิกรากันไป และต่อมาก็ได้สามีฝรั่งเมื่อเข้าวัยเลข 50 กว่า แล้วชีวิตก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ “เราแต่งงานกันที่นี่ เค้าให้แม่ ให้พ่อ ให้เงินมาสองแสน แล้วก็ทองให้เรา 20 บาท พอเราไปที่โน่นแล้ว ก็ให้ล้านหนึ่งเอามาใช้หนี้ .... แถมต้องมาดูแลทุกเดือนอีก 500 ยูโร ถือว่าเยอะสำหรับบ้านเรา” ผู้หญิงหลายคนบอกว่า เรื่องเล่าทำนองนี้มีเยอะมาก และเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมาก ไม่ว่าจะวัยไหน อาชีพอะไร หันมาวางเป้าหมายในชีวิตไว้ว่า สามีฝรั่งคือปลายทาง

คำว่า เมียฝรั่ง สะท้อนความรู้สึกมากมายหลายประการ และส่วนมากเมื่อได้ยินคำนี้ คนมักจะมีภาพเหมารวมบางอย่าง ดร.รัตนา บุญมัธยะ ได้อ้างอิงงานของอาจารย์วิลเลี่ยม เคลาสเนอร์ ว่า เมียฝรั่ง มีนัยยะที่เชื่อมโยงไปถึงคำว่าเมียเช่าของทหารอเมริกันในภาคอีสานแฝงความหมายที่เป็นการไม่ให้เกียรติและดูถูกผู้หญิงจากภาคอีสานที่เลือกที่จะใช้ชีวิตเป็นเมียฝรั่ง ดังนั้นในงานเขียนของ ดร.รัตนา บุญมัธยะ จึงได้เลี่ยงมาใช้คำว่า ภรรยาฝรั่ง แทน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทุกวันนี้มีความเชื่อที่ว่าการได้เป็น เมียฝรั่ง คือหนทางที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ และสำหรับบางคนก็แทบจะเป็นหนทางเดียวในชีวิตที่มองเห็นได้ในบางขณะ ดังนั้นอคติในความรู้สึกของคนอื่นก็ย่อมจะไม่สำคัญไปกว่าความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง และข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ในช่วงระหว่าง 1 มกราคม 2555 ถึง 20 กันยายน 2559 มีชาวต่างชาติมาจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยกับผู้หญิงไทยทั้งสิ้น 35,100 คน ในขณะเดียวกัน เรายังไม่มีข้อมูลว่า ผู้หญิงไทยอีกจำนวนเท่าไหร่ที่ไปแต่งงานกับต่างชาติในประเทศต่างๆ

ผู้เขียนได้รับทุนวิจัยจาก Newton Fund Advanced Fellowships ซึ่งเป็นการสนับสนุนทุนร่วมกันระหว่าง British Academy และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศึกษาเรื่อง การค้นหาชีวิตที่ดีกว่าของคนไทยด้วยการใช้ชีวิตคู่กับชาวตะวันตก โดยเป็นโครงการวิจัยร่วมกับ ศาสตราจารย์พอล สเตทั่ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเรื่องการย้ายถิ่น มหาวิทยาลัยซัสเส็กซ์ ประเทศอังกฤษ การศึกษานี้ได้ทำการสัมภาษณ์ระดับลึกคนไทยในจังหวัดของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบการพบปะระหว่างคนไทยและชาวต่างชาติ การพัฒนาการของความสัมพันธ์ การจัดการความสัมพันธ์ ครอบครัว และการย้ายถิ่น ทั้งที่เป็นการย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของชายชาวต่างชาติ และการย้ายไปอยู่ต่างประเทศของคนไทยที่ได้แต่งงานกับชายชาวต่างชาติแล้ว

ผู้ที่เข้าร่วมในการศึกษานี้ แบ่งคร่าวๆ ได้เป็นกลุ่มผู้ที่ใช้ความพยายามในการเสาะแสวงหาโอกาสในการมีคู่เป็นชายชาวต่างชาติด้วยเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง และกลุ่มของคนที่เหตุการณ์ในชีวิตได้นำพาให้ได้มีคู่หรือแต่งงานกับชาวต่างชาติ และข้อสมมุติฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการศึกษานี้ คือ การแต่งงานกับชายต่างชาติจะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยการได้รับค่าเลี้ยงดูและสวัสดิการจากประเทศของสามี มีเงินจัดการปัญหาหนี้สินหรือภาระต่างๆ ของครอบครัวได้ และหลายคนคิดว่าเพียงแค่การได้เดินทางไปอยู่ต่างประเทศกับสามีคือ การเปลี่ยนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าแล้ว แต่ข้อมูลจากทั้งกลุ่มที่ตั้งใจแสวงหาและกลุ่มที่พรหมลิขิตบันดาลชักพา หลายคนมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ได้รับทุกสิ่งอย่างตามที่คาด แต่บางคนกลับได้พบกับความประหลาดใจเพราะไม่ใช่ฝรั่งทุกคนที่จะ “มี” หรือจะ “ให้” เราและ/หรือครอบครัวของเรา ดังนั้น แทนที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็กลับตกไปสู่ภาวะยากลำบากที่ซับซ้อนกว่าเดิมเพราะถูกผูกรัดด้วยความสัมพันธ์กับฝรั่งไปแล้ว

ผู้เขียนได้สัมภาษณ์คุณครู พยาบาล ข้าราชการ ในวัย 30 ปลายๆ ไปจนถึง 50 กว่าๆ รวมทั้งคนรุ่นสาวอายุไม่เกิน 30 ปี ซึ่งไม่ยี่หระกับอคติใดๆ ในสังคม คนเหล่านี้ใช้ความพยายามและวิธีการต่างๆ ในการมองหา ค้นหา ไปจนถึงเข้าหาฝรั่งที่พึงใจจะให้มาเป็นสามี วิธีการดังกล่าวมีตั้งแต่การใช้สื่อออนไลน์ การเข้าเว็บไซต์หาคู่ จับคู่ ปัจจุบัน มีเว็บไซต์หาคู่จำนวนมาก เพียง google คำว่า Thai dating ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมมากกว่า 100 กว่าเว็บไซต์ เช่น Thaidating.com Thaicupid.com Thaiflirting.com หรือ Farangdate.com มีผู้ชายหลากหลายสัญชาติและคุณลักษณะให้เลือก มีข้อมูลประกอบให้ทำความรู้จักกันเบื้องต้น และเมื่อเลือกได้แล้วว่าจะทำความรู้จักมากขึ้นกับใครต่อไป ก็สามารถคุยกันต่อได้ตามช่องทางต่างๆ ที่ตนเองสะดวก หรือก็อาจจะคุยผ่านเว็บไซด์หากไม่ต้องการให้อีกฝ่ายทราบอีเมลหรือข้อมูลติดต่อส่วนตัว แต่การคุยผ่านเว็บไซต์ก็มักจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

แต่สำหรับหลายคน ทางเดียวที่จะทำให้ได้พบฝรั่งมาเป็นคู่ได้ก็ต้องผันตัวเองไปทำงานในบาร์ที่พัทยาหรือภูเก็ตเพื่อที่จะ welcome สามีฝรั่งเข้ามา การศึกษานี้ ผู้เขียนพบว่า มีผู้หญิงอย่างน้อย 10 คนที่เคยเดินในเส้นทางพัทยาหรือภูเก็ตมาก่อน หนึ่งคนจากภาคอีสานเล่าว่า หลังจากอกหักจากผู้ชายคนไทยที่คาดหวังว่าจะได้แต่งงานอยู่กินด้วยกันแต่ฝ่ายชายกลับเปลี่ยนใจไปหาผู้หญิงอื่น เธอได้รับคำแนะนำจากญาติให้ไปทำงานที่ภูเก็ตเพื่อหาแฟนเป็นฝรั่ง และโดยไม่ลังเล เธอเดินทางไปทำงานในบาร์แห่งหนึ่งที่ภูเก็ตตามคำแนะนำของญาติ จากนั้น ก็ได้พบกับสามีคนปัจจุบันของเธอ ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นแขกคนแรกที่เข้ามาคุยและเรียกใช้บริการจากเธอที่บาร์ และเป็นแขกคนเดียวในชีวิตการทำงานบาร์ของเธอ ปัจจุบัน เธอกับสามีชาวเยอรมันวัย 67 ปีมีลูกด้วยกัน 2 คน และใช้ชีวิตด้วยกันที่เมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้หญิงจะใช้วิธีใดในการมองหา ค้นหา ไปจนถึงเข้าหาฝรั่งที่พึงใจจะให้มาเป็นสามี ไม่มีใครทราบได้ล่วงหน้าว่า วิธีไหนจะช่วยให้ได้เจอคนที่ดี หรือ คนที่เลือกและคิดว่าดีแล้วนั้น จะเป็นคนที่จะนำชีวิตที่ดีกว่ามาให้ได้จริงๆ หรือไม่

หญิงสาวจากภาคอีสานวัย 20 ต้นๆ ได้แฟนคนแรกผ่านเว็บไซต์หาคู่เป็นทายาทเศรษฐี แต่กลับไม่ประกอบอาชีพและไม่สามารถนำพาชีวิตเธอให้ดีขึ้นได้ หนำซ้ำยังทำร้ายทุบตีเธออีกด้วย แต่เมื่อเลิกรากันไปและเธอได้แฟนคนที่สองจากเว็บไซต์เดียวกัน ชีวิตเธอจึงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจริงๆ ส่วนคุณแม่ลูกติดวัย 45 ปีจากภาคตะวันออกที่ยอมเสี่ยงมาทำงานบาร์ที่พัทยาเพื่อหาผู้อุปการะ แต่สุดท้ายเธอกลับต้องกลายเป็นผู้ดูแลสามีฝรั่งอายุ 60 กว่าปีซึ่งป่วยหนักจากอาการกระดูกทับเส้นประสาท ซ้ำยังไม่มีทรัพย์สินเงินทองใช้สอยได้อย่างสบาย แต่อีกคนหนึ่งคือ คุณครูวัยใกล้เกษียณที่ใช้เว็บไซต์ในการค้นหาผู้ชายฝรั่งมาเป็นสามี อยู่หลายปีกว่าจะได้ตกลงปลงใจกับทนายความชาวอเมริกันวัย 60 ต้นๆ และถือว่าเลือกได้ถูกคน เพราะชีวิตของคุณครูได้เปลี่ยนจากแม่หม้ายลูกสองที่เต็มไปด้วยภาระหนี้สิน ไปเป็นภรรยาทนายความ กำลังจะได้รับสัญชาติอเมริกันและจะย้ายไปอยู่ที่ประเทศอเมริกาหลังปลดเปลื้องภาระหนี้สินหมดสิ้นแล้ว

ท้ายที่สุด เราอาจจะได้บทเรียนว่า ชีวิตจะดีหรือไม่ อยู่ที่เราเป็นผู้กำหนดมากกว่าที่จะฝากไว้ที่ใคร ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่วางเป้าหมายไว้ที่การมีสามีฝรั่งทุกคน ขอให้พบกับตัวเลือกที่ดีงามและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างแท้จริง   

** จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง  ปีที่ 37 ฉบับที่ 6    สามีฝรั่งคือปลายทาง

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th