The Prachakorn

คนไร้บ้าน


อมรา สุนทรธาดา

23 เมษายน 2561
391



สถานการณ์ คนไร้บ้าน ทั่วโลกกำลังวิกฤตสืบเนื่องจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและความไม่สงบทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้มีจำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังไม่รวมแรงงานย้ายถิ่นผิดกฎหมาย สถานการณ์ดังกล่าวนี้กำลังเป็นข้อพิพาททางการเมืองที่ขยายวงกว้างออกไปทุกขณะ เช่น เหตุการณ์ในยุโรปโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ EU ที่กลายเป็นประเทศปลายทางของผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากซีเรียและแรงงานย้ายถิ่นจากแอฟริกาและเอเชีย ปัญหาที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้เมื่อมีทั้งประชากรย้ายถิ่นผิดกฎหมาย ผู้อพยพลี้ภัยบวกกับประชากรเจ้าของประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน ผู้มีรายได้น้อยไม่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งมีราคาแพงโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลในหลายๆประเทศต้องมีกฎหมายเพื่อสนับสนุนนโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับประชากรไร้บ้าน

Edgar et. al (2007) ให้คำจำกัดความคนไร้บ้านไว้ 6 ประเภทดังนี้ 1) ผู้ใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น บาทวิถี สวนสาธารณะเป็นที่อยู่อาศัย 2) ผู้มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่งอาศัยพื้นที่สาธารณะเป็นที่หลับนอนเวลากลางคืน 3) ผู้ที่อาศัยในบ้านพักฉุกเฉินของรัฐหรือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลประโยชน์ รวมถึงค่ายผู้อพยพลี้ภัย 4) ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยในกรณีพิเศษ เช่น การไล่รื้อที่อยู่อาศัย ผู้ต้องขัง/สถานพินิจฯ ผู้ป่วยที่อยู่ในสถานสงเคราะห์เป็นเวลาต่อเนื่องและยาวนาน 5) ผู้อาศัยในอาคารร้าง หรือที่ที่พักจัดสรรให้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งผู้อาศัยในรถที่แปลงสภาพเป็นบ้านเคลื่อนที่ และ 6) ผู้ไม่มีบ้านและต้องอาศัยอยู่ชั่วคราวกับเพื่อนหรือญาติ การสร้างมาตรฐานตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะทำให้การวิจัยเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ รวมทั้งนโยบายเอาชนะปัญหาคนไร้บ้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การสร้างตัวชี้วัดเพื่อสำรวจจำนวนคนไร้บ้านยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันเนื่องจากแต่ละประเทศมีข้อแตกต่างและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายยากง่ายต่างกัน เช่น เยอรมัน อิงมาตรฐานสถานะความเป็นพลเมืองของประเทศเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณ สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย ฮังการี เน้นความปลอดภัยและประโยชน์มากกว่าการสร้างที่อยู่อาศัยในชุมชนขนาดใหญ่ และเน้นการเข้าถึงระบบสุขภาพ เพราะคนไร้บ้านยังมีปัญหาด้านพฤติกรรมสุขภาพด้วย ความยากลำบากอีกประการหนึ่งในการเอาชนะปัญหาคนไร้บ้านคือ

การสร้างความเข้าใจและการให้ความร่วมมือจากคนไร้บ้านให้อาศัยในบ้านหรือที่พักฉุกเฉินที่รัฐจัดหาให้ โดยเฉพาะผู้ไร้บ้านรายบุคคล เพราะต้องการใช้ชีวิตแบบ เสรีชน ค่ำที่ไหน นอนที่นั่น ประกอบอาชีพตามความถนัด เช่น ศิลปินเปิดหมวก ใช้ความสามารถส่วนตัว เช่น เล่นดนตรี วาดภาพบนพื้นถนน หรือแสดงมายากล แลกกับเงินรางวัลจากผู้ชม

 

ภาพประกอบจาก http://data.whicdn.com/images/49448213/original.jpg

คนไร้บ้านในยุโรปโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ EU มีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2010 เพราะการย้ายถิ่นจากประเทศสมาชิกในยุโรปตะวันออกสู่ยุโรปตะวันตก รายงานการสำรวจของ European Observatory on Homelessness (2014) ระบุว่า มีบ้านไม่มีผู้อยู่อาศัยราว 11 ล้านบ้าน ในขณะที่มีคนไร้บ้านถึง 4 ล้านคน โดยที่คนจนในโปแลนด์ ร้อยละ 37 ต้องนอนที่บ้านพักฉุกเฉิน ในขณะที่กรุงเอเธนส์ มีประชากร 1 ใน 70 เป็นคนไร้บ้าน ปะเทศอังกฤษรั้งตำแหน่งที่ 20 จาก 28 ประเทศสมาชิกในอียูที่คนจนไม่สามารถที่จะมีบ้านเป็นของตนเอง

รายงานการสำรวจ The 2015 Annual Homeless Assessment Report to Congress Nov. 2015 พบว่าคนไร้บ้านในอเมริกามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2014-2015 มีคนไร้บ้านประมาณ 6 แสนคน ลดลงประมาณร้อยละ 3 จากปีก่อน โดยที่ ร้อยละ 64 เป็นบุคคลเดี่ยว และร้อยละ 36 เป็นครอบครัวไร้บ้าน และ1 ใน 4 เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี และถ้าจำแนกตามการอยู่อาศัย พบว่า ร้อยละ 49 ของเยาวชนไร้บ้านอายุต่ำกว่า 18 ปี อาศัยที่บ้านพักฉุกเฉิน ร้อยละ 51 เป็นผู้เร่ร่อนไม่มีที่พัก

จากสำมะโนประชากรปีล่าสุด 2011 ในอินเดีย พบว่า ประชากร 1 ใน 100 คน ในเขตเมืองขนาดใหญ่เป็นคนไร้บ้าน ต้องกินนอนในพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่ริมถนน สถานีรถไฟ ใต้สะพานลอย ศาสนสถาน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านในเมืองขนาดใหญ่ เช่น เมืองหลวงของอินเดีย-นิวเดลี เนื่องมาจากราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สามีเสียชีวิต และ 1 ใน 3 เป็นผู้หญิง ในเมืองใหญ่มีอัตราการว่างงานของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย การช่วยเหลือคนไร้บ้านเบื้องต้นจากภาครัฐคือการตั้งเป้าหมายสร้างบ้าน 600,000 หลังสำหรับคนไร้บ้านส่วนการช่วยเหลือเฉพาะกิจคือ จัดหาที่พักชั่วคราวหรือบ้านพักฉุกเฉินโดยจัดลำดับความเร่งด่วนให้ผู้หญิงก่อนเพราะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยมากกว่าผู้ชาย

คนไร้บ้าน มีข้อจำกัดและความจำเป็นในการใช้ชีวิตที่ต่างจากบุคคลทั่วไป ซึ่งชวนให้มีการศึกษาเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปอีก

Edgar, B., Harrison, M., Watson, P. and Busch-Geertsema, V. 2007. Measurement of Homelessness at European Union Level (Brussels: European Commission), available at: http://ec.europa.eu/employment_social.

**  จดหมายข่าวฉบับย้อนหลัง  ปีที่ 37 ฉบับที่ 6  คนไร้บ้าน

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th