The Prachakorn

สงคราม และสันติภาพในอัฟกานิสถาน?


อมรา สุนทรธาดา

15 ตุลาคม 2564
434



สงครามกลางเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี ในอัฟกานิสถานได้ยุติลงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังกลุ่มตอลิบานยึดเมืองหลวงคาบูลได้อย่างเบ็ดเสร็จ สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรถอนกำลังทหารและเคลื่อนย้ายพลเรือออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งด่วน ผู้อพยพมีทหาร เจ้าหน้าที่ประจำกองทัพ ชาวต่างชาติรวมทั้งพลเรือนอัฟกานิสถาน ได้อพยพไปที่ฐานทัพของอเมริกาที่ประจำการชั่วคราวในประเทศใกล้เคียงกับอัฟกานิสถาน ก่อนส่งผู้อพยพไปประเทศปลายทางต่างๆ ที่เสนอให้ที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยมากกว่า 40 ประเทศ

ตลอดช่วงปี 2001-2021 สงครามในอัฟกานิสถานเป็นการสู้รบโดยมีกองทัพของรัฐบาลอัฟกานิสถานร่วมกับทหารจากอเมริกาและกองทัพพันธมิตรเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธ ทั้ง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มตอลิบาน กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มไอซิส และกลุ่มไอซิส-เค ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลกลาง จากการสู้รบจากความขัดแย้งภายในประเทศระหว่างรัฐบาลกลางและกลุ่มกองกำลังติดอาวุธยาวนานถึง 20 ปี มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องหวาดผวากับการก่อวินาศกรรมโดยกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม ผู้เผชิญชะตากรรมที่โหดร้ายครั้งนี้คงไม่พ้นเด็กและผู้หญิง เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เด็กต้องอยู่ตามลำพังเพราะพ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบ ผู้หญิงต้องดูแลรับผิดชอบครอบครัวมากขึ้นเพื่อจัดหาอาหารให้พอเพียงในสถานการณ์ที่ปัจจัยการดำรงชีวิตมีจำกัด

ข้อมูลจากรายงานประจำปีของ UN Assistance Mission in Afghanistan (UNAMA) ระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็ก จำนวน 7,792 คน เสียชีวิต และ 18,662 คนได้รับบาดเจ็บจากระเบิดที่ฝังไว้ตามถนนที่ประชาชนใช้เดินทางวัน รวมทั้งการโจมตีทางอากาศด้วยระเบิดเพลิงทำให้ที่อยู่อาศัยถูกทำลาย เด็กและผู้หญิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเพราะต้องอยู่ในบ้านเกือบตลอดเวลา1

ในช่วงที่กลุ่มตอลิบานยึดพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าครึ่งประเทศ คาบูลเมืองหลวงได้ตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงภัยอย่างยิ่งเพราะมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธไม่ระบุสังกัดออกปฏิบัติการเพื่อลดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชน เหตุการณ์สังหารผู้พิพากษาหญิง 2 คนที่ถูกยิงขณะเดินทางไปทำงานด้วยฝีมือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธเมื่อเดือนมกราคม 2564 รวมทั้งการสังหารเจ้าหน้าที่หญิง 3 คน ของสถานีวิทยุท้องถิ่นที่เมืองจะลาลาบัดเมื่อมีนาคมที่ผ่านมาและการปลิดชีพเจ้าหน้าที่ของศูนย์ให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ และเป็นไปได้ว่า ศูนย์ให้บริการวัคซีนโควิด-19 อาจเป็นเป้าโจมตีด้วย เช่นกัน รวมถึงการทำลายโรงเรียนและสถานพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วประเทศ

รูป: การสู้รบที่รุนแรงและต่อเนื่องในเมืองศูนย์กลางหลัก เช่น เฮรัต เป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มตอลิบานโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพลเรือน
ที่มา: https://news.un.org/en/story/2021/02/1085442 สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564

นอกจากการเสี่ยงภัยจากการสู้รบ ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เช่น โรคโปลิโอ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ยูนิเซฟให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยจะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีจำนวน 1.2 ล้านคน รวมทั้งให้หญิงตั้งครรภ์ 6 ล้านคนได้รับวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 46 ของประชากรเด็กอายุระหว่าง 12-23 เดือน ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค2

นอกจากปัญหาสุขอนามัยแล้ว เด็กและเยาวชนยังขาดโอกาสด้านการศึกษา โดยเฉพาะในเขตชนบท เด็กจำนวน 3.7 ล้านคน ไม่ได้เรียนหนังสือเลยและในจำนวนนี้เป็นเด็กเพศหญิงมากกว่าครึ่ง3

หลังการถอนกำลังพลของสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร ทำให้ประชาชนอัฟกานิสถานลงถนนร่วมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การบริหารของกลุ่มตอลิบานแถลงนโยบายที่ให้ความมั่นใจต่อประชาคมเรื่องสิทธิเสรีภาพตามหลักสากล เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทำหน้าที่ในระดับสูงของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาทุกระดับ

การสร้างชาติและอนาคตของประชาชน 38 ล้านคน อยู่ในมือของกลุ่มตอลิบาน ที่กลับสู่อำนาจอีกครั้งและให้ความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่าจะนำพาประเทศสู่สันติภาพ ประชาคมโลกต้องติดตามกันต่อไป


อ้างอิง

  1. https://unama.unmissions.org/protection-of-civilians-reports สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564
  2. https://www.unicef.org/press-releases/polio-vaccination-campaigns-resume-afghanistan-and-pakistan-after-covid-19 สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564
  3. https://www.unicef.org.au/blog/stories/afghanistan-children-crisis สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เจเนอเรชันโควิด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ช้าง

วรชัย ทองไทย

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

นักการเมือง

วรชัย ทองไทย

สันติภาพในยูเครน

อมรา สุนทรธาดา

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

แมลงสาบ

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th