The Prachakorn

คู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ


นงเยาว์ บุญเจริญ

13 กุมภาพันธ์ 2568
249



“สื่อทำงานเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่สื่อกลับถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือนี่คือภัยเงียบขององค์กรสื่อ”

 เมื่อปี ค.ศ. 2012 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientificand Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) จัดทำตัวชี้วัดความอ่อนไหวสำหรับสื่อเกี่ยวกับเพศสภาพ (Gender–Sensitive Indicators for Media: GSIM) เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดด้านสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย ตามหลักการความอ่อนไหวทางเพศสภาพในงานสื่อมวลชน ที่ระบุตัวชี้วัดด้านการป้องกันการคุกคามทางเพศไว้อย่างชัดเจน มีการดำเนินการของระบบการป้องกัน การร้องเรียน การสนับสนุนและการเยียวยา ครอบคลุมประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศและการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน

หนังสือ “คู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ” จัดทำโดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก International Programme for the Development of Communication (IPDC) และ UNESCO เป็นหนังสือที่รวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ หลักสูตรนี้สร้างขึ้นจากการค้นคว้าและศึกษาผลกระทบที่องค์กรสื่อจะได้รับ และผ่านการทดลองใช้ในการฝึกอบรมผู้สื่อข่าวและผู้บริหารสื่อในประเทศไทยเป็นการนำหลักการ GSIM มาประยุกต์ใช้ โดยมุ่งหวังให้เป็นอีกกลไกในการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในองค์กรสื่อ มีเป้าหมายสร้างหลักสูตรและจัดฝึกอบรมให้กับผู้สื่อข่าวและผู้บริหารสื่อ รวมทั้งมีแนวทางการจัดทำนโยบายและสร้างกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ให้ตระหนักถึงการคุ้มครองสิทธิทางเพศของพนักงานในองค์กร

เนื้อหาของหลักสูตรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจนิยามความหมาย รูปแบบ และมายาคติ ของการคุกคามทางเพศ รวมทั้ง การนำเสนอกรณีศึกษาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ เพื่อให้มองเห็นภาพผลกระทบของผู้ถูกกระทำ สิทธิของผู้เสียหายในฐานะผู้ปฏิบัติงานสื่อ และนโยบาย กฎหมาย แนวปฏิบัติในการป้องกันการคุกคามทางเพศ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้พัฒนา นโยบาย แนวปฏิบัติ และสร้างกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อของไทย

การคุกคามทางเพศในที่ทำงานและกรณีศึกษาจากองค์กรสื่อ: นิยาม รูปแบบ และมายาคติ ความปลอดภัยในการทำงานถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พนักงานทุกคนควรได้รับ แต่บางครั้งสถานที่ทำงานกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ ประเด็นสำคัญของการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กร คือ ความเข้าใจที่ตรงกันว่าการคุกคามทางเพศ เป็นการถูกกระทำทั้งทางวาจา สายตา ร่างกาย หรือพฤติกรรมอื่นใดที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยทางเพศ การคุกคามทางเพศในที่ทำงานมีเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่การงานเข้ามาเกี่ยวข้อง มักเป็นการกระทำของผู้มีอำนาจทำกับผู้ด้อยอำนาจ แม้อีกฝ่ายยินยอมหรือภาวะจำยอมก็ตาม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีบัญญัตินโยบายด้านความปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศที่ชัดเจน เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะใช้วิธีการตั้งกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาเป็นรายกรณี การลงโทษหากกระทำรุนแรงจะให้พ้นสภาพพนักงานและส่งดำเนินคดี การเยียวยาผู้เสียหายยังไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจนจึงควรสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวอีกต่อไป แต่ส่งผลต่อผลผลิตและบรรยากาศการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และองค์กรขาดความน่าเชื่อถือ

สิทธิของพนักงานและแนวปฏิบัติการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ ด้วยยังไม่มีนโยบายป้องกันที่ชัดเจนส่งผลให้ผู้ถูกคุกคามไม่กล้าร้องเรียนหรือหาความยุติธรรมและขาดความเข้าใจในสิทธิทางร่างกาย จึงควรต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิและกระบวนการคุ้มครองที่เป็นธรรมในองค์กรสื่อ นอกจากนี้ องค์กรสื่อควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจนและครอบคลุม มีการสื่อสารฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง จัดช่องทางการรายงานที่เข้าถึงง่าย มีผู้ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางกฎหมายทบทวนและติดตามนโยบายอย่างสม่ำเสมอให้กับคนที่ทำงานสื่อ

แนวปฏิบัติสำหรับองค์กรสื่อในการกำหนดนโยบายและกลไกในการป้องกันการคุกคามทางเพศ เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและเคารพต่อกัน ด้วยการมีนโยบาย เสริมสร้างความตระหนักรู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้พนักงานรู้สึกมั่นใจในการเข้าถึงความช่วยเหลือ การดูแลทางจิตใจ ทางกฎหมายและลดความเสี่ยงโดนตีตรา สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เท่าเทียม

กระบวนการเรียนรู้นโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ เป็นตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ มุ่งที่เนื้อหาให้มีความเข้าใจ มีแนวปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานในการป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อและแนวปฏิบัติสำหรับองค์กรสื่อในการกำหนดนโยบายและกลไกในการป้องกันการคุกคามทางเพศ


ที่มา:

ชเนตตี ทินนาม, โกสุม โอมพรนุวัฒน์ และรัตนา ด้วยดี. (2567). คู่มือหลักสูตรนโยบายและกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศใน องค์กรสื่อ. กรุงเทพฯ: คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th