The Prachakorn

ครอบครัวหลากสายพันธุ์ ความเป็นเครือญาติที่มากกว่ามนุษย์


ทิฆัมพร สิงโตมาศ

01 พฤษภาคม 2568
8



ครอบครัวหลากสายพันธุ์ คือครอบครัวที่ประกอบด้วยมนุษย์และสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีสายสัมพันธ์ทางอารมณ์ยึดโยงกัน เคารพกันและกัน และดำรงอยู่ในความสัมพันธ์แบบแนวนอนอย่างเท่าเทียม

เมื่อพูดถึงคำว่า “ครอบครัว” หลายคนอาจนึกถึงภาพของคู่สามีภรรยาและลูก หรือคนที่ผูกพันจากความเป็นสายเลือดเดียวกัน อย่างไรก็ดี ช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้แนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปมากจากบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ นิยามของครอบครัวในปัจจุบันมิได้จำกัดอยู่แค่ผู้ใหญ่ต่างเพศสองคนที่อาศัยร่วมกันพร้อมกับลูกของพวกเขาตามภาพครอบครัวแบบเดิม หากขยายไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย เช่น ครอบครัวคู่รักเพศเดียวกัน ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวข้ามรุ่น ไปจนถึงครอบครัวที่เลือกเอง ซึ่งสมาชิกไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือด แต่เลือกจะมีความสัมพันธ์แบบเอื้ออาทรและดูแลกันเสมือนญาติ ขณะเดียวกัน ยุคที่สัตว์เลี้ยงมีความใกล้ชิดและผูกพันทางอารมณ์กับคนมากกว่าอดีต เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูกและการทุ่มเทดูแลที่เกินกว่าความต้องการพื้นฐานของสัตว์เป็นปรากฎการณ์ที่พบเห็นมากขึ้น1 ทำให้การให้ความหมายของครอบครัวมีความซับซ้อนตามไปด้วย พร้อมกับเกิดคำถามว่าสัตว์เลี้ยงสามารถเป็นครอบครัวของมนุษย์ได้จริงหรือไม่ เราจะนิยามครอบครัวลักษณะนี้อย่างไร

จากสัตว์เลี้ยงสู่สัตว์ร่วมชีวิตและการเป็นครอบครัว

มนุษย์กับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวมีประวัติศาสตร์การอยู่ร่วมกันมานานนับพันปีและมีการพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันแต่ละยุคสมัย ก่อนศตวรรษที่ 19 สุนัขและแมวมักใช้ชีวิตนอกบ้านและมีหน้าที่เฉพาะ เช่น ล่าสัตว์ กำจัดสัตว์รบกวน เฝ้าบ้าน และต้อนฝูงปศุสัตว์ กระทั่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บทบาทของสุนัขและแมวในสังคมตะวันตกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพวกมันย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านและกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางอารมณ์กับมนุษย์มากกว่าการมีประโยชน์ใช้สอยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงสถานะสัตว์เลี้ยงนำมาสู่การเกิดอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่ไม่เพียงเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีการพัฒนาสินค้าและบริการดูแลสัตว์ที่ซับซ้อนและใกล้เคียงกับมนุษย์เข้าไปทุกที เช่น ของเล่น เสื้อผ้า สปา อาหารออร์แกนิค2

ปรากฎการณ์เหล่านี้สะท้อนการเคลื่อนย้ายแนวคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) ไปสู่การยอมรับสัตว์ในฐานะผู้กระทำการ (zoocentrism) ที่มีความสามารถทางอารมณ์และสติปัญญาในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ อันเป็นแนวคิดที่ขยายตัวอย่างมากหลังทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา เมื่อนักวิชาการจำนวนหนึ่งมองเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์และพยายามทลายเส้นแบ่งเชิงอุดมการณ์ที่แยก “พวกเรา” ออกจาก “พวกมัน” พร้อมความตระหนักที่เพิ่มขึ้นว่าสรรพสิ่งบนโลกทั้งมนุษย์ สัตว์ แมลง หรือจุลชีพต่าง “ก่อร่างสร้างกันและกัน” (become with) และหล่อมหลอมให้มนุษย์เป็นอย่างที่เป็น นำมาสู่แนวคิดใหม่ของการอยู่ร่วมกันที่เรียกว่า "การสร้างเครือญาติ" ที่เสนอให้มนุษย์ขยายขอบเขตความเป็นเครือญาติแบบแนวนอนครอบคลุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงสายเลือดหรือสายพันธุ์เดียวกัน3

แนวคิดแบบสัตว์เป็นผู้กระทำการและการสร้างเครือญาติข้ามสายพันธุ์มีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนคำเรียกสัตว์เลี้ยงจาก pet มาเป็น companion animal หรือสัตว์ร่วมชีวิต ต่อมาถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและละตินอเมริกาทั้งแวดวงวิชาการและการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ เพื่อเน้นบทบาททางอารมณ์และความสัมพันธ์ทางสังคมของสัตว์เลี้ยงกับมนุษย์ที่สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นครอบครัวหลากสายพันธุ์ (multispecies families) อันหมายถึง ครอบครัวที่ประกอบด้วยมนุษย์และสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีสายสัมพันธ์ทางอารมณ์ยึดโยงกัน เคารพกันและกัน และดำรงอยู่ในความสัมพันธ์แบบแนวนอน (horizontal relationship) อย่างเท่าเทียม4

ลักษณะของครอบครัวหลากสายพันธุ์

หากพิจารณาจากนิยามข้างต้น การจะบอกว่าครอบครัวใดเป็นครอบครัวหลากสายพันธุ์อาจซับซ้อนมากกว่าการเรียกขานสัตว์เลี้ยงด้วยถ้อยคำเสมือนญาติมิตร เช่น ลูก น้อง พี่ ฯลฯ ที่ก็อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการสร้างกรอบความเป็นครอบครัวให้กับสัตว์จากมนุษย์ฝ่ายเดียว ในทัศนะของนักวิชาการด้านมนุษย์-สัตว์ศึกษา ความเป็นครอบครัวหลากสายพันธุ์เป็นกระบวนการที่สัตว์เลี้ยงและมนุษย์สร้างความเป็นครอบครัวร่วมกันผ่านการกระทำที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะความเป็นเครือญาติ โดยสามารถสรุปได้ 5 ประเด็น ดังนี้2,4,5,6

1) การผูกพันทางอารมณ์ โดยมีพื้นฐานจากการรับรู้และตีความข้อมูลจากความสัมพันธ์และการกระทำร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์จนเกิดความเข้าใจในการกระทำของอีกฝ่าย แง่นี้สัตว์เลี้ยงจึงไม่ใช่แหล่งสนับสนุนทางอารมณ์แก่มนุษย์ฝ่ายเดียว แต่มนุษย์ก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจความต้องการและอารมณ์ความรู้สึกของสัตว์ด้วย เช่น สุนัขที่รู้สึกถึงความเศร้าของเจ้าของและเจ้าของรู้สึกถึงความเศร้าซึมของสุนัขที่กำลังเจ็บป่วย
2) การดูแลกันและกัน แม้สัตว์เลี้ยงมีสถานะพึ่งพิงการดูแลจากมนุษย์ ทว่ามีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและสนับสนุนความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ด้วยวิธีของพวกเขาเอง เช่น สุนัขที่ปลุกให้เจ้าของพาไปออกกำลังกาย คอยเฝ้าบ้านและปกป้องสมาชิกในครอบครัว แมวที่ช่วยจับหนูหรือแมลง หรือสัตว์เลี้ยงอีกหลายชนิดที่ช่วยบำบัดความเครียดและให้กำลังใจแก่มนุษย์ในยามที่ต้องการ ขณะที่มนุษย์ก็มอบการดูแลที่คำนึงถึงสุขภาวะที่ดีและความต้องการของสัตว์ เช่น อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การพาไปพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ การจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยและเหมาะกับธรรมชาติของสัตว์
3) การมีพื้นที่ในบ้าน ประกอบด้วย 1) การอนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าถึงพื้นที่ภายในบ้านที่เคยสงวนไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น เช่น ห้องนอนและห้องน้ำ 2) การให้สัตว์เลี้ยงมีอิทธิพลเฉพาะตัวต่อของพิธีกรรมของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เช่น ช่วยดันลิ้นชักเครื่องล้างจานให้เข้าที่ ไปจนถึงเหตุการณ์สำคัญ เช่น การฉลองวันเกิดโดยที่สัตว์เลี้ยงได้รับของขวัญของตัวเอง และ 3) การออกแบบพื้นที่ภายในบ้านแบบ multispecies homescape ที่คำนึงถึงการใช้ชีวิตของสัตว์เลี้ยงและมีเฟอร์นิเจอร์เฉพาะสายพันธุ์ เช่น เตียงสำหรับสุนัข คอนโดแมว เสาลับเล็บ

รูป 1 งานวันเกิดของน้องซอนนี่
ภาพจาก Instagram my_one_one_sonny_and_hoka  
(ขออนุญาตเจ้าของภาพแล้ว)

4) การมีบทบาทในครอบครัว โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่าสัตว์สามารถเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ขาดหายไป เช่น การเลี้ยงสัตว์แทนลูก อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายชิ้นปฏิเสธสมมติฐานว่าสัตว์เป็นเพียงสิ่งทดแทนหรือชดเชยความสัมพันธ์ที่ขาดไปในครอบครัว ทางกลับกัน มีงานวิจัยสนับสนุนว่า สัตว์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เติมเต็มระบบครอบครัว งานศึกษาด้านจิตวิทยาข้ามสายพันธุ์แสดงให้เห็นว่าสัตว์ที่ได้รับการรวมเข้าไปในโครงสร้างครอบครัวสามารถรับรู้ได้ว่าตนเองเป็นสมาชิกของครอบครัวนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง สัตว์ไม่ใช่ผู้รับบทบาทอย่างนิ่งเฉย แต่เป็นผู้มีบทบาทเชิงรุกในพลวัตของครอบครัวหลากสายพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอธิบายว่า สัตว์เลี้ยงมีบทบาทที่เรียกว่า “สามเส้าทางครอบครัว” (family triangulations) เป็นกลไกช่วยให้ครอบครัวสามารถจัดการกับสถานการณ์ทางอารมณ์ที่รุนแรงได้ เช่น เวลาที่เกิดความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว สัตว์อาจพยายามยุติความขัดแย้งด้วยพฤติกรรมอย่างการเรียกร้องให้ลูบหัวหรือทำท่าทางตลกเพื่อให้สมาชิกหัวเราะ พฤติกรรมเช่นนี้เป็นความพยายามของสัตว์ในการลดความตึงเครียดหรือทำให้สมาชิกที่กำลังโกรธลืม/ละความโกรธลง การเติมเต็มระบบครอบครัวของสัตว์เลี้ยงทำให้นักวิชาการมองว่า สัตว์เลี้ยงสามารถเป็นครอบครัวที่แท้จริง (true family) ของมนุษย์ได้ โดยในละตินอเมริกามีกรณีศึกษาพบว่า การยอมรับสัตว์เป็นสมาชิกครอบครัวเป็นเงื่อนไขสำคัญในการจัดวางสถานะทางกฎหมายของครอบครัวหลากสายพันธุ์และสามารถนำไปสู่การคุ้มครองสัตว์ในฐานะสมาชิกของครอบครัวที่ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้เป็นเจ้าของ
5) การจัดพิธีศพและไว้อาลัย แม้ครอบครัวจะมีสัตว์เลี้ยงหลายตัวเข้ามาและจากไปตามกาลเวลา สัตว์แต่ละตัวยังคงถูกมองว่าเป็นปัจเจกบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความผูกพัน และความทรงจำร่วมกับเจ้าของ การตายของสัตว์เลี้ยงย่อมนำมาซึ่งความโศกเศร้าอาลัยและความสูญเสียที่ไม่อาจทดแทนได้ หลายครอบครัวจึงมีการจัดพิธีศพและไว้อาลัยแก่สัตว์เลี้ยงล่วงลับ ตลอดจนรักษาสายสัมพันธ์หลังความตายกับสัตว์เลี้ยงตามความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละคน เช่น การทำบุญครบรอบวันตาย การเก็บอัฐิไว้ในห้องพระ การสร้างอนุสรณ์สถาน ไปจนถึงการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตที่เพิ่งเป็นข่าวดังในประเทศไทยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา7

รูป 2 อัฐิของเลดี้ สุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล ถูกเก็บรักษาไว้ในห้องพระของบ้าน
ภาพโดย ผู้เขียน

ครอบครัวหลากสายพันธุ์เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านความหมายของครอบครัวในสังคมร่วมสมัยที่กำลังเปิดกว้างต่อความสัมพันธ์ที่หลากหลายและไม่จำกัดเฉพาะมนุษย์ ด้านหนึ่งแนวคิดนี้อาจเป็นการท้าทายความเชื่อที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับความเหนือกว่าของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เรื่องใหม่และการที่สัตว์กลายมาเป็นสมาชิกในครอบครัวก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่กลับสะท้อนให้เห็นพลวัตของคำว่าครอบครัวที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ในยุคที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบรุนแรงต่อโลกจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และภูมิอากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติกำลังถูกทบทวนอย่างจริงจัง ท้ายที่สุด การยอมรับว่าสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งมีชีวิตอื่นสามารถเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้อาจช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและเปิดทางให้มองเห็นรูปแบบการอยู่ร่วมอย่างเกื้อกูลกับประชากรต่างสายพันธุ์ที่ล้วนมีบทบาทในการประกอบสร้างโลกและสังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่


เอกสารอ้างอิง

  1. ไทยรัฐ. เลี้ยงสัตว์เหมือนลูก! “คนไทย” เปย์หนัก 1-2 หมื่นบาทต่อปี ทาสแมวจ่ายเยอะสุด พร้อมทุ่มเพื่อ “มัมเหมียว”. https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing_trends/2769949 เข้าถึงเมื่อ 11 เมษายน 2568
  2. Irvine, L., & Cilia, L. (2017). More-than-human families: Pets, people, and practices in multispecies households. Sociology Compass, 11(2), e12455. https://doi.org/https://doi.org/10.1111/soc4.12455 สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2568
  3. Haraway, D. (2003). The companion species manifesto: dogs, people and significant otherness. Chicago, IL: Prickly Paradigm Press.
  4. Truyenque, M. C. (2023). Multispecies Families in Latin American Law. Derecho Animal, 14(1), 35–56. https://doi.org/10.5565/rev/da.643 สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2568
  5. Solhjoo, N. (2024). Knowing within multispecies families: An information experience study. Journal of Information Science, 0(0). https://doi.org/10.1177/01655515241268845 สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2568
  6. Schuurman, N. (2024). Multispecies Homescapes. Progress in Human Geography, 48(5), 655-668. https://doi.org/10.1177/03091325241240563 สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2568
  7. ไทยรัฐ. นักธุรกิจสาวราชบุรี ทุ่มเงินกว่า 6 ล้าน โคลนนิ่งสุนัขแสนรัก "เจ้าพะแพง" ตัวแรกของไทย. https://www.thairath.co.th/news/local/2849332 สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2568

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th