The Prachakorn

โลกร้อน คนย้ายถิ่น รูปแบบการอพยพในอาเซียนท่ามกลางวิกฤตภูมิอากาศ


มงคล ธงชัยธนาวุฒิ

07 พฤษภาคม 2568
33



การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นท้าทายระดับโลกและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ของมนุษย์ การย้ายถิ่นเป็นทั้งผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกลยุทธ์การปรับตัวของมนุษย์ต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยรูปแบบการย้ายถิ่นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งลักษณะและความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภัยธรรมชาติ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ (Agency) และศักยภาพของบุคคล (Capacity)

รูป วิกฤตภูมิอากาศ
ภาพโดย Freepik (Premium License)

ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Slow-onset Event) และภัยธรรมชาติอย่างฉับพลัน (Sudden-onset Event) ซึ่งส่งผลให้เกิดรูปแบบการย้ายถิ่นที่แตกต่างกันไป ดังนี้

เมื่อไม่มีทางเลือก: การพลัดถิ่นจากภัยธรรมชาติ (Displaced Population Caused by Natural Catastrophe)

ผู้ที่จำเป็นต้องหลบหนีออกจากที่อยู่อาศัยเดิมซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยพิบัติ ไปยังที่พักชั่วคราวที่จัดเตรียมโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ การพลัดถิ่นลักษณะนี้มักเกิดจากภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น พายุไต้ฝุ่นวาชิในปี 2554 และไต้ฝุ่นไฮยันในปี 2556 ที่ฟิลิปปินส์ หรือมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีลักษณะเป็นการย้ายถิ่นโดยไม่สมัครใจและมักเป็นการย้ายถิ่นแบบชั่วคราว

ทางออกแกมบังคับ: การย้ายถิ่นฐานตามแผน (Planned Relocation)

การย้ายถิ่นฐานตามแผนเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยภาครัฐ มีลักษณะกึ่งสมัครใจกึ่งบังคับ โดยรัฐวางแผนจัดสรรพื้นที่ใหม่ที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติเพื่อให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอพยพไปอยู่อาศัย ตัวอย่างเช่น ในจังหวัดเว้ (Hue) ของเวียดนาม รัฐบาลได้เสนอให้ชุมชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งย้ายไปยังพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ การย้ายถิ่นในรูปแบบนี้เป็นการย้ายแบบถาวรและมักเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

การย้ายถิ่นคือการปรับตัว: การย้ายถิ่นโดยสมัครใจ (Voluntary Migration)

การย้ายถิ่นโดยสมัครใจแตกต่างจากสองรูปแบบข้างต้นตรงที่ผู้ย้ายถิ่นมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจและมีศักยภาพในการเลือกที่ย้ายถิ่นสูงกว่า การย้ายถิ่นลักษณะนี้มักเกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ฝนตกไม่สม่ำเสมอ หรือภัยแล้ง ซึ่งกินระยะเวลายาวนาน จึงทำให้ผู้คนมีเวลาพิจารณาวางแผนและตัดสินใจว่าจะย้ายถิ่นหรือไม่ การย้ายถิ่นประเภทนี้พบมากในครัวเรือนที่ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรในชนบท โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรที่อาจลดน้อยลง แล้วจึงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังความมั่นคงทางอาหารและสภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ที่น่าสนใจคือ สาเหตุการย้ายถิ่นโดยสมัครใจมักไม่ได้ระบุว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรง แต่มักอ้างถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศแฝงอยู่ในปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากนี้ ปัจจัยทางประชากรศาสตร์ยังมีส่วนสำคัญ โดยผู้ที่ย้ายถิ่นส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มวัยแรงงานที่มีความสามารถในการเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภาคเกษตรในพื้นที่อื่น ๆ

ไม่ใช่ทุกคนที่เลือกจะไปหรือย้ายถิ่นได้: การอยู่กับที่ (Immobility)

การอยู่กับที่เป็นผลลัพธ์หนึ่งในสเปกตรัมของความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการย้ายถิ่น การอยู่กับที่อาจเกิดขึ้นโดยสมัครใจ (Voluntary Immobility) เมื่อผู้คนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ในถิ่นที่อยู่เดิม เช่น การกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ด้วยการทำงานทั้งในและนอกภาคเกษตร หรืออาจเกิดจากความผูกพันกับถิ่นที่อยู่ ที่ทำให้ตัดสินใจอยู่ต่อ ในทางกลับกัน การอยู่กับที่โดยไม่สมัครใจ (Involuntary Immobility) หรือ ประชากรที่ถูกจำกัดการเคลื่อนย้าย (Trapped Population  ) หมายถึงผู้ที่แม้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและต้องการใช้การย้ายถิ่นเป็นกลยุทธ์ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ไม่สามารถย้ายถิ่นได้ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ กลุ่มนี้มักเป็นผู้ที่มีความเปราะบางสูง เช่น ผู้หญิงที่มีภาระดูแลสมาชิกในครอบครัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศและข้อจำกัดทางสังคมที่ลดทอนอิสระในการตัดสินใจของผู้หญิง เนื่องจากบรรทัดฐานทางสังคมได้กำหนดบทบาทการดูแลครอบครัวให้กับพวกเธอ

บทสรุป

ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการโยกย้ายของผู้คนในภูมิภาคอาเซียนเต็มไปด้วยความซับซ้อนและรูปแบบที่มีความหลากหลาย การทำความเข้าใจเรื่องนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างนโยบายที่จะช่วยรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต   การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรต้องครอบคลุมในหลายมิติพร้อมกัน ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก   และการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ทั่วถึงสำหรับประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชากรที่ถูกจำกัดการเคลื่อนย้ายหรือผู้ที่เลือกไม่ย้ายถิ่นแม้เผชิญความเสี่ยง ควรมีมาตรการเฉพาะทาง เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ทนต่อภัยพิบัติ การจัดระบบประกันภัยที่เข้าถึงได้ การฝึกอบรมทักษะการรับมือภาวะฉุกเฉิน และการพัฒนาแหล่งรายได้ทางเลือกที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง


เอกสารอ้างอิง

  • Thongchaithanawut, M., Borderon, M., & Sakdapolrak, P. (2024). Regional evidence of environmental mobility in Southeast Asia: A systematic review of the empirical evidence. Singapore Journal of Tropical Geography, 45(3), 533–562. https://doi.org/10.1111/sjtg.12562

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th