“ลาออกจากงานประจำมาทำเกษตร” คงเป็นวลีที่คุ้นหู และเป็นภาพที่สวยหรูชวนจินตนาการของใครหลายๆ คนที่ฝันอยากมีชีวิตเช่นนี้ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองเป็นระยะเวลายาวนาน ต้องอาศัยอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ด้วยค่าเช่าที่แพงหูฉี่ แม้บางคนสามารถซื้อบ้านเป็นของตนเองได้ แต่การผ่อนบ้านกลับก่อหนี้สินเกือบทั้งชีวิต หลายครั้งที่อยากหวนคืนบ้านเกิดก็ต้องบอกตัวเองว่า “ยังทำไม่ได้” ด้วยหนี้สินที่มีอยู่ทำให้หลายคนจำต้องทำงานประจำต่อไป แต่เหตุผลนี้กลับไม่ใช่เหตุผลของผู้เขียนแต่อย่างใด
ผู้เขียนไม่มีภาระหนี้สินใดๆ ในขณะเดียวกันก็ไม่มีทรัพย์สินใดๆ อยู่ในเมืองหลวง จึงเป็นเรื่องง่ายในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตอีกครั้ง เพื่อหวนกลับมายังสวรรค์บนดินที่พ่อแม่สร้างไว้ให้บนเนื้อที่ 17 ไร่ ในอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ที่เคยเป็นพื้นที่ทำนาและตกทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ เป็นผืนดินที่พ่อแม่ใช้ประกอบอาชีพทำนาหาเลี้ยงลูกๆ มาทั้งชีวิต ผืนดินผืนนี้จึงมีคุณค่าทางจิตใจและต้องได้รับการฟื้นฟู เพื่อคืนชีวิตให้ผืนดินผืนนี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปที่ดินให้เหมาะสมในการทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาสารเคมี พร้อมขุดบ่อเก็บกักน้ำไว้ใช้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งหมดผ่านการออกแบบและปรับเปลี่ยนรูปร่างที่ดินผืนนี้โดยกำนันนพดล ธรรมาภรณ์ กำนันตำบลบ้านแพรกคนปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2560
ภาพที่ 1 ภาพมุมสูงพื้นที่ 17 ไร่หลังการปรับเปลี่ยนรูปที่ดินและกำลังก่อสร้างที่อยู่อาศัย
ปลายปี 2562 ตอนนั้นผู้เขียนอายุ 48 ปีเต็ม มีความรู้สึกอิ่มตัวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์กับการเป็นมนุษย์เงินเดือนและต้องทำงานภายใต้การถูกตีกรอบความคิด จึงเป็นจังหวะชีวิตที่ดีในการตัดสินใจยุติการทำงานประจำในเมืองกรุง เพื่อหวนกลับคืนบ้านเกิดอย่างถาวร และเป็นเวลาที่เหมาะสมหลังจากการปรับเปลี่ยนที่ดินผ่านไปได้เกือบสองปี จนมีความพร้อมทางกายภาพในการสร้างบ้านหลังใหม่บนที่ดินอันมีคุณค่าทางจิตใจนี้ พร้อมความตั้งใจที่จะพัฒนาสู่พื้นที่สีเขียว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงจากมือเกษตรกรไปสู่มือนายทุน จากพื้นที่สีเขียวในการทำนาถูกเปลี่ยนเป็นอาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ตระการตาเช่นในเมืองหลวง แต่สิ่งที่เป็นรากเง้าของคนบ้านแพรกนั่นคือ การทำนาหรือพื้นที่ทางการเกษตรกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
ภาพที่ 2 ภาพมุมสูงพื้นที่ 17 ไร่ และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ใกล้เคียง
ภาพการขยายตัวของความเป็นเมืองจึงผุดขึ้นมาในจินตนาการมากมายอย่างไม่ต้องบรรยายว่าพื้นที่อำเภอบ้านแพรกในอนาคตจะเป็นอย่างไร ในฐานะที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครมานานมากกว่า 30 ปี ไม่อยากเห็นความเป็นเมืองมาทดแทนภาพความเป็นชนบททั้งทางกายภาพและวิถีชีวิต ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เสน่ห์ของความเป็นชนบทสร้างความสุข ความสงบ และความสบายใจในระยะยาวได้อย่างไร
ดังนั้น ความท้าทายในการกลับบ้านไม่ใช่เพียงเพื่อกลับมาใช้ชีวิตเรียบง่ายและทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาสารเคมี เพื่อหวังให้ผืนดิน 17 ไร่ กลายพื้นที่สีเขียวตามที่ตั้งใจไว้เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจและหวังให้เกิดความหวงแหนและเก็บรักษาพื้นที่ทำนาของบรรพบุรุษที่ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอยู่ มีกิน มีความปลอดภัยทางอาหาร จึงเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่ต้องทำมากกว่าการกลับบ้าน เพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว
เมื่อคิดเช่นนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเล็กในการที่จะเดินไปบอกใครต่อใครให้รักและหวงแหนพื้นที่ทำกินของตนเองไว้ เพื่อไม่ให้ขายต่อ ในขณะที่ราคาข้าวดูเหมือนจะตกต่ำลงทุกวัน พร้อมต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อีกทั้งยังไร้อำนาจต่อรองกับนายทุนและผู้ค้าในทุกด้าน บวกกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างไม่มีวันจะลดลง จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมเกษตรกรเลือกขายที่ดินทำกินอย่างไม่ต้องคิดมาก เพื่อให้ได้เงินล้านที่ทั้งชีวิตของการทำนาอาจไม่เคยได้จับเงินล้านเลย
จากความตั้งใจดังกล่าว ผู้เขียนจึงเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินงานในระดับชุมชนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ถึงแม้ว่า การเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนจะไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนามบุคคลธรรมดาที่ไม่มีองค์กรรองรับ แต่ด้วยประสบการณ์และความรู้ที่สะสมมามากกว่า 30 ปีของการเป็นนักวิจัยด้านประชากรและสังคม และการเดินทางไปเห็นตัวอย่างความสำเร็จที่หลากหลายมาทั่วประเทศ ทำให้เกิดความมั่นใจและมองเห็นช่องว่างว่าควรเขียนข้อเสนอโครงการไปในทิศทางใด พร้อมนำประสบการณ์จากการเป็นนักวิจัยเข้าพูดคุยกับผู้นำชุมชนและและทีมส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลบ้านแพรก เพื่อหาข้อมูลที่จำเป็นและประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการร่วมกัน
จนกระทั่งปลายปี 2562 ได้รับโอกาสจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ไปนำเสนอข้อเสนอโครงการพร้อมกับกำนันนพดล ธรรมาภรณ์ กำนันตำบลบ้านแพรกและอดีตวิศวกร จนกระทั่งได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการดังกล่าว เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่ผลิต บริโภค และจำหน่าย ก่อให้เกิดการหมุนเวียนภายในชุมชนในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ลดความเหลื่อมล้ำจากราคาอาหารหรือผลผลิตปลอดสารเคมีที่มีราคาสูงจนยากที่จะเข้าถึงได้โดยเฉพาะคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลาเกือบ 6 ปีแล้วที่กลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่ไม่มีความสุข ถึงแม้จะเหนื่อยล้ากับการทำงานมากมายในแต่ละวัน แต่เป็นเพียงการเหนื่อยล้าทางร่างกายเท่านั้น ในขณะที่หัวใจอิ่มเอมอยู่ตลอดเวลา เป็นผลพวงจากการได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักและได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านเกิด นอกจากนั้น ทำให้ได้เรียนรู้ว่าคุณค่าของชีวิตไม่ใช่แก้วแหวนเงินทอง เกียรติยศ หรือชื่อเสียง แต่คุณค่าของชีวิตคือการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอิสระทางความคิดและการกระทำ ได้แบ่งปันสิ่งที่ดีให้กับชุมชน สะท้อนความสำคัญของการนำ “ความสุข” ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตและดัชนีชี้วัดการพัฒนาประเทศที่สะท้อนสภาพสังคมและความรู้สึกของประชาชนดีกว่าตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจอย่างแท้จริง