The Prachakorn

การศึกษาปฐมวัยในเมืองใหญ่: โอกาสที่ยังขาด


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

20 มิถุนายน 2568
156



สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2566 เพื่อสะท้อนสถานการณ์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของบริบทสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง การมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน และบทบาทผลการดำเนินงานของภาคประชารัฐในการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมถึงสภาพการณ์และแนวโน้มของปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีความสำคัญ โดยหนึ่งในประเด็นที่มีการนำเสนอ คือ “การศึกษาและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย” ซึ่งมีข้อมูลที่ชวนให้ฉุกคิดอยู่หลายประเด็น 

ข้อมูลในรายงานชี้ให้เห็นว่า เด็กปฐมวัยในกรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยอย่างมาก อีกทั้ง อัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาก็สูงกว่าภูมิภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด เด็กปฐมวัยในกรุงเทพฯ จำนวนมากที่ควรจะได้เข้าเรียนและพัฒนาตนเองในช่วงปฐมวัย กลับต้องพลาดโอกาสเพียงเพราะไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เพียงพอ หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีไม่สามารถตอบโจทย์ข้อจำกัดวิถีชีวิตคนเมืองที่ทำให้พ่อแม่จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 พบว่า ร้อยละของเด็กอายุ 3-5 ปี ที่กำลังเรียนในหลักสูตรปฐมวัยในกรุงเทพฯ รวมถึงเขตเมือง (ทั่วประเทศ) นั้น “ต่ำกว่า” ในเขตชนบทอย่างชัดเจนในกรุงเทพฯมีเด็กเพียงร้อยละ 58 ที่เข้าถึงการศึกษาปฐมวัยขณะที่ในเขตเมืองมีร้อยละ 70 ซึ่งสูงกว่ากรุงเทพฯ มากเกือบ 2 เท่า แต่ก็ยังต่ำกว่าในเขตชนบทที่มีเด็กเข้าถึงที่ร้อยละ 79 (ซึ่งก็นับว่า ยังเป็นความท้าทายที่เด็กอายุ 3-5 ปี ในชนบท มากถึงเกือบ 1 ใน 4 ยังเข้าไม่ถึงการศึกษาปฐมวัย) ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัย โดยเฉพาะในเมืองหลวงของประเทศ ซึ่งยังพบข้อมูลเพิ่มเติมว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาระดับอนุบาล ในปีการศึกษา 2566 มีจำนวนสูงถึง 245,045 คน นับเป็นจำนวนที่มากจนน่าตกใจสำหรับพื้นที่ที่มีความเจริญอย่างกรุงเทพฯ

อีกประเด็นที่เป็นเรื่องน่ากังวล ข้อมูลในภาพรวมของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยและพัฒนาการของเด็กปฐมวัยมีความเชื่อมโยงกับฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ครอบครัวที่มีรายได้น้อยมักขาดทรัพยากร ทั้งทางเศรษฐกิจในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กเช่น หนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ รวมถึงทางด้านเวลาที่พ่อแม่จะได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ

ในบริบทของมหานครใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ที่สูงกว่าพื้นที่อื่น การเข้าถึงโอกาสในการศึกษาปฐมวัยของเด็กใน “ครอบครัวยากจนในเขตเมือง” และได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยทางสังคมที่ใกล้ชิดและสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย จึงเป็นประเด็นปัญหาที่ควรได้รับความสนใจและสนับสนุนจากสังคม หน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

การแก้ไขปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ การขยายการเข้าถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในกรุงเทพฯ รวมถึง พื้นที่เขตเมืองให้มากขึ้น เป็นหนึ่งในทางออกที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะในเขตที่มีประชากรหนาแน่น ควรมีศูนย์พัฒนาเด็กที่มีคุณภาพรองรับ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพศูนย์ฯ ที่มีอยู่แล้ว เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงมาตรฐานและอบรมครูปฐมวัยให้มีทักษะในการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและการคิดเชิงสร้างสรรค์

ในส่วนบทบาทของครอบครัว การทำความเข้าใจบริบทวิถีชีวิตคนเมือง โดยเฉพาะครอบครัวคนเมืองรายได้น้อย เพื่อเข้าใจเงื่อนไขวิถีชีวิต ข้อจำกัดและอุปสรรคในการสนับสนุนพัฒนาการและการเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยของเด็กในครอบครัวเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นข้อมูลฐานคิดพิจารณาแนวทางในการสนับสนุน และจัดระบบการศึกษาปฐมวัยที่สามารถตอบโจทย์บริบทชีวิตเมืองของครอบครัวกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคที่อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง การที่เด็กทุกคนได้รับการศึกษาและพัฒนาการที่เหมาะสมตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะในอนาคตเด็กเหล่านี้คือทรัพยากรมนุษย์ที่จะขับเคลื่อนประเทศ การพัฒนาให้พวกเขามีความพร้อมตั้งแต่ต้น จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพื่อโอกาสที่ดีต่อเด็กทุกคน และต่อการพัฒนาประเทศในวันข้างหน้า

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th