The Prachakorn

“หมอ” ในเรือนจำ


กัญญา อภิพรชัยสกุล

24 มิถุนายน 2568
94



เมื่อต้นปี (2568) ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำกลางประจำจังหวัด จำนวน 4 เรือนจำ โดยเป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับระบบการดูแลสุขภาพให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งพบว่าระบบบริการสุขภาพในเรือนจำไทยได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการบูรณาการระหว่างกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันเรือนพยาบาลในเรือนจำหลายแห่งได้รับการยกระดับเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช่นเดียวกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกด้วย โดยมีโรงพยาบาลจังหวัดเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการดูแลรักษาผู้ต้องขัง นอกจากงบประมาณของ สปสช. แล้ว เรือนจำยังมี โครงการ "ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" (กรมอนามัย, 2568) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข” ในทุกเรือนจำอีกด้วย โครงการราชทัณฑ์ปันสุขเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เป็นโครงการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพหลังจากพ้นโทษ ทั้งยังสอดคล้องกับข้อกฎหมายและข้อกำหนดแมนเดลล่าที่ 24-29 และ 31 (องค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล, 2559) ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้ต้องขังต้องได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพในมาตรฐานเดียวกับที่รัฐจัดให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม และการจัดการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังควรทำร่วมกับหน่วยบริการในชุมชนเพื่อความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วยอีกด้วย 

สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำไทยที่ผ่านมา ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักประสบปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ และขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลรักษาภายในเรือนจำ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ จึงได้พระราชทานแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดการบูรณาการทางการแพทย์ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานทางการแพทย์ของทหาร ตำรวจ โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับกรมราชทัณฑ์  เพื่อให้ผู้ต้องขังได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม มีการดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นการสืบสาน รักษาและต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ด้วย    

ที่มาของชื่อบทความ “หมอในเรือนจำ” ชื่อหมอในเรือนจำเป็นชื่อซีรีส์เกาหลีที่ผู้เขียนดูและชื่นชอบมากจนต้องการให้มีหมอเหมือนในซีรีส์ประจำอยู่ในเรือนจำไทย แต่ด้วยข้อจำกัดของเรือนจำไทยจึงไม่สามารถมีหมอหรือแพทย์ประจำอยู่ในเรือนจำได้ ดังนั้นพยาบาลที่ประจำอยู่เรือนพยาบาลในเรือนจำจึงจำเป็นต้องเป็น “หมอ” ไปโดยปริยาย จากโอกาสที่เข้ามาด้วยอาชีพนักวิจัยทำให้ผู้เขียนได้เข้าไปเก็บข้อมูลในเรือนจำ และได้สัมภาษณ์พยาบาลที่ประจำอยู่เรือนพยาบาลในเรือนจำ พยาบาลเรือนจำทุกคนต่างมีมุมมองกับผู้ต้องขังเหมือนกัน คือ “ผู้ต้องขังคือมนุษย์คนหนึ่ง” เมื่อเจ็บป่วยต้องได้รับการดูแลรักษา ทั้งต้องรีบให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เสียชีวิตหรือพิการในเรือนจำ และหากพบว่าผู้ต้องขังมีอาการผิดปกติใด ๆ ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติม จะต้องส่งต่อโรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป 

ในเรือนจำนั้น การควบคุมโรคติดต่อภายในเรือนจำถือเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่จำกัดและการมีผู้ต้องขังอยู่รวมกันหนาแน่น ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น วัณโรค (Tuberculosis: TB) เรือนจำจะมีระบบคัดกรองและดูแลสุขภาพผู้ต้องขังใหม่ที่เข้ามาในเรือนจำทุกคน ซึ่งถือเป็นด่านแรกที่สำคัญในการป้องกันการระบาดของโรคในระดับเรือนจำ บทบาทของพยาบาลเรือนจำในกระบวนการคัดกรองผู้ต้องขังใหม่ การดูแลด้านสุขภาพ และการจัดการเครือข่ายบริการสุขภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในแง่การวินิจฉัยเบื้องต้น การให้ความรู้ และการเชื่อมโยงไปยังระบบสุขภาพภายนอก กระบวนการคัดกรองผู้ต้องขังใหม่และรูปแบบการให้บริการสำหรับผู้ต้องขังใหม่เป็นมาตรการและมาตรฐานที่มีการดำเนินการในเกือบทุกเรือนจำ ผู้ต้องขังใหม่จะมีการดำเนินการตรวจสุขภาพอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การเก็บเสมหะเพื่อตรวจวัณโรคทันทีเมื่อเข้าสู่ระบบเรือนจำ การเอกซเรย์ทรวงอกต้องทำภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน สำหรับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อโรคต่างๆ ได้แก่ เชื้อเอชไอวี วัณโรค ไวรัสตับอักเสบบีและซี และซิฟิลิส ในกรณีที่พบว่าเป็นโรควัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ต้องการแยกกักตัวเพื่อเฝ้าระวังอาการและได้รับยารักษาอย่างทันท่วงที การรับประทานยาต้องกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6-8 เดือนจนกว่าจะหายขาด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคเข้าสู่ระบบเรือนจำ และเป็นการสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยทางสุขภาพต่อผู้ต้องขังรายอื่น 

ผู้ต้องขังในเรือนจำ แม้ว่าจะอยู่ภายใต้ระบบปิดซึ่งเอื้อต่อการคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษา   วัณโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการดูแลเรื่องรับประทานยาครบตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีโอกาสหายขาดสูง แต่หนึ่งในข้อท้าทายสำคัญ คือ การติดตามผู้ต้องขังหลังพ้นโทษขณะทำการักษา ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของระบบเรือนจำและการควบคุมโดยตรงของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว หรือผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการตรวจวินิจฉัยแต่ได้รับการประกันตัวออกไป หากตรวจพบว่าเป็นวัณโรค อาจไม่สามารถติดตามตัวเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อเมื่อกลับสู่ชุมชน โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีระบบติดตามและการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างเรือนจำกับหน่วยบริการสุขภาพภายนอก ดังนั้น ควรมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับเรือนจำ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ เช่น ค่าตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจเลือด และเอกซเรย์ ก่อนการปล่อยตัว และให้การสนับสนุนการดำเนินงานในระยะยาว หากไม่สามารถพึ่งพางบประมาณภายนอกได้ ควรมีแนวทางพึ่งพาตนเองในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความยั่งยืน นอกจากนี้ควรมีการประสานส่งต่อเพื่อคืนผู้ต้องขังสู่ชุมชนนอกจากด้านสุขภาพแล้วยังเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่ต่อไปในชุมชนด้วย

ปัจจุบันในเรือนจำบางแห่งมีระบบการสื่อสารทางไกล (telecommunication) เพื่อใช้สื่อสารระหว่างแดนต่าง ๆ กับเรือนพยาบาล และมีบริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ด้วย เพื่อใช้ในการสื่อสารกับโรงพยาบาลแม่ข่ายได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากหากผู้ต้องขังเจ็บป่วยฉุกเฉินกว่าจะทำเรื่องออกจากเรือนจำต้องใช้เวลานาน พอมีบริการการแพทย์ทางไกล พยาบาลเรือนจำสามารถปรึกษาแพทย์จากโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ทันที โดยระบบการสื่อสารทางไกลติดตั้งไว้ทุกแดนเพื่อให้รู้เหตุการณ์ภายในแดนต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น 

สำหรับการดูแลด้านสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น ในการดำเนินงานจะประสานงานกันในระดับผู้ปฏิบัติ โดยจะทำงานบูรณาการในรูปแบบเครือข่ายภาพรวมระดับจังหวัด โดยโรงพยาบาลจังหวัดทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการดูแลรักษา มีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นแกนหลักในการประสานงาน และพยาบาลในเรือนจำเป็นผู้ดูแลหลัก บทบาทของพยาบาลในเรือนจำถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ต้องขังกับระบบบริการสุขภาพภายนอก ต้องปฏิบัติหน้าที่ในบริบทที่มีข้อจำกัดทั้งในด้านทรัพยากร บุคลากร และข้อกำหนดด้านความมั่นคงภายในเรือนจำ พยาบาลเรือนจำ (คุณหมอของผู้ต้องขัง) จึงมักต้องทำหน้าที่ครอบคลุมทั้งการให้บริการปฐมภูมิ การคัดกรองโรค การรักษาเบื้องต้น รวมถึงการประสานส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลภายนอกด้วย

โดยสรุป พยาบาลเรือนจำหรือที่ผู้ต้องขังทุกคนเรียกว่า “หมอ” มีบทบาทที่สำคัญในการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังภายใต้ข้อจำกัดของระบบราชทัณฑ์ ในการทำงานร่วมกับเครือข่ายด้านสาธารณสุข และการสนับสนุนจากโครงการระดับนโยบาย เช่น โครงการราชทัณฑ์ปันสุข สามารถช่วยเสริมศักยภาพในการให้บริการด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันระบบการคัดกรองโรคอย่างเป็นระบบ ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบสุขภาพในเรือนจำ อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนของระบบยังคงต้องการกลไกติดตามผู้พ้นโทษและความร่วมมือจากชุมชน หากสามารถวางระบบที่ครอบคลุมได้ ก็จะสามารถช่วยลดการแพร่กระจายของโรคในระดับประเทศ และยกระดับสิทธิด้านสุขภาพของผู้ต้องขังตามหลักมนุษยธรรมได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ อีกหนึ่งกลไกสำคัญอย่าง “อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสจร.” เป็นกลไกที่มีความสำคัญ ชวนติดตามบทความต่อไปของผู้เขียน เรื่อง “อาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ”

กิตติกรรมประกาศ  ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ผู้บัญชาการเรือนจำ พยาบาลเรือนจำ ผู้ต้องขัง อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ รวมถึงเจ้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เข้าไปเก็บข้อมูลในการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำมา ณ ที่นี้  

 
รูป: โครงการพระราชดำริ: โครงการราชทัณฑ์ปันสุข
ที่มา: โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหิน. (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์). นโยบายของผู้บริหาร: โครงการพระราชดำริ.
สืบค้นจาก https://nonghinhospital.com/wp-content/uploads/1.2.1-นโยบายของผู้บริหาร-โครงการพระราชดำริ.pdf


เอกสารอ้างอิง

  • กรมอนามัย. (2568). รายงานผลการประเมินการพัฒนาระบบราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กลุ่มภารกิจด้านส่งเสริมสุขภาพ (IDC3-8). กระทรวงสาธารณสุข. https://hp.anamai.moph.go.th/web-upload/4xceb3b571ddb70741ad132d75876bc41d/tinymce/OPDC/OPDC2568F/IDC38/OPDC2568_IDC3-8_01-1.pdf
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหิน. (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์). นโยบายของผู้บริหาร: โครงการพระราชดำริ. สืบค้นจาก https://nonghinhospital.com/wp-content/uploads/1.2.1-นโยบายของผู้บริหาร-โครงการพระราชดำริ.pdf
  • องค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล. (2559). ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา): คู่มือฉบับย่อ. สืบค้นจาก https://cdn.penalreform.org/wp-content/uploads/2016/01/PRI_Mandela-Rules_Short_Guide_THAI_Lowres.pdf

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th