สังคมสูงวัยไม่ได้เป็นเพียงวาระสำคัญของประเทศไทย แต่ยังเป็นประเด็นท้าทายสำคัญในระดับโลกและภูมิภาค ที่หลากหลายประเทศในปัจจุบันกำลังเผชิญร่วมกัน ด้วยโจทย์นี้เอง โครงการ Sakura Science Exchange Program ซึ่งจัดโดย มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น จึงกลายเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านประเด็นผู้สูงอายุและสุขภาพ โดยมีหัวข้อหลักคือ “Towards Sustainable Health with the Concept of Society 5.0” เปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักศึกษาจากหลากหลายประเทศได้ร่วมกันเรียนรู้และค้นหาแนวทางใหม่ ๆ ในการดูแลประชากรผู้สูงอายุ
ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งหมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด1 ในปีพ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 13,193,247 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 จากจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ประกอบกับอัตราการเกิดที่ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 70 ปี2 โดยในปี 2567 มีจำนวนเด็กไทยเกิดเพียงจำนวน 461,421 คน3 ทำให้ระบบการดูแลสุขภาพและการดูแลทางสังคมของผู้สูงอายุมีความจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีความยั่งยืน ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสามารถอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นแรงหนุนในการส่งเสริมให้ระบบมีความยั่งยืนได้
ภาพ บรรยากาศในห้องเรียน
ภาพโดยผู้เขียน
ตลอดระยะเวลา 10 วันของการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนฯ ณ เมืองฮอกโกโด ประเทศญี่ปุ่น ทีมผู้เขียนจากประเทศไทย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยและนักศึกษาจากหลากหลายประเทศในหัวข้อการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้เข้าเยี่ยมชม Nursing Care Robot Centre ของบริษัท Mulberry Co., Ltd. ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต้นแบบที่ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการดูแลรายบุคคล ภายในศูนย์ฯ มีการจัดแสดงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ครอบคลุมทั้งด้านการเคลื่อนไหว การดำรงชีวิตประจำวัน และการดูแลระยะยาวแบบประคับประคอง โดยในศูนย์ฯมีอุปกรณ์ที่โดดเด่น เช่น หุ่นยนต์ช่วยเดินสำหรับผู้มีปัญหาการเคลื่อนไหว เก้าอี้สุขภัณฑ์อัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการชับถ่าย เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ ระบบเซนเซอร์ภายในบ้าน และหุ่นยนต์สื่อสารที่ช่วยติดตามสัญญาณชีพและพฤติกรรมของผู้อายุโดยไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับการออกแบบโดยคำถึงความปลอดภัย ความสะดวก ความอิสระ ความเป็นส่วนตัว และความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน พร้อมช่วยลดภาระของผู้ดูแล ซึ่งสะท้อนแนวคิดด้านการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่ครอบคลุมในบริบทของสังคม ยุค 5.0
ภาพบรรยากาศการเข้าเยี่ยมชม Nursing Care Robot Centre ของบริษัท Mulberry Co., Ltd.
ภาพโดยผู้เขียน
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่สูงวัยมากที่สุดในโลก โดยประชากรเกือบ 1 ใน 3 มีอายุมากกว่า 65 ปี และประชากรกว่า 1 ใน 10 ของประเทศมีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป4 ด้วยเหตุนี้ประเทศญี่ปุ่นจึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ ตั้งแต่ระดับการใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการส่งเสริมสุขภาวะทางด้านจิตใจ เช่น
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของอุปกรณ์เทคโนโลยีในการช่วยเหลือเหล่านี้ ไม่ได้ถูกออกแบบมาแทนที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่ทว่าได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้ดูแลทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดีขึ้น และผู้สูงอายุสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้อย่างมีอิสระและมีศักดิ์ศรี นอกจากนี้ หนึ่งในประเด็นที่ผู้เขียนประทับใจอย่างยิ่งจากการศึกษาดูงานครั้งนี้ คือการที่ภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชนของญี่ปุ่นได้ร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การสนับสนุนด้านเงินทุน การวิจัยและพัฒนา จนถึงการนำเทคโนโลยีไปใช้จริงในระบบบริการสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญในการออกแบบเทคโนโลยี คือการยึดหลักให้ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการออกแบบเน้นความเรียบง่าย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับผู้ใช้อย่างแท้จริง ทำให้เห็นถึงระบบการสนับสนุนที่มีการร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ จะต้องมีการร่วมมือกันในระดับนโยบาย การดำเนินการในเชิงปฏิบัติ และการบูรณาการให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างยั่งยืน
ภาพ หุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ
ภาพโดยผู้เขียน
ในยุคปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางโครงสร้าง ประชากรได้นำมาซึ่งข้อจำกัดและความท้าทายหลายประการต่อระบบสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณ และความสามารถในการเข้าถึงบริการ ประเทศญี่ปุ่นได้มีการรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ การพัฒนาเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแลและสนับสนุนผู้สูงอายุ เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและช่วยลดภาระของผู้ดูแล โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น หุ่นยนต์ช่วยดูแล อุปกรณ์สวมใส่ และแพลตฟอร์มระบบจัดการข้อมูลด้านสุขภาพที่สามารถแจ้งเตือนการนัดหมายและติดตามอาการได้อย่างแม่นยำ ล้วนเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการเข้ากับการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสะท้อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีโครงสร้างและบริบททางสังคมที่ต่างจากประเทศญี่ปุ่น แต่ประเทศไทยเองก็มีต้นทุนที่สำคัญ เช่น สถาบันครอบครัว การมีชุมชนที่เข้มแข็ง และเครือข่ายอาสาสมัครที่มีอย่างแพร่หลายในท้องถิ่น ดังนั้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในรูปแบบที่เหมาะสมและไม่ซับซ้อน เช่น ระบบแจ้งเตือนสุขภาพผ่านมือถือ หรือระบบติดตามผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบท อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมให้มีพื้นที่การเรียนรู้ระหว่างภาคนโยบาย นักวิจัย และผู้ที่ใช้งานจริง ได้แบ่งปันความเห็นร่วมกัน เพื่อทำให้นวัตกรรมการดูแล เติบโตไปพร้อมกับหัวใจของผู้สูงอายุและผู้ดูแลนอกจากนี้ ประเทศไทยควรมุ่งพัฒนา ระบบการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยระบบดังกล่าวควรมีการบูรณการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
การดูแลผู้สูงอายุในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจทางสังคม วัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการออกแบบเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นไปทาง “ส่งเสริมศักยภาพ” มากกว่า “การแทนที่มนุษย์” โครงการ Sakura Exchange Program ได้เปิดโลกทัศน์ ใหม่ให้แก่ผู้เขียน ได้มีโอกาสศึกษาการใช้เทคโนโลยีในการดูแลผู้สูงอายุจากประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ที่พัฒนานวัตกรรมและระบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประสบการณ์ครั้งนี้ช่วยให้ผู้เขียนได้ย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า การดูแลผู้สูงอายุ คือ “ภารกิจของทุกคนในสังคม” หากเรามีความเข้าใจในเทคโนโลยี เชื่อมโยงนวัตกรรมเข้ากับหัวใจของผู้ใช้ และเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้ร่วมส่งเสียงของตนเอง เทคโนโลยีจะไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยก แต่จะกลายเป็น “เพื่อนร่วมทาง” ที่ร่วมสร้างความหมายใหักับการมีอยู่ของชีวิตในช่วงสูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ
เอกสารอ้างอิง