“เมืองสุขภาพดี” (Healthy City) เป็นคำที่ถูกนิยามขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงทิศทางของการพัฒนาเมืองที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างและพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างรอบด้านของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ โดยประเด็นดังกล่าวเป็นกระแสที่ถูกนำมาใช้เป็นวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาเมืองต่างๆ ยาวนานกว่า 30 ปี
ปัจจุบันเมืองสุขภาพดีมีความเกี่ยวข้องและความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชากร ตลอดจนการจัดการ ส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วจากโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ รวมถึงอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 211
เมืองสุขภาพดีถูกริเริ่มโดยการกำหนดเป้าหมายที่จะให้ประเด็นด้านสุขภาพเป็นวาระลำดับต้นๆ ของสังคมและการเมือง ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ ความเสมอภาค และการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน2 ดังนั้นการดำเนินการพัฒนาเมืองเหล่านี้ จึงขึ้นอยู่กับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และการให้ความสำคัญของการดำเนินการในระดับท้องถิ่นและระดับเมืองนั้นๆ เป็นหลัก โดยเน้นที่บทบาทการมีส่วนร่วมที่สำคัญในระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่อุบัติการณ์และความชุกของโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุดของทั่วโลก3 ดังนั้น เมืองสุขภาพดีจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการออกแบบการบริการด้านสุขภาพ และการจัดสภาพแวดล้อมให้กับประชากรที่อาศัยในเมืองเหล่านั้นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
แนวคิดเกี่ยวกับเมืองสุขภาพดีมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้มีการผสานองค์ความรู้ที่มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย การแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขที่เป็นอุบัติการณ์ใหม่ การจัดแนวทางที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับโลกและระดับภูมิภาคสำหรับสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันได้มีการผสานความรู้จากประสบการณ์ และกำหนดรากฐานการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับบริบทและความต้องการของประชากรในระดับท้องถิ่น
ในมิติทางประชากร การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความหนาแน่นประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นในเขตเมือง การตั้งถิ่นฐานที่ไม่เป็นทางการ การจ้างงานชั่วคราว การอยู่อาศัยของผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยรวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการเข้าถึงสุขอนามัยที่ไม่เพียงพอ ความจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขและสุขภาพที่ยากลำบาก ตลอดจนความเสี่ยงด้านพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งหมดล้วนส่งผลให้เมืองเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การที่เมืองต่างๆ ตื่นตัวและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการหยิบแนวคิดเรื่องเมืองสุขภาพดีมาเป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง เป็นสิ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงระหว่างประชากรและเมืองในระยะยาว ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับองค์ประกอบที่สำคัญของการดำเนินการเกี่ยวกับเมืองสุขภาพดีไว้ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1) ปรับปรุงการบริหารจัดการเมืองเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 2) ลด/ย่อขนาดความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพ 3) ส่งเสริมแนวทางการดูแลสุขภาพในทุกนโยบาย4) ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและการเสริมพลัง และสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่สนับสนุนสุขภาพ 5) สร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่สนับสนุนสุขภาพและทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ 6) ปรับปรุงคุณภาพและการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสังคมในท้องถิ่น 7) การวางแผนที่ให้ความสำคัญกับทุกคนในเมือง 8) เสริมสร้างการบริการสาธารณสุขในท้องถิ่นและความสามารถในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และ 9) วางแผนของเมืองให้มีความพร้อม และตอบสนองกับเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ดูรูป)
ที่มา: ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค)
ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ชวนคิดต่อไปว่า หากประเทศไทยของเรามีเมืองที่สามารถพัฒนาองค์ประกอบของความเป็นเมืองสุขภาพดีที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมสุขภาพของประชากรไทยในอนาคตก็น่าจะได้รับการส่งเสริมและยกระดับจนนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีอย่างถ้วนหน้าได้ไม่ยาก
เอกสารอ้างอิง