The Prachakorn

ยกทรง


วรชัย ทองไทย

09 ตุลาคม 2561
366



ยกทรง (brassiere; bra) เป็นเครื่องนุ่งห่มชั้นในของสตรี ที่สวมใส่เพื่อปกปิดและพยุงเต้านม ยกทรงมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ โดยสตรีในยุคนั้นจะสวมยกทรงในเวลาเล่นกีฬา ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบทำด้วยขนสัตว์หรือฝ้าย แต่ปัจจุบันยกทรงถือเป็นเสื้อชั้นในปรกติที่สตรีสามารถสวมใส่ได้ทุกเวลา

ยกทรงในรูปแบบปัจจุบัน ถูกจดสิทธิบัตรเป็นครั้งแรกในค.ศ. 1899 ที่ประเทศเยอรมัน และเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1914 ในการออกแบบและผลิตยกทรงนั้น สตรีจะมีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก โดยครึ่งหนึ่งของผู้จดสิทธิบัตรเป็นสตรี

การผลิตขนานใหญ่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำ.ให้บริษัทผู้ผลิตพยายามสร้างมาตรฐานของขนาดยกทรงขึ้น แต่ก็ยังตกลงกันไม่ได้จนถึงปัจจุบัน สำหรับที่ตกลงใช้ร่วมกันคือ การบอกขนาดยกทรงด้วยตัวเลขและตัวอักษร โดยตัวเลขบอกความยาวรอบอก และตัวอักษร (A B C D E F) บอกขนาดของคัพ (cup) หรือขนาดของเต้านม เช่น ยกทรงขนาด 34B หมายถึง ยกทรงที่มีความยาวรอบอกวัดที่ฐานนมเท่ากับ 34 นิ้ว และขนาดของคัพเท่ากับ B โดยค่าของคัพคำนวณจากความแตกต่างระหว่างความยาวรอบอกที่วัดผ่านหัวนมกับความยาวรอบอกที่วัดที่ฐานนม ค่าของคัพเริ่มจากน้อยไปหามาก กล่าวคือ A น้อยที่สุด F มากที่สุด (สำ.หรับประเทศที่ใช้ระบบเมตริก ตัวเลขความยาวรอบอกจะใช้เซนติเมตรแทนนิ้ว)

ขนาดของคัพมีความสัมพันธ์กับความยาวรอบอก ทั้งนี้เพราะขนาดของเต้านมสตรีจะเปลี่ยนไปตามขนาดของหน้าอก ดังนั้น คัพ B บนหน้าอก 34 นิ้ว จะไม่เท่ากับคัพ B บนหน้าอก 36 นิ้ว ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้ยกทรงแต่ละแบบมีขนาดให้เลือกถึง 36 ขนาด นอกจากนี้ขนาดยกทรงของแต่ละยี่ห้อก็ยังแตกต่างกันไปอีกด้วย

การใส่ยกทรงที่ไม่พอดีตัวอาจทำให้ปวดหลังและคอได้ ผู้ใส่จึงควรที่จะทดลองใส่ก่อนซื้อทุกครั้งที่เปลี่ยนยี่ห้อ หรือเมื่อน้ำ.หนักตัวเปลี่ยนไปก็ควรทดลองใส่ก่อนซื้ออีกเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกที่สตรีประมาณร้อยละ 80-85 ใส่ยกทรงผิดขนาด เพราะยังคงซื้อยกทรงตามขนาดเดิมที่ใช้อยู่

ยกทรงเป็นสินค้าแฟชั่นที่ผลิตขึ้นเพื่อความสวยงามมากกว่าเพื่อประโยชน์ใช้สอย แต่ก็ยังมียกทรงที่ผลิตขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพด้วย ได้แก่

ยกทรงให้นม (nursing bra) เป็นยกทรงที่สตรีใช้ในช่วงให้นมลูก ซึ่งสามารถให้นมบุตรได้โดยไม่ต้องถอดยกทรง ด้วยการออกแบบให้ส่วนที่ประคองเต้านมสามารถเปิดและปิดได้ด้วยมือเพียงข้างเดียว

ยกทรงกีฬา (sports bra) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเจ็บปวดและความอึดอัดหน้าอก อันเนื่องมาจากการแกว่งตัวของเต้านมในระหว่างการออกกำลังกาย ยกทรงกีฬามีรูปร่างเหมือนเสื้อกล้ามที่สั้นแค่หน้าอก ทำให้ยกทรงกีฬาบางยี่ห้อถูกออกแบบเพื่อให้ใช้เป็นเสื้อผ้าชั้นนอกได้อีกด้วย

ยกทรงกีฬาแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่ห่อหุ้มเต้านม และชนิดที่กดรัดเต้านม ถึงแม้ว่ายกทรงชนิดห่อหุ้มจะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่สตรีบางคนยังคงนิยมใช้ชนิดกดรัด

นักวิ่งชายบางคนอาจใส่ยกทรงกีฬาเป็นเสื้อชั้นใน เพื่อป้องกันหัวนมถลอก อันเกิดจากการเสียดสีของหัวนมกับเสื้อที่เปียก แต่สำหรับชายที่มีเต้านมใหญ่ เพราะเป็นโรคอ้วนหรือโรค gynecomastia ก็อาจเลือกที่จะใส่ “บราผู้ชาย” (male bra) ซึ่งจะทำให้เต้านมดูเล็กลง

ใน ค.ศ.2007 Elena N. Bodnar นักวิทยาศาสตร์ชาวยูเครน ได้จดสิทธิบัตร “ยกทรงฉุกเฉิน” ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน คือ Raphael C. Lee กับ Sandra Marijan ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย “ยกทรงฉุกเฉิน” สามารถเปลี่ยนเป็นหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ อันเกิดจากระเบิดสารเคมี สารพิษชีวภาพและสารพิษอื่นๆ ได้ ซึ่งความคิดที่จะประดิษฐ์หน้ากากฉุกเฉินนี้ เกิดมาจากประสบการณ์ที่ได้เห็นการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชียร์โนบีล (Chernobyl nuclear disaster) ในประเทศยูเครนเมื่อ ค.ศ. 1986

ใน ค.ศ. 2009 รางวัลอีกโนเบล สาขาสาธารณสุข จึงได้มอบให้กับนักประดิษฐ์ทั้งสาม โดยผู้ที่ไปรับรางวัลคือ Elena N. Bodnar

Elena N. Bodnar กำลังสาธิตการเปลี่ยน “ยกทรงฉุกเฉิน” ให้เป็นหน้ากากป้องกันสารพิษในงานประกาศรางวัลอีกโนเบล
ที่มา: https://www.improbable.com/ig/winners/

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำ แล้วจึงได้คิด

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ยกทรง

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th