วันที่ 18 พฤศจิกายน 2561
ผมเขียนบทความนี้บนเครื่องบินที่กำลังบินจากกรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก สู่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ช่วงนี้จะใช้เวลาบนอากาศประมาณ 9 ชั่วโมง
ผมจะแวะพักที่โดฮา 3 ชั่วโมง แล้วเปลี่ยนเครื่องบินต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ โดยจะใช้เวลาบินอีกราว 6 ชั่วโมง รวมเวลาที่ผมจะใช้ในการเดินทางกลับจากโมซัมบิกมายังประเทศไทยไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง ไม่นับรวมเวลาเดินทางจากที่พักมาสนามบิน พิธีการตรวจคนเข้าเมือง การรอขึ้นเครื่อง อีกหลายชั่วโมง อย่างการเดินทางระหว่างประเทศไทยกับโมซัมบิกของผมครั้งนี้ถ้าคิดรวมทั้งขาไปและขากลับก็ประมาณได้ว่าผมต้องใช้เวลา 2 วันเต็มๆ
เมื่ออายุมากขึ้น ผมเริ่มไม่สนุกกับการเดินทางไกล ผมหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามทวีปมาหลายปีแล้ว
แล้วทำไมผมจึงมานั่งเขียนบทความชิ้นนี้บนเครื่องบินอยู่ ณ ขณะเวลานี้
ผมเพิ่งรู้สึกว่าอายุที่สูงถึงหลักเจ็ดสิบปีมีความหมายสำหรับชีวิตการทำงานของผม ตัวเลข 70 ทำให้ผมต้องย้อนกลับมามองตัวเองในอีกมุมที่ไม่ใช่มองว่าตัวเองยังกระฉับกระเฉงและมีพลังด้านเดียว อายุถึงหลักเจ็ดสิบ นับว่าสูงพอสมควร และควรที่จะผ่อนชีวิตการทำงานให้อ่อนลงบ้าง
ผมคิดย้อนอดีต ช่วงเวลาที่ตัวเองยังเป็นเด็กเมื่อ 50-60 ปีก่อนเหมือนเพิ่งผ่านมาไม่นานมานี้เอง เมื่อมองดูลูกๆ ก็แทบไม่น่าเชื่อว่าลูกคนโตของเรามีอายุ 40 กว่าปีแล้ว และลูกคนต่อมาก็มีอายุเกือบ 40 ปีเช่นกัน เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน เหมือนกับว่าเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ที่ลูกๆ ของเรายังเป็นเด็กน้อยให้เราอุ้ม ให้เราจูง หยอกล้อเล่นอยู่กับเรา และลูกๆ นี่แหละ ที่ทำให้ผมลืมสังขารตัวเอง นั่งเครื่องบินนานนับสิบๆ ชั่วโมงอยู่ในขณะนี้
ลูกชายเป็นคนชวน ...
ลูกชายของผมทำงานอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ประจำอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก เขาภูมิใจในงานที่เขาทำอยู่และอยากให้พ่อได้มาเห็นผลงานและการทำงานของเขา
ลูกชายมาประจำอยู่ที่กรุงมาปูโตพร้อมครอบครัว ซึ่งมีภรรยาและลูกชายอายุ 3 ขวบ เขาอยากให้ “ปู่” ได้มาเยี่ยมหลานคนเดียวคนนี้
เป็นเวลาเดียวกับที่ลูกสาวคนโตซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารไทยอยู่ที่นครชิคาโกวางแผนเดินทางหนีหนาวมาพักผ่อนที่ประเทศแถบทางใต้ของทวีปแอฟริกา ถ้าพ่อมาหาเขาได้ในช่วงเวลานี้ ก็จะได้พบกันทั้งลูกสาว ครอบครัวของลูกชาย และหลานปู่ รวมทั้งพ่อจะได้ผ่อนงานลงบ้าง
ผมขอเวลาคิดตัดสินใจ รายการงานต่างๆ ยังมีอยู่เต็มไปหมด ทั้งการประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย การทำงานของโครงการวิจัยที่ต้องทำให้เสร็จภายในกำหนดเวลา และงานเขียนรายงานต่างๆ
ทันทีที่ลูกชายได้รับทราบคำตอบตกลงจากพ่อ เขาก็แสดงความยินดีปรีดาเป็นที่สุด เพียงได้รับรู้ถึงความดีใจของลูกชาย ผมก็มั่นใจแล้วว่าตัดสินใจไม่ผิด
อาสาสมัครไทยประจำหมู่บ้านตวน
“ตวน” (Tuane) เป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอมาเซีย จังหวัดกาซา บ้านตวนอยู่ห่างจากกรุงมาปูโตประมาณ 180 กิโลเมตร กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เลือกหมู่บ้านนี้เป็นต้นแบบของการพัฒนาด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลูกชายของผมทุ่มเทให้กับงานโครงการนี้อย่างสุดใจ
ผมมีโอกาสเดินทางไปบ้านตวน 2 ครั้งในช่วงเวลา 1 อาทิตย์ที่อยู่ในโมซัมบิก การเดินทางไปบ้านตวนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง รถวิ่งบนถนนใหญ่ 2 ชั่วโมง และจากตัวอำเภอเข้าสู่หมู่บ้านระยะทาง 14 กิโลเมตร เป็นทางวิบากที่ต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง
บ้านตวนยังไม่มีไฟฟ้า ใช้น้ำจากบ่อน้ำบาดาลที่ดึงน้ำขึ้นมาด้วยคันโยก มีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน นักเรียนในโรงเรียนมีประมาณ 100 คน มีครู 5 คน
สถานเอกอัครราชทูตไทยกำลังก่อสร้างอาคารชั้นเดียวเป็นที่ทำการของโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับโมซัมบิกนี้ โครงการฯ มีแผนพัฒนาหลายอย่าง กิจกรรมการพัฒนาที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือการส่งเสริมให้ชาวบ้านขุดบ่อเลี้ยงปลานิล และกำลังจะสอนให้ชาวบ้านเรียนรู้วิธีการทำนาปลูกข้าวแบบไทย
“ทะนุ” สมัครเป็นอาสาสมัครของกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเข้าไปประจำในหมู่บ้านตวนเป็นเวลา 6 เดือน ทะนุอายุ 28 ปี เป็นชาวจังหวัดพะเยา เรียนจบธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อผมพบทะนุ เขาเพิ่งเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านได้เพียงอาทิตย์เดียว ... เด็กหนุ่มไทยผิวเหลืองคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านของคนต่างผิวพรรณ ต่างภาษา ไม่มีไฟฟ้า น้ำต้องไปโยกจากบ่อน้ำบาดาล ส้วมยังเป็นส้วมหลุม อาหารที่แตกต่างจากที่คุ้นเคย
ยังดีที่สถานเอกอัครราชทูตไทยนำแผงโซล่าร์เซลล์ไปติดตั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ใช้ได้บ้างยามค่ำคืน ช่วยสร้างส้วมซึมให้ใช้เป็นการชั่วคราว มีแผนที่จะสร้างระบบน้ำประปาจากน้ำบาดาล และโชคดีที่โรงเรียนมีครูสอนภาษาอังกฤษ
ผมชื่นชมจิตใจที่เข้มแข็งของอาสาสมัคร “ทะนุ” อย่างจริงใจ
ชวนให้ทะนุเก็บข้อมูลประชากร
ผมชวนให้ทะนุเก็บข้อมูลประชากรของหมู่บ้านตวน ทำแผนที่ของหมู่บ้าน สอนให้ทะนุเก็บข้อมูลอายุและเพศของประชากรเพื่อนำมาสร้างเป็นพีระมิดประชากร
ผมคาดคะเนว่าหมู่บ้านตวนจะมีเด็กมาก คนวัยหนุ่มสาวจะย้ายถิ่นไปทำงานนอกหมู่บ้านกันมาก และน่าจะมีผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนและสัดส่วนไม่มากนัก
ผมยังชวนให้ทะนุเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ “ความสุข” ของชาวบ้านโดยใช้เครื่องมือวัดความสุขด้วยการให้คะแนน ความสุขตั้งแต่สุขน้อยที่สุดให้ 1 คะแนน และคะแนนเพิ่มสูงขึ้นไปตามระดับความสุข จนถึงมีความสุขมากที่สุดได้ 10 คะแนน ผมแนะนำให้ทะนุใช้รูปภาพเป็นสื่อแสดงความสุข เช่น รูปใบหน้าคนยิ้มอย่างมีความสุขมากๆ คะแนนเต็ม 10 และใบหน้าเศร้าร้องไห้น้ำตาไหลแสดงว่าไม่มีความสุขหรือสุขน้อยที่สุดได้ 1 คะแนน
เมื่อผมเข้าหมู่บ้านตวนเป็นครั้งที่สองในอีก 3 วันต่อมา ได้เห็นเครื่องมือวัดความสุขที่ทะนุสร้างขึ้น ผมว่า “เข้าท่า” ทีเดียว
ทะนุเล่าให้ฟังว่าเขาเริ่มเก็บข้อมูลได้ 4-5 รายแล้ว เกือบทั้งหมดให้คะแนนความสุขที่สูงมากถึง 9-10 คะแนน ทะนุประหลาดใจที่พบชายหนุ่มคนหนึ่งให้คะแนนความสุขเพียง 3 คะแนน หนุ่มรายนั้นบอกว่าเขาไม่อยากอยู่ในหมู่บ้านอีกต่อไปแล้ว แต่อยากออกไปทำงานในเมืองหลวง ผมบอกทะนุว่า น่าจะเป็นเรื่องปกติที่หนุ่มสาวในหมู่บ้านจะให้คะแนนความสุขน้อย ในหมู่บ้านอาจไม่มีงานให้ทำ พวกเขาอาจได้รับข่าวสารของความเจริญในเมือง โอกาสในการทำงานที่ดีกว่าในเมือง หลายคนจึงพยายามดิ้นรนเพื่อจะเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่
ผมเล่าให้ทะนุฟังว่า เมืองไทยก็เป็นแบบนี้ คนวัยแรงงานย้ายถิ่นออกจากหมู่บ้านในชนบทเข้ามาอยู่ในเมือง เพราะในเมืองมีโอกาสในการทำงานมากกว่า เมื่อเข้ามาทำงานในเมือง ซึ่งโดยมากเป็นงานรับจ้าง เมื่อมีรายได้ ส่วนใหญ่ก็จะส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่ที่ยังอยู่ในหมู่บ้าน คนไทยจากชนบทเป็นจำนวนไม่น้อยเข้ามามีครอบครัวในเมือง และเมื่อมีลูก ก็จะส่งลูกไปให้พ่อแม่ของตนเลี้ยง ตามหมู่บ้านไทยเวลานี้ มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากที่อยู่กับหลานที่เป็นลูกของลูกของตน เท่ากับว่าผู้สูงอายุไทยตามหมู่บ้านต่างจังหวัดจำนวนหนึ่งยังคงมีงานทำและมีรายได้จากการเลี้ยงหลานๆ
ผมแนะนำให้ทะนุเก็บข้อมูลให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เก็บทั้งคะแนนความสุขโดยไม่ลืมบันทึกเพศและอายุของผู้ให้ข้อมูล และเก็บข้อมูลจากการคุยกับชาวบ้าน ทะนุบอบว่าเขาเขียนบันทึกประจำวันอยู่แล้ว
ผมหวังว่าจะได้รับรู้เรื่องของการพัฒนาด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่หมู่บ้านตวน โดยผ่านการนำเสนอของทะนุ-อาสาสมัครของกระทรวงการต่างประเทศ
การเดินทางที่ยาวไกลใกล้ถึงจุดหมาย
ขณะนี้ เหลือเวลาอีกประมาณ 3 ชั่วโมงก็จะถึงสนามบินโดฮาแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าผมนั่งติดอยู่กับที่นั่งมานานกว่า 5 ชั่วโมงแล้ว
หนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เห็นผลงานหลายๆ อย่าง และวิธีการทำงานที่น่าภูมิใจของลูกชาย ได้อยู่ใกล้ชิดกับหลานคนเดียวของผม ได้พบกับลูกสาวที่เดินทางไกลมาจากอเมริกา ได้พบกับลูกสะใภ้ที่ช่วยเป็นกำลังสำคัญหนุนหลังลูกชาย ได้พักผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน
นับเป็นการเดินทางไกลที่ยาวนานที่แสนจะคุ้มค่า