The Prachakorn

ประเทศไทยจะกำหนดสิทธิลาคลอดอย่างไรให้เหมาะสม?


มนสิการ กาญจนะจิตรา

21 ธันวาคม 2561
266



“การกำหนดสิทธิลาคลอด มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ‘จำนวนวันที่มีสิทธิลา’ ‘สัดส่วนเงินค่าจ้างที่จะได้รับระหว่างวันลา’ และ ‘หน่วยงานผู้รับผิดชอบการจ่ายค่าจ้าง’ ทั้ง 3 ส่วนนี้สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ตามความเหมาะสมในบริบทของแต่ละประเทศ”

เด็กแรกเกิดทุกคนต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด พ่อและแม่ คือ ผู้ที่จะให้การดูแลที่ดีที่สุดสำหรับลูก ซึ่งในอดีต การมีเวลาในการดูแลลูกอย่างเพียงพออาจง่ายกว่าทุกวันนี้ เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ทั้งพ่อและแม่จำเป็นต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น การจัดการชีวิตเพื่อให้มีทั้งเวลาและเงินอย่างเพียงพอในการดูแลลูกจึงเป็นความท้าทายที่หลายครอบครัวต้องประสบ

การมีสิทธิลาคลอด จึงเป็นนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือครอบครัวที่เพิ่งต้อนรับสมาชิกใหม่ การได้รับสิทธินี้ช่วยให้พ่อแม่มีเวลาในการปรับตัวในช่วงแรกหลังคลอด ได้ทุ่มเวลาในการดูแลลูกอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องห่วงเรื่องงาน เหนื่อยน้อยลง มีความสุขและสัมพันธภาพในครอบครัวที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตต่อไปอย่างมีคุณภาพ

หากไม่มีสิทธินี้ หลายคนอาจจำเป็นต้องเลือกเส้นทางชีวิตตนเองใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย ถ้าหากไม่สามารถลาคลอดได้ พ่อหรือแม่อาจต้องตัดสินใจออกจากงาน เพื่อมีเวลาในการดูแลลูก ซึ่งการต้องออกจากงานส่งผลต่อเส้นทางการงานมากกว่าที่คิด เนื่องจากการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมักไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากพ่อและแม่จำเป็นต้องทำงานทั้งคู่ก็จำเป็นต้องหาทางเลือกอื่นในการเลี้ยงลูก เช่น การส่งสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ ส่งให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยง ทำให้ลูกไม่ได้ใช้เวลากับพ่อแม่อย่างเต็มที่

แต่หากมองจากมุมของผู้ประกอบการหรือของรัฐในฐานะนายจ้าง การให้สวัสดิการลาคลอดก่อให้เกิดภาระต้นทุน นายจ้างต้องรักษาตำแหน่งงานในหน่วยงานไว้ โดยไม่มีคนที่มาทำหน้าที่นั้นในช่วงระยะเวลาที่ลาคลอด และหากสิทธิลาคลอดนั้นเป็นแบบยังได้รับค่าจ้าง จะยิ่งกลายเป็นภาระทางการเงินเพิ่มเติมอีกด้วย

ในเมื่อสิทธิลาคลอด เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของพ่อแม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และยังส่งผลดีต่อคุณภาพการเลี้ยงดูลูก นโยบายของรัฐจึงควรต้องพิจารณาการให้สิทธิลาคลอดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ให้ครอบครัวที่มีลูกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในขณะเดียวกัน ไม่เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินความเหมาะสม

ในต่างประเทศ การให้สิทธิลาคลอดนั้นมีความหลากหลาย ทั้งในจำนวนสัปดาห์ที่มีสิทธิลา สัดส่วนของเงินค่าจ้างที่ยังได้รับในขณะที่ลา และหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลัก ตัวอย่างจากบางประเทศในยุโรปแสดงให้เห็นว่า แต่ละประเทศล้วนมีนโยบายให้แม่ลาคลอดได้ จำนวนวันลาส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 14–60 สัปดาห์ โดยได้รับเงินค่าจ้างในสัดส่วนร้อยละ 50–100 ของอัตราปกติ บางประเทศวันลาน้อยและสัดส่วนเงินค่าจ้างที่ได้รับก็น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น เดนมาร์ก แต่ในบางประเทศได้รับทั้งวันลาที่มากและสัดส่วนเงินค่าจ้างที่สูง เช่น สวีเดน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของแต่ละประเทศ นอกจากนั้น หลายประเทศในยุโรปเป็นรัฐสวัสดิการ รัฐจึงเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจ่ายค่าจ้างระหว่างวันลา มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเริ่มมีกระแสให้ขยายวันลาคลอด โดยหลายภาคส่วนพยายามจะรณรงค์ให้แม่ได้ลาคลอดอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้เด็กแรกเกิดได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ แต่ในทางปฏิบัติยังคงต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อสถานประกอบการและภาระต่องบประมาณแผ่นดิน ตัวอย่างของต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า ในเบื้องต้นหากต้องการขยายวันลาคลอด อาจพิจารณาลดสัดส่วนเงินค่าจ้างที่ได้รับระหว่างการลาเพื่อช่วยควบคุมงบประมาณที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนควรตระหนักว่า การให้สิทธิลาคลอดนี้เป็นการลงทุนในสถาบันครอบครัว ไม่ใช่ต้นทุนที่จะเสียเปล่า การให้สิทธิลาคลอดจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม และเป็นการลงทุนในคุณภาพของเด็กที่จะเติบโตมาเป็นอนาคตของสังคมอีกด้วย

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th