The Prachakorn

พลเมืองไอซ์แลนด์


อมรา สุนทรธาดา

24 ธันวาคม 2561
798



ไอซ์แลนด์ เริ่มก่อตั้งประเทศระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 จากการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ Norsemen ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและกลุ่มชาติพันธุ์ Celts จากสหราชอาณาจักรปัจจุบันไอซ์แลนด์มีประชากรประมาณ 350,000 คน ประชากรร้อยละ 6.9 ย้ายถิ่นมาจากประเทศอื่น โดยมีคนไทยอาศัยอยู่ 531 คน หรือ ร้อยละ 0.16 ของประชากรทั้งหมด อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดประชากรเพศหญิง 85.3 ปี และประชากรเพศชาย 80.9 ปี ซึ่งสูงที่สุดในโลก1

การศึกษา Global Peace Index ค.ศ. 2012 จัดอันดับไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ปลอดภัยสูงสุดโดยวัดจากดัชนีปัญหาอาชญากรรมความมั่นคงทางการเมือง และจำนวนผู้ต้องขัง นอกจากนี้ ไอซ์แลนด์ยังทุบสถิติโลกอีก 2 รายการ คือ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program-UNDP) จัดอันดับให้เป็นประเทศแนวหน้าด้านเศรษฐกิจ สุขภาพและการศึกษา (อัตราการอ่านออกเขียนได้ ร้อยละ 100 และมีจำนวนการพิมพ์หนังสือต่อรายได้ประชาชาติสูงที่สุดในโลก) และใน ค.ศ. 2011 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO) ได้มอบรางวัล City of Literature ให้แก่เมือง Reykjavik ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ เนื่องจากเป็นเมืองที่สนับสนุนให้ชาวเมืองแสดงความสามารถด้านดนตรี รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ได้สมบูรณ์ที่สุด

สิ่งที่ทำให้ไอซ์แลนด์แตกต่างจากที่อื่นๆ 6 ประการ

อาหาร นิยมอาหารโปรตีนจำพวกปลาซึ่งหาง่ายและสด ดื่มนมโคสดหรือผลิตภัณฑ์จากนม เกษตรกรปลูกหญ้าไร้สารพิษสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ใช้น้ำมันมะกอกสำหรับปรุงอาหาร การเพาะปลูกพืชผักใช้ระบบการปลูกในโรงเรือนซึ่งปลอดแมลงและไม่ต้องใช้สารกำจัดแมลง

แหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติมีอยู่ทั่วประเทศ กล่าวกันว่า ธารน้ำอุ่นไหลผ่านแนวภูเขาไฟมีส่วนทำให้อายุยืน แม้ว่ายังไม่มีการยืนยันจากผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์

น้ำพุร้อนธรรมชาติเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนทุกเพศวัยและฐานะ
ภาพ: https://www.inspiredbyiceland.com

การออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเอาชนะความหนาวโดยเฉพาะฤดูหนาวที่ยาวนานและเห็นแสงอาทิตย์เพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อถึงฤดูร้อนการออกกำลังกายจะท้าทายมากยิ่งขึ้น เช่น การพิชิตหน้าผา ธารน้ำแข็ง การไต่เขาในฤดูร้อน การแข่งขันพายเรือคายัค

เครือข่ายทางสังคม ชาวไอซ์แลนด์มีความผูกพันใกล้ชิดกับครอบครัวและเพื่อนบ้าน ในสภาวะที่ต้องใช้ชีวิตในฤดูหนาวยาวนานถึง 7 เดือน ช่วงหนาวสุดทางตอนเหนือของประเทศ มีอุณหภูมิ -25 ถึง -30 องศาเซลเซียส การช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในครอบครัวและชุมชนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการอยู่รอดและเพิ่มความสุขความปลอดภัยให้แก่กันและกัน

ความเสมอภาคหญิงชาย ไอซ์แลนด์มีผู้นำ.ประเทศเป็นผู้หญิงเป็นประเทศแรกของโลก กติกาเรื่องความเสมอภาคหญิงชายที่ฟังแล้วต้องคิดหลายชั้นคือ ทุกเพศเท่าเทียมกันเพราะจะได้ใช้เวลาน้อยที่สุดในการถกเถียงกันแบบไม่รู้จบว่าทำไมจึงไม่เท่าเทียมและไม่เท่าเทียมกันด้วยเรื่องใดบ้าง

สวัสดิการภาครัฐเพื่อให้พ่อหรือแม่สามารถลางานเพื่อดูแลทารกแรกเกิด นอกจากนี้รัฐมีสวัสดิการค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กปฐมวัยเต็มวัน เพื่อให้โอกาสพ่อ/แม่ทำงานได้เต็มเวลา ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตโดยเฉพาะแม่ที่สามารถแบ่งเวลาได้ลงตัวมากขึ้นสำ.หรับการดูแลครอบครัวและตนเอง ไอซ์แลนด์ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจำนวนทารกที่เกิดและมีภาวะกลุ่มอาการดาวน์ต้องเป็นศูนย์ โดยที่สถิติ ค.ศ. 2017 มีทารกเพียง 2 รายจากจำนวนการเกิด 1,940 ราย มีกฎหมายรองรับในกรณีที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 16 สัปดาห์ แม่สามารถยุติการตั้งครรภ์โดยความสมัครใจ

ไอซ์แลนด์กำลังเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วโลกที่ต้องการใช้ชีวิตเมื่อวัยเกษียณ แต่เนื่องจากเป็นประเทศขนาดเล็ก รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มข้นดังนี้ 1) มีหลักฐานแสดงทรัพย์สินที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการเงินสวัสดิการจากรัฐ 2) มีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 72,000 บาทต่อเดือน 3) มีประกันสุขภาพจากประเทศตามสัญชาติ 4) ต้องแสดงหลักฐานการมีที่พักอาศัยขณะอยู่ที่ไอซ์แลนด์และประการสุดท้าย ต้องไม่เป็นผู้ต้องคดีหรือกระทำผิดกฎหมายที่มีระวางโทษจำคุกมากกว่า 3 เดือน

“ท่านพร้อมจะไปใช้ชีวิตนอนดูแสงเหนือที่ไอซ์แลนด์หรือยัง”
ภาพ: https://www.inspiredbyiceland.com

ที่มา: https://www.statice.is/


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th