The Prachakorn

เมีย 2018 ณ เมียนมา


จรัมพร โห้ลำยอง

27 ธันวาคม 2561
301



ช่วงนี้อ่านข่าวดาราแล้วก็พาให้รู้สึกฟินตาม ไม่ว่าจะแต่งงาน มีลูก รักกับหนุ่มสาวนอกวงการ หรือรักกับดาราใหม่แต่ไฮโซคนเดิม ก็ดูเหมือนเส้นทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบสีชมพูสวยหวาน เมื่อนักประชากรได้อ่านข่าวประเภทนี้ทีไร ในใจก็คอยยุให้แต่งงานมีลูกกันเยอะๆ อย่างอดไม่ได้ เพราะฟินไกลโยงไปถึงภาพเศรษฐกิจในอนาคต ที่แอบกลัวอยู่ในใจว่าในศตวรรษหน้า ประเทศไทยอาจจะมีประชากรเหลือเพียง 20 ล้านคน หากเราส่งเสริมการมีบุตรไม่ได้จริงๆ ตามที่ท่านศาสตราจารย์ ดร. ปราโมทย์ ประสาทกุล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุทธิดา ชวนวัน ได้คาดประมาณเอาไว้

ในความจริงแล้วไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรและครอบครัว ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็พบกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยเช่นกัน อย่างเมียนมาเพื่อนบ้านของไทยที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากการเปิดประตูเดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นกว่ายุคก่อน สภาพเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ในประเทศเมียนมาปัจจุบัน เรียกได้ว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังมือกันเลยทีเดียวหากเทียบกับยุค พ.ศ. 2505 ที่นายพลเนวินทำการรัฐประหาร ปัจจุบันเศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ต้องการกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น และต้องการแรงงานมากขึ้น ประชาชนก็จะมีงานทำมีรายได้ และคาดหวังว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็จะตามมา แต่คำถามสำคัญอยู่ที่ว่า“ครอบครัว” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของสังคมเมียนมา พร้อมหรือไม่ที่จะร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ในที่สุดภาพเมีย 2018 เวอร์ชันเมียนมาก็ได้ถูกฉายให้เห็น ในงานวิจัย 2 ชิ้น ของซินซิน (2018)1 และ จีจี (2018)2 เมียในเมียนมาดูจะไม่ต่างอะไรกับอรุณาของไทย ที่แต่งงานใช้ชีวิตคู่ สามีชื่อ ธอดาคยอ เมื่อแต่งงานแล้ว อรุณาในเมียนมาก็จะต้องลาออกจากงาน หยุดชีวิตหญิงทำงานเก่ง หาเงินได้เองลง และมาเป็นแม่บ้านดูแลบ้าน มีโซ่ทองคล้องใจให้เลี้ยงดู ชื่อมะขิ่น พโยออง และโมวิน ยิ่งมีโซ่ทองเยอะเท่าใด โอกาสที่อรุณาจะได้ทำงานหาเงินได้เองก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น เพราะผลการศึกษาของซินซิน และ จีจี ชี้ให้เห็นว่าการจะได้ทำงานหรือไม่ของอรุณาขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของสามี ครอบครัวที่เข้าไปอยู่ด้วย จำนวนบุตรที่มีเป็นหลัก ในขณะที่คุณลักษณะของอรุณาเอง เช่น การศึกษา อายุ ก็มีผลอยู่บ้าง แบบนิดหน่อยพอประมาณ ในความจริงแล้วขนบประเพณีของเมียนมาได้วางบทบาทของสามีภรรยามาก่อนแล้วว่า อรุณามีหน้าที่ดูแลบ้าน เลี้ยงลูก ดูแลสามีและทุกคนในบ้าน ถ้าอรุณาโชคดีได้แต่งเข้าในบ้านใหญ่ซึ่งมีผู้หญิงเป็นคนรับใช้อยู่แล้วก็อาจได้ไปทำงานนอกบ้าน แต่ถ้าสามีย้ายถิ่นไปทำงานที่ไหน อรุณาก็ต้องย้ายตาม แต่ถ้าย้ายตามไปแล้ว รายได้ของสามีไม่พอเลี้ยงปากท้องของทุกคนในบ้าน อรุณาก็คงต้องออกไปทำงานนอกบ้านหาเงินด้วยแล้วก็ดูแลบ้านด้วย ดูๆ แล้วก็ไม่ต่างกับสังคมไทยเท่าใดนัก

เมีย 2018 ณ เมียนมา ชี้ให้เห็นว่า “การแต่งงาน การมีลูก และการย้ายตามสามี จะลดโอกาสในการทำงานนอกบ้านของอรุณา” อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในภาคเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีการดำเนินชีวิตของคน เกิดการขยายตัวของความเป็นเมืองและการใช้ชีวิตแบบปัจเจกในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความรับผิดชอบเรื่องปากท้องของครอบครัวในสังคมเมือง จะค่อยๆ ปิดโอกาสของการอยู่บ้านเลี้ยงลูกของสตรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเปราะบางของบทบาทเมียและอุปสรรคในการทำงานเป็นเพียงปัญหาเชิงจุลภาค แต่ภาพปัญหามหภาคที่ใหญ่กว่า คือ “ถ้ามันยากนักที่จะเป็นเมียและแม่ ต่อไปคนก็จะไม่แต่งงานและไม่มีลูก” ทำงานหาเงินดูแลตัวเองดีกว่า อย่างเช่นสาวไทยในปัจจุบัน หากภาครัฐและประชาสังคมไม่ทำอะไรเลย ต่อไปทั้งไทยและเมียนมา ก็อาจจะมีประชากรประมาณ 20 ล้านคนไปด้วยกัน


1Zin Zin Thaw (2018). “Labor Force Participation of Female Passive Migrants in Yangon Region, Myanmar”. (M.A. Thesis) Mahidol University, Nakhonprathom.
2Kyi Kyi Hmwe (2018). “The Relationship between Fertility Factors and Labour Force Participation of Women in Myanmar”. (M.A. Thesis) Mahidol University, Nakhonprathom.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th