The Prachakorn

นักการเมือง


วรชัย ทองไทย

14 กุมภาพันธ์ 2562
3,916



นักการเมือง คือ ผู้ที่ฝักใฝ่ในทางการเมือง หรือผู้ทำหน้าที่ทางการเมือง ซึ่งอาจได้มาด้วยการเลือกตั้ง แต่งตั้ง สืบทอดตำแหน่ง ติดสินบน กบฏ ปฏิวัติ หรือรัฐประหาร ตำแหน่งทางการเมืองมีทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

นักการเมืองมักจะเป็นผู้มีวาทศิลป์ดี รู้จักใช้ถ้อยคำสำนวนในปาฐกถาหรือการรณรงค์ สามารถสร้างเรื่องราวหรือสื่อให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนเข้าใจได้ และมักจะมีความเชี่ยวชาญในการใช้สื่อสารมวลชน

สื่อมวลชนในคริสศตวรรษที่ 19 เป็นสิ่งพิมพ์ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร แผ่นพับ หรือใบปิดประกาศ ในคริสศตวรรษที่ 20 ได้เพิ่มสื่อทางวิทยุและโทรทัศน์ ที่เข้าถึงมวลชนได้มากกว่า ปัจจุบันมีสื่อทางอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ที่สามารถเข้าถึงประชาชนเฉพาะกลุ่มได้ด้วย นักการเมืองที่สามารถปรับตัวได้กับการใช้สื่อ จะได้เปรียบกว่าฝ่ายตรงข้าม

ข่าวลือมีความสำคัญในการเมือง โดยเฉพาะข่าวลือด้านลบของฝ่ายตรงข้าม จะมีน้ำหนักมากกว่าข่าวลือด้านดีของฝ่ายตนเอง ประชาชนจึงต้องฉลาดในการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง

นักการเมืองชอบใช้คำพูดที่เป็นทางการ เล่นลิ้น และสละสลวย อันก่อให้เกิดความสับสน คลุมเครือ และเข้าใจผิด จึงมักถูกมองว่า เป็นพวกหลุดโลก ไม่เข้าใจความรู้สึกและโลกทัศน์ของคนทั่วไป ประกอบกับข่าวลือด้านลบ ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่า นักการเมืองเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลย เห็นแก่ตัว ไร้สมรรถภาพ ขาดความสามารถ และทุจริต คอยแต่จะรับสินบนมากกว่าที่จะทำงานเพื่อสาธารณะ ในหลายประเทศเห็นว่า นักการเมืองเป็นอาชีพที่มีคนเกลียดมากที่สุด

นักการเมืองอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ รัฐบุรุษ (statesman) นักการเมือง (politician) และนักกวนเมือง (demagogue)

รัฐบุรุษคือ ผู้ที่น่าเคารพนับถือ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการเป็นผู้นำทางการเมือง รัฐบุรุษจะตรงกันข้ามกับนักการเมือง กล่าวคือ นักการเมือง คือ คนที่จะพูดหรือทำทุกอย่างเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งหรือเข้ามามีอำนาจ จึงสนใจแต่นโยบายที่ให้ผลดีในระยะสั้นหรือเฉพาะกลุ่ม ที่อาจมีผลเสียในระยะยาวหรือต่อคนส่วนใหญ่ได้

แต่รัฐบุรุษ คือ คนที่ต้องการทำประโยชน์ให้แก่คนทุกกลุ่มในระยะยาว จึงมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่เป็นองค์รวมและยั่งยืน โดยไม่สนใจว่าจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ดังนั้น การที่จะเรียกใครว่าเป็นรัฐบุรุษ จึงเป็นการยกย่องว่าผู้นั้นมีความซื่อสัตย์สุจริต แต่จะเรียกคนที่ไม่น่ายกย่องว่าเป็นนักการเมือง

ส่วนนักกวนเมืองคือ นักการเมืองที่ใช้จุดอ่อนในระบอบประชาธิปไตย ที่ตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่ ด้วยการแสร้งทำตัวเป็นผู้แทนของสามัญชน และสร้างนโยบายที่เอาใจผู้ลงคะแนนเสียง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์และสนองความใฝ่สูงของตนเอง นักกวนเมืองจะกระตุ้นกิเลสตัณหาของฝูงชน จะไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือกฎเกณฑ์ จะใช้นโยบายรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ และโจมตีผู้คัดค้านว่าอ่อนแอหรือไม่รักชาติ

ยุทธวิธีของนักกวนเมือง ได้แก่ แสร้งทำ.ตัวเป็นชาวบ้าน ให้สัญญาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พูดโกหก ใช้วาทศิลป์ทำให้ผู้ฟังหลงเชื่อ คิดง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหา สร้างความกลัว หาแพะรับบาป หยาบคายและมีพฤติกรรมเกะกะระราน ใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ด้วยกำลัง ดูหมิ่นและเยาะเย้ยฝ่ายตรงข้าม ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามว่าอ่อนแอหรือไม่ภักดี และโจมตีสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองส่วนใหญ่อยากได้ชื่อว่า เป็นรัฐบุรุษมากกว่าเป็นนักกวนเมือง แต่อาจใช้ยุทธวิธีของนักกวนเมืองบ้างเป็นครั้งคราว  ในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง คุณภาพของนักการเมืองจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชนด้วย ดังนั้น ประชาชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง และใช้ปัญญาในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้นักกวนเมืองเข้ามาบริหารประเทศได้

ในปี 2538 รางวัลอีกโนเบล สาขาสันติภาพ มอบให้กับรัฐสภาไต้หวัน ที่ได้สาธิตให้เห็นว่า การชกต่อยกันของนักการเมืองมีประโยชน์กว่าการคิดก่อสงครามกับเพื่อนบ้าน

ในปี 2546 รางวัลอีกโนเบล สาขาจิตวิทยา ได้มอบให้กับนักวิจัย 3 คน (Gian Vittorio Caprara กับ Claudio Barbaranelli จาก University of Rome และ Philip Zimbardo จาก Stanford University) สำหรับรายงานวิจัยเรื่อง “บุคลิกที่เซ่อซ่าไม่เหมือนใครของนักการเมือง (Politicians’ Uniquely Simple Personalities)”

ภาพการชกต่อยในรัฐสภาไต้หวันเมื่อ พ.ศ. 2556
ที่มา: https://www.dailymail.co.uk/news/article-2383620/Mass-fight-Taiwanese-parliament-debate-nuclear-power.html
 

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


ขอบคุณภาพปกจาก (Thank for illustrator from): Design vector created by freepik - www.freepik.com 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th