The Prachakorn

ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุไร้ญาติ: ข้อเสนอที่รอคอยเสียงตอบรับ


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

25 กุมภาพันธ์ 2562
862



ทรัพย์สินของผู้สูงอายุมักตกทอดเป็นมรดกให้แก่ “ทายาทโดยธรรม” หากคู่สมรสที่จดทะเบียนกับเจ้าของมรดกยังมีชีวิตอยู่จะเป็นผู้รับมรดก ถ้าไม่มีคู่สมรส ทายาทโดยธรรมอันดับต่อมาที่จะได้รับมรดก คือ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม ถัดมา ได้แก่ บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องต่างบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตามลำดับ การรับมรดกจึงไม่น่าเป็นเรื่องยากที่จะมีคนมาช่วยดูแลผู้สูงอายุด้านการเงินแต่หากผู้สูงอายุไม่มีบุตรหรือญาติคอยดูแลและตัวผู้สูงอายุอยู่ในภาวะที่ดำเนินธุรกรรมด้วยตนเองไม่ได้ ผู้สูงอายุดังกล่าวจึงต้องการผู้บริหารจัดการทรัพย์สินที่เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติในการนำเงินหรือแปรสภาพทรัพย์สินมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันและค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีกลไกเฉพาะเจาะจงเพื่อดูแลผู้สูงอายุในกรณีเช่นนี้ 

ศาลสามารถมีคำสั่งแต่งตั้งให้มี “ผู้อนุบาล” ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลคนไร้ความสามารถ แต่ผู้สูงอายุไม่เข้าข่ายเป็นบุคคลไร้ความสามารถ บุคคลไร้ความสามารถ หมายถึง “คนวิกลจริตที่ไม่มีทางดูแลตัวเองหรือผลประโยชน์ของตัวเองได้” ดังนั้นคู่สมรสหรือบุตรเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการดูแลและบริหารจัดการเงินและทรัพย์สินของผู้สูงอายุ แต่หากผู้สูงอายุไม่มีคู่สมรสหรือบุตร ใครจะเป็นคนที่ผู้สูงอายุสามารถไว้วางใจให้บริหารจัดการทรัพย์สินจนกระทั่งเสียชีวิต และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผู้สูงอายุจะไม่ถูกเอาเปรียบหรือฉ้อโกง ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้พัฒนา “ระบบพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ” ซึ่งมีบทบาทในการช่วยผู้สูงอายุบริหารจัดการทรัพย์สินเมื่อผู้สูงอายุไม่อยู่ในภาวะที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง และเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้สูงอายุ 

“การศึกษาปัญหาและความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิ และประเมินสถานการณ์เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบเหตุการณ์ผู้สูงอายุติดเตียงที่มีภาวะสมองเสื่อมถูกละเมิดสิทธิและฉ้อโกงทรัพย์สินโดยผู้ดูแลที่ไม่ใช่ญาติ การเก็บข้อมูลกรณีศึกษารายหนึ่ง เป็นข้าราชการบำนาญที่สูญเสียสามี ไม่มีบุตรและญาติ ปัจจุบันนอนติดเตียงที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ไม่สามารถทำธุรกรรมด้วยตนเองเพื่อถอนเงินจากธนาคาร จึงต้องขอให้คนรู้จักช่วยถอนเงินผ่านเอทีเอ็มจนหมดบัญชีโดยที่ผู้สูงอายุไม่เคยขอดูเอกสารเลย เพราะเกรงว่าจะเป็นการแสดงความไม่เชื่อใจ ผู้สูงอายุท่านนี้มีบ้านและที่ดินหลายไร่แต่ไม่สามารถขายทรัพย์สินเพื่อนำ.เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จนกลายเป็นผู้ป่วยรอการสงเคราะห์ เพราะการรักษาที่ต้องได้รับนั้นไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้จากกรมบัญชีกลาง หากมีระบบการพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุในการจัดการทรัพย์สิน จะช่วยให้ผู้สูงอายุท่านนี้ได้ใช้ชีวิตในช่วงท้ายได้ตามเศรษฐานะอย่างสมศักดิ์ศรี

การพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุอาจจำเป็นเมื่อมีเหตุการณ์เป็น “จุดเปลี่ยนของชีวิต (transition in life course)” ได้แก่ 1) ผู้สูงอายุสูญเสียสมาชิกในครอบครัวผู้เป็นที่พึ่งพิง 2) ผู้สูงอายุเจ็บป่วยจนทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพและนอนติดเตียง และ 3) ผู้สูงอายุมีภาวะสมองเสื่อม แม้ว่าบุตรและญาติเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการดูแลผู้สูงอายุ แต่เมื่อไม่มีญาติดูแล ผู้สูงอายุจะตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิจากบุคคลแวดล้อม

รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2559 คาดประมาณว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุสมองเสื่อมประมาณ 6 แสนคน และผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงประมาณ 4 แสนคน และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นถึง 1.4 ล้านคนและจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านคน จำนวนผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิและต้องการความช่วยเหลือเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากและเป็นสัญญาณเตือนให้สังคมไทยต้องเตรียม “ระบบการพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ” เพื่อรองรับปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ “ระบบการพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ” จะมีความจำเป็นในการคุ้มครองและดูแลผู้สูงอายุ แต่ไม่ควรมองข้ามสิ่งที่ท้าทายที่สุด คือจะทำอย่างไรให้ระบบพิทักษ์สิทธิไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุเสียเอง 
 


ภาพประกอบจาก Icon made by Freepik from www.flaticon.com 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th