The Prachakorn

กลัวการเปลี่ยนแปลงไปทำไม……… ถ้า…………ครอบครัวไทยเราอบอุ่น


ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

27 กุมภาพันธ์ 2562
2,224



การทำครอบครัวให้อบอุ่น ยากไหม เชื่อว่าคำตอบคือ ยาก ถึง ยากมาก เพราะ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเจริญทางด้านวัตถุ ความทันสมัยของเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง และตลอดเวลา ทุกคนต้อง “ปรับตัว” และต้อง “อยู่รอด” ให้ได้ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ แน่นอนต้องส่งผลต่อความอ่อนแอและเปราะบางของ “สมาชิกครอบครัว” และ “ครอบครัว” มากขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้สัมพันธภาพและการสื่อสารของสมาชิกในครอบครัวลดน้อยลง บทบาทหน้าที่ของสมาชิกใน “ครอบครัว” เกิดความสับสน ทำให้ความรับผิดชอบในครอบครัวไม่ชัดเจน สมาชิกในครอบครัวเหินห่างกันมากขึ้น ต่างคนต่างทำงาน พ่อแม่ให้เวลาดูแลลูกลดน้อยลง การช่วยเหลือพึ่งพากันในครอบครัวเป็นเรื่องยุ่งยาก ตัวใครตัวมัน ยิ่งไปกว่านั้น สภาพแวดล้อมการทำ.งานปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การไขว่คว้าความก้าวหน้าในงาน ค่านิยมการสร้างครอบครัวยุคใหม่ที่ต้องมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบและทันสมัย สร้างความกดดันให้กับสมาชิกครอบครัวทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนวัยทำ.งานที่ต้องรับภาระดูแลสมาชิกที่เป็นรุ่นลูกหลาน และสมาชิกที่เป็นรุ่นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายอีกด้วย 

จากการสำรวจ “ครอบครัวอบอุ่นคนทำงาน” จำนวน 4,881 คน ที่กำลังทำงานอยู่ในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ วิสาหกิจชุมชน จำนวน 100 องค์กรในประเทศไทย เมื่อปี 2561 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยศึกษาใน 3 องค์ประกอบ คือ “ความอบอุ่น” วัดจากสัมพันธภาพและบทบาทหน้าที่ “ความเข้มแข็ง” วัดจาก การพึ่งพาตนเองและความเข้มแข็งทางสังคม และ “ความสงบสุข” วัดจาก ระดับความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ภาพรวม “ครอบครัวอบอุ่น”ของกลุ่มตัวอย่าง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 71.9 คะแนน เมื่อจำแนกเป็นรายองค์ประกอบพบว่า 

“ความสงบสุข” มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด คือ 78.9 คะแนน ตัวชี้วัดของ “ความสงบสุข” เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัวด้านกาย จิตใจ พฤติกรรมการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน การใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาร่วมกัน และการปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนา 

ภาพประกอบจาก  www.th.pngtree.com

ค่าคะแนนเฉลี่ยรองลงมา ได้แก่ “ความอบอุ่น” คือ 75.6 คะแนน ตัวชี้วัด เป็นเรื่องเกี่ยวกับสัมพันธภาพและบทบาทหน้าที่ในครอบครัว ด้านสัมพันธภาพ เช่น การสื่อสารพูดคุย การใช้เวลาร่วมกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเคารพต่อความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ส่วนบทบาทหน้าที่ เช่น การทำหน้าที่ตามความเหมาะสม สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีการใช้คุณธรรมในการดำเนินชีวิต

ค่าคะแนนเฉลี่ยที่ได้คะแนนน้อยที่สุดในการสำรวจ ได้แก่ “ความเข้มแข็ง” คือ 61.1 คะแนน ตัวชี้วัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การพึ่งพาตนเองและความเข้มแข็งทางสังคม เช่น ครอบครัวมีเงินเก็บที่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาเมื่อยามฉุกเฉิน สมาชิกสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนบ้าน ได้รับและสามารถให้ความช่วยเหลือต่อเพื่อนบ้านเมื่อเผชิญภาวะวิกฤติ

นอกจากนี้ ผลจากการสำรวจ “ครอบครัวอบอุ่น” พบประเด็นน่าสนใจ ได้แก่

  • การอาศัยอยู่ร่วมกันทุกวันหรือเกือบทุกวันและการมีเวลาอยู่กับครอบครัวที่เพียงพอมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อค่าคะแนนครอบครัวอบอุ่น 
  • ครอบครัวคนทำงานที่แต่งงานและอยู่ร่วมกันมีค่าคะแนนเฉลี่ยครอบครัวอบอุ่น สูงที่สุด รองลงมาได้แก่ครอบครัวกลุ่มที่เป็นโสด ส่วนครอบครัวกลุ่มคนทำงานที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงานมีค่าคะแนนเฉลี่ยครอบครัวอบอุ่นต่ำกว่าครอบครัวคนทำงานกลุ่มสถานภาพสมรสอื่น
  • ครอบครัวคนทำงานที่มีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุมีค่าคะแนนครอบครัวอบอุ่น สูงกว่าครอบครัวคนทำงานที่ไม่มีสมาชิกเป็นผู้สูงอายุ 

ผลการสำรวจนี้ สะท้อนว่า ครอบครัวไทยยังเป็นครอบครัวขยายที่สมาชิกหลากหลายรุ่นยังอยู่ร่วมกันในครอบครัว สมาชิกครอบครัวยังต้องการเวลาที่อยู่ร่วมกัน และคุณค่าของผู้สูงอายุในครอบครัวก็ยังคงอยู่ 

แม้ว่า “ครอบครัวเรา” ตกในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เราไม่สามารถต้านทานได้และต้องอยู่รอดให้ได้ หากเราต้องการให้ ครอบครัวเราอบอุ่น เราต้องทำให้ครอบครัวเรารักใคร่กันอยู่ด้วยกันอย่างสันติ สมาชิกในครอบครัวหาเวลาทำกิจกรรมกันเองในครอบครัวอย่างง่ายๆ สนุกๆ ใช้เวลาไม่มาก และได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การทำอาหารร่วมกันในครอบครัว ตั้งแต่การร่วมกันคิดเมนู การซื้อส่วนประกอบ การคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ การปรุงการชิมร่วมกัน จนออกมาเป็น เมนูรสเด็ดประจำครอบครัว การร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัวในบ้าน หรือ การประยุกต์ใช้ 5 ส (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และ สร้างนิสัย) มาให้สมาชิกในครอบครัวร่วมกันทำ เช่น การคัดแยกขยะเพื่อนำไปขายเป็นมูลค่าเพิ่มสร้างรายได้ให้กับครอบครัวแบบง่ายๆ ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่สร้างนิสัย เสริมวินัยและทักษะชีวิตให้กับเด็กตั้งแต่ในบ้าน ทั้งยังเป็นการคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุที่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และสนุกกับการคัดแยกขยะเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ยังมีกิจกรรมในครอบครัวอีกมากมายที่หาได้ ทำได้อย่างง่าย ทำได้ทันที กิจกรรมครอบครัวอบอุ่นอยู่ล้อมรอบครอบครัวเรา และค้นเจอด้วยตัวเรากับสมาชิกครอบครัวเรานั่นเอง

ภาพประกอบจาก: www.th.pngtree.com

ครอบครัวอบอุ่น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่สมาชิกในครอบครัวจะร่วมกันทำ ยิ่งพื้นฐานครอบครัวจากการสำรวจที่มีความสงบสุขและความอบอุ่นเป็นต้นทุนที่แข็งแกร่งเป็นฐานรากที่แน่นเหนียว เราเพิ่มความเข้มแข็งที่เป็นกิจกรรมการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวที่ทำกันอยู่แล้วให้กลายเป็นกิจกรรมชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามแม้จะรวดเร็วและรุนแรงแค่ไหน ครอบครัวเราก็ไม่หวั่นไหว….เป็นครอบครัวอบอุ่นตลอดไป



อ้างอิง: 

  • เฉลิมพล แจ่มจันทร์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นไปสู่ครอบครัวสุขภาวะของคนทำงานองค์กรในประเทศไทย (รหัสโครงการ 60-00-0685), 2561.
  • กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. (2559). นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว (พ.ศ. 2560–2564). กรุงเทพฯ: กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
  • Wollny, I., Apps, J., and Henricson, C. 2010. Family wellbeing: Can government measure family wellbeing?A literature review. London: Family and Parenting Institute.
     

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th