The Prachakorn

ชีวิตเฉียดตายของ นาเดีย ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2018


อมรา สุนทรธาดา

01 มีนาคม 2562
355



ความขัดแย้งทางการเมืองและความต่างในลัทธิแห่งความเชื่อเป็นภัยคุกคามสันติภาพโลกที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพราะความเห็นต่างกลายเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการทำสงครามในประเทศ โดยมีผู้หญิง เด็ก เป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง การตัดสินรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2018 นับเป็นเรื่องที่โลกต้องจดจำ เพราะเป็นการมอบรางวัลสำหรับผู้กล้าทั้งสองที่มีบทบาทเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กจากการสู้รบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก คือ ศัลยแพทย์เดนิส มูเควกี (Denis Mukwege) ผู้อุทิศตนทำงานวันละไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมงเพื่อรักษาชีวิตผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดโดยกองกำลังติดอาวุธ และ นาเดีย มูราด (Nadia Murad) หญิงแกร่งอายุเพียง 23 ปี ชนกลุ่มน้อยยาซิดี (Yazidis) ในสาธารณรัฐอิรัก ที่ถูกลักพาตัวโดยกลุ่มไอซิส (Islamic State of Iraq and Syria: ISIS) ถึง 3 ครั้ง ถูกล่วงละเมิดและการทรมานที่โหดร้ายแต่รอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์ ปัจจุบันมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 

นาเดีย มูราด และนายแพทย์เดนีส มูเควกี
กับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2018
ภาพ: https://www.theguardian.com/world/nadia-murad 
10 Dec. 2018

นาเดีย เคยถูกลักพาตัวจากบ้านเกิดคือ หมู่บ้านโคโช (Kocho) จังหวัดซินจาร์ (Sinjar) ทางตอนเหนือของอิรักโดยกลุ่มนักรบไอซิสเมื่อปี 2014 นาเดียถูกลักพาตัวถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 19 เธอยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ช่วงเวลาดังกล่าวที่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธยึดพื้นที่ไว้นานถึง 1 ปี 3 เดือน นาเดียถูกจับรวมกับเพื่อนบ้านอื่นๆอีก 600 คน ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมก่อนหน้านี้แล้วถึง 6,700 คน นาเดียถูกบังคับให้กลายเป็น “ซาบายา” (Sabaya) หรือทาสกามารมณ์ ให้กับสมาชิกของกลุ่มนักรบไอเอส (Islamic State: IS ชื่อนี้เปลี่ยนจาก ISIS เป็น IS เมื่อเดือนมิถุนายน 2014) ที่เมืองโมซุล หนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญในอิรัก เมื่อหนีออกมาจากค่ายกักกันก็ได้รับข่าวร้ายว่าพี่น้อง 6 ชีวิต และแม่ถูกสังหารแล้ว 

ปัจจุบันนาเดียเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Nadia Initiative เพื่อเป็นตัวแทนช่วยเหลือสตรีและเด็กที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของคนชาติเดียวกันเพียงต่างความเชื่อลัทธิศาสนา ระหว่างกลุ่มเชื้อสายยาซิดี (Yazidis) ที่อาศัยในภาคเหนือของอิรัก สู้รบกับกลุ่มมุสลิมนิกายสุหนี่ เป็นเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2007 และหนักสุดในช่วง ปี 2014 มีผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากไปอาศัยชั่วคราวในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตุรกี และบางส่วนเดินทางกลับแผ่นดินแม่เพื่อทวงคืนสิทธิ์ในดินแดนของบรรพบุรุษ  ความรุนแรงจากสงครามมีอย่างต่อเนื่องเกินกำลังของรัฐบาลกลางที่จะร่วมหาทางออกเพื่อสันติภาพ องค์การสหประชาชาติจำเป็นต้องส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยเหลือโดยเฉพาะด้านอาหารและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการอพยพลี้ภัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มยาซิดี จำเป็นต้องต่อสู้แม้ความสามารถจะด้อยกว่ากองกำลังติดอาวุธไอเอส ผู้หญิงและเด็กจึงกลายเป็นเหยื่อของสงครามอย่างน่าสะพรึง ถูกจับกุมและถูกล่วงละเมิด และเสียชีวิตนับจำนวนหมื่น มีเพียงส่วนน้อยที่รอดตายและหลบหนีจากค่ายกักกันได้ 

นาเดียย้อนเหตุการณ์สุดโหดในค่ายกักกันเรื่องการกระทำของกองกำลังติดอาวุธ เช่น การทุบตี การจี้ด้วยบุหรี่และการล่วงละเมิดทางเพศ ค่ายกักกันนั้นเป็นนรกสำหรับผู้หญิงเพราะเหมือนสถานที่ค้าประเวณี ทุกครั้งที่กองกำ.ลังติดอาวุธปรากฏตัวจะมีเสียงร้องระงมของผู้หญิงและวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด และเมื่อถูกจับได้ผู้หญิงจะถูกตรวจสอบเรื่องความสะอาด เช่น ผม ปาก ฟัน และตะโกนถามเสมอว่าอายุเท่าไร ยังเป็นสาวบริสุทธิ์ใช่ไหม หญิงสาวหน้าตาดีจะตกเป็นเป้าหมายแรกโดยไม่สนใจเสียงร้องขอความเห็นใจ 

 

แผ่นป้ายรณรงค์ยุติความรุนแรงที่บ้านเกิด
ภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/File:NadiaMuradPlakatLalish300916.JPG

นาเดียไม่เคยหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อบอกเล่าให้โลกรู้ว่าทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กโดยเฉพาะความทุกข์ยากและการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมที่ประชาชนเชื้อสายยาซิดีที่บ้านเกิดของเธอยังถูกจับกุมโดยกองกำลังติดอาวุธ การออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและวิงวอนให้โลกสนใจปัญหาการค้ามนุษย์และการช่วยเหลือผู้พลัดถิ่น ผู้ลี้ภัยจากสงครามล้างเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะความไม่ปลอดภัยของผู้หญิงในบ้านเกิดของเธอ ทำให้เธอได้รับการยกย่องให้เป็น Goodwill Ambassador และรางวัลแห่งชีวิตล่าสุดคือ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2018 
โปรดติดตามผลงานเพื่อสันติภาพโลกของสองผู้กล้า
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th