The Prachakorn

สังคมพหุวัฒนธรรม: คนไทยไปได้ไกลกว่านี้


อารี จำปากลาย

04 เมษายน 2562
8,919



ยุคนี้โลกเราไม่แปลกหน้ากับสังคมแห่งความหลากหลาย และสังคมพหุวัฒนธรรมอีกต่อไป เมื่อการย้ายถิ่นพัดพาผู้คนต่างชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างวิถีชีวิต และต่างวิธีคิด มาอยู่รวมกัน ถ้อยคำที่พูดถึงความงดงามของความแตกต่าง และคุณค่าของความหลากหลาย เป็นเสียงที่ผู้คนได้ยิน ทักษะหนึ่งของคนยุคศตวรรษที่ 21 คือ ความเข้าใจในความต่างทางวัฒนธรรม และต่างกระบวนทัศน์

ประเทศไทยหยัดยืนอยู่ได้ด้วยผู้คนหลายเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม เรามีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 70 กลุ่ม ใช้ภาษาต่างๆ 5 ตระกูล (ไท ออสโตรเอเชียติก ออสโครเนเซียน จีน-ธิเบต และมั้ง-เมี่ยน) นานหลายศตวรรษแล้วที่ไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แม้บางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ การนำนโยบายชาตินิยม และการกลืนกลายทางภาษาและวัฒนธรรมมาใช้ได้ลดทอนการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของไทยลง แต่ระบอบเสรีประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิของมนุษยชนทำให้พัฒนาการการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของไทยเป็นสากลมากขึ้น เรามีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต โดยไม่ถูกรบกวน เรามีแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม พ.ศ. 2561-2564 ถือเป็นนโยบายสังคมพหุวัฒนธรรมในระดับชาติฉบับแรกๆ ของประเทศ 

จริงๆ แล้วแนวคิดพหุวัฒนธรรมซับซ้อนกว่าการมองเห็นการดำรงอยู่ของความหลากหลายหรือความแตกต่างในสังคม แต่มุ่งความคิดไปที่การถูกรวมเข้าไปในสังคมของทุกคน เข้าใจ เคารพ และรับรู้ถึงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ตระหนักรู้ในความได้เปรียบและเสียเปรียบของการเป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ผูกติดอยู่กับลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น เชื้อชาติ เพศ รสนิยมทางเพศ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม ในโลกพหุวัฒนธรรม ผู้คนรับเอาความแตกต่างของคนอื่นเข้ามาในชีวิตของตัวเอง การมองสังคมพหุวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับการศึกษาชาติพันธุ์ สิทธิ และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และความเป็นพลเมืองเท่านั้น จึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นการมองในระดับผิวเผิน เพราะเพิกเฉยต่อความแตกต่างที่แท้จริงที่เกิดจากการไร้อำนาจ ความยากจน และความรุนแรง มีการเสนอแนวคิดพหุวัฒนธรรมเชิงวิพากษ์ (Critical multicultural) ที่มุ่งวิเคราะห์โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม และสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เช่น การเหยียดหยามทางเชื้อชาติ ความยากจนจากการถูกเลือกปฏิบัติ สังคมพหุวัฒนธรรมแนวนี้เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องเริ่มจากการเข้าใจที่มาของอำนาจ และการใช้อำนาจ มองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงได้ ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม 

ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=7fAcmVBsQ2E

อีกแนวคิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นแนวทางสนับสนุนการอยู่ร่วมกับความหลากหลายที่น่าสนใจ คือ แนวคิดพลเมืองแห่งโลก (Cosmopolitanism) ซึ่งให้ความสำคัญกับการยอมรับคุณค่าของคนที่ต่างไปจากตัวเอง และเชื่อว่าคุณค่านั้นสามารถทำให้เราเติบโตทางความคิด แนวคิดนี้ทำให้บุคคลที่มีความแตกต่างกันสามารถสร้างความสัมพันธ์กันได้บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ทำให้คนในสังคมเต็มใจและเปิดรับที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับ “คนอื่น” เรียนรู้ความหลากหลายข้ามวัฒนธรรมอย่างยินดี ไม่ตีกรอบโลกทัศน์ของตัวเองไว้กับความคิดที่ตายตัว ไม่ตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรปกติ และอะไรเบี่ยงเบน เป็นสมาชิกของสังคมที่พร้อมเสมอกับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มีมุมมองกว้างไกล และหัวใจที่เปิดกว้าง

สำหรับสังคมไทยไม่ใช่เพียงแค่หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ด้วยกันมาช้านาน แต่ไม่กี่สิบปีมานี้ สีสันของความหลากหลายยังถูกแต่งแต้มเพิ่มเติมด้วยกลุ่มแรงงานจากเพื่อนบ้านที่อยู่รายรอบ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา สังคมพหุวัฒนธรรมของไทยผ่านคืนวันมาได้อย่างที่อาจเรียกได้ว่าปกติสุข แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ พอเป็นความท้าทายบ้าง แต่ยังไกลห่างจากคำว่าขัดแย้งรุนแรงจนกลายเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ อย่างไรก็ตาม เมืองไทยในวันหน้า ดูท่าว่าความแตกต่างหลากหลายจะเข้มข้นมากขึ้น คำถามคือ คนไทยซึมซับเแนวคิดแบบพหุวัฒนธรรมเชิงวิพากษ์ หรือก้าวไปจนถึงแนวคิดพลเมืองแห่งโลกมากน้อยเพียงใด

หลักฐานจากงานวิจัยที่มีอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง พอจะชี้ให้เห็นว่า หนทางที่สังคมไทยจะไปถึงแนวคิดพลเมืองแห่งโลกยังคงอีกยาวไกล งานวิจัยที่ศึกษาความคิดเห็นของคนไทยต่อแรงงานต่างชาติ พบว่า คนไทยยังไม่เปิดใจรับแรงงานต่างชาติ เช่น กว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่จะให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน เพราะกลัวการแย่งงานและทำให้ค่าแรงของคนไทยต่ำลง คนไทยส่วนใหญ่หวาดระแวงว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไม่มีความซื่อสัตย์และไม่จงรักภักดีต่อนายจ้าง สองในห้าเห็นว่าแรงงานต่างชาติไม่ควรได้รับค่าจ้างเท่ากับแรงงานไทย ขณะที่ประมาณครึ่งหนึ่งมองว่าแรงงานต่างชาติไม่ควรได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายแรงงานเท่ากับคนไทย ที่สำคัญ กลุ่มตัวอย่างสัดส่วนน้อยมากๆ ที่เห็นว่า แรงงานต่างชาติควรได้รับสิทธิด้านการศึกษา การทำงาน การพักอาศัย การใช้บริการสุขภาพ การเป็นเจ้าของรถยนต์หรือจักรยานยนต์ การซื้อบ้านและที่ดิน และเสรีภาพในการใช้ชีวิตได้เหมือนคนไทย 

ข้อมูลที่ได้สะท้อนความท้าทายที่สังคมไทยต้องก้าวผ่านและรับมือให้ได้ แต่นิสัยคนไทยที่มีทุนอยู่ที่ความใจดี ผ่อนคลาย และเป็นมิตร คล้ายเป็นฐานที่แข็งแรงยึดโยงผู้คนที่แตกต่างหลากหลายให้อยู่ร่วมกันได้มาตลอด แม้จะไม่เรียบรื่นแต่ไม่ขัดแย้งรุนแรงจนแตกร้าว การปลูกสร้างคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยเพิ่มเติมจากความใจดีและผ่อนคลาย ให้มีหัวใจของความเป็นพลเมืองโลก หัวใจที่โอบรับความเป็นพหุวัฒนธรรมของผู้คนที่แตกต่างน่าจะเป็นสายทางที่มีความหวังว่าที่สุดแล้วเราจะไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่นี้แน่นอน


ภาพปก Photo by rawpixel.com from Pexels

อ้างอิง

  • Brock, Guillian. Cosmopolitanism. https://www.britannica.com/topic/cosmopolitanism-philosophy 
  • เอแบคโพลล์. (2549). ความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ/แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานรับจ้าง/ใช้แรงงานในประเทศไทย. RYT9.http://www.ryt9.com/s/abcp/58416 (ABAC Poll, 2552) 
  • Sunpuwan, M. & Niyomsilp, S. (2014). The survey of Thai public opinion toward Myanmar refugees and migrant workers: Anoverview. Nakhon Pathom: Institute for Population and Social Research, Mahidol University. IPSR Publication No. 428.


 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th