The Prachakorn

คลี่ภาพ ฉายประเด็น เจนล่าสุดกับโครงการวิจัย “ยุวชนนิเวศน์ของประชากรเจเนอเรชัน ซี-อัลฟ่าในประเทศไทย”


ภูเบศร์ สมุทรจักร

17 เมษายน 2562
454



สังคมสูงวัยไม่ได้มีนัยเกี่ยวข้องเฉพาะกับการเตรียมการดูแลผู้สูงอายุที่กำลังจะมีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับอัตราเกิด จำนวน และสัดส่วนของเด็กเจเนอเรชันล่าสุดที่เราเรียกว่า “ซี-อัลฟ่า” (เกิดหลัง พ.ศ. 2546) ที่กำลังลดน้อยลงอย่างน่าจับตามอง เจเนอเรชัน ซี-อัลฟ่านี้กำลังจะต้องรับหน้าที่ดูแลสังคมที่มีโครงสร้างประชากรและสภาพแวดล้อมที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่งในอีกไม่นาน สภาพแวดล้อมเหล่านี้เป็นอย่างไร และจะหล่อหลอมพวกเขาไปในทิศทางไหน ในวันนี้เราไม่มีข้อมูลเหล่านี้เลย

โครงการวิจัย “ยุวชนนิเวศน์ของประชากรเจเนอเรชันซี-อัลฟ่าในประเทศไทย (Child Ecology of Thai Z-Alpha)” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนของประชากรเจเนอเรชันซี-อัลฟ่า โดยพิจารณาจากกรอบแนวคิดเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และเชิงเวลา (Geographical and temporal space) 3 พื้นที่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของประชากรเจเนอเรชันนี้ พื้นที่แรกได้แก่ บ้าน (First place: home) พื้นที่ที่สองได้แก่ โรงเรียน (Second place: school) และพื้นที่ที่สามได้แก่ ที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้านและโรงเรียน (Third place: non-home and non-school) ซึ่งพื้นที่ที่สามนี้ แบ่งออกเป็นพื้นที่จริง (Actual space) และพื้นที่เสมือน (Virtual space) หรือพื้นที่ออนไลน์ (Online space) โครงการนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed method) ด้วยการวิธีวิจัยทั้งเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครอง ครู และเด็กอายุ 5-14 ปี กลุ่มละ 1,500 ตัวอย่าง แบ่งตามเศรษฐานะ เก็บข้อมูลทั้งในเมือง และนอกเมือง 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น และชลบุรี ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล

ทั้งนี้จะมีการสังเคราะห์ข้อค้นพบจากสภาพแวดล้อมทั้ง 3 พื้นที่ เพื่อหาจุดเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ทั้ง 3 และหาข้อสรุปอันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาวะในพื้นที่ทั้ง 3 ต่อไป รวมทั้งจะนำไปสู่การวางแผนเก็บข้อมูลระยะยาว (Longitudinal database) เพื่อติดตามพัฒนาการ รวมทั้งการพัฒนา Intervention เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและสมรรถนะให้แก่เจเนอเรชันซี-อัลฟ่า ซึ่งจะเป็นผู้รับช่วงในการดูแลและธำรงสังคมไทยในระยะเวลาอีกไม่นานนับจากนี้
 

ภาพ: http://www.seesketch.com/การ์ตูนเด็กนักเรียนไทย-pid2080

ภาพ: www.th.pngtree.com
 

* ภาพปก Photo by Life Of Pix from Pexels


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th