The Prachakorn

รถไฟเหาะ


วรชัย ทองไทย

04 เมษายน 2562
1,687



สวนสนุกคือ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ประกอบด้วยสนาม สถานที่นั่งเล่น การแสดง นิทรรศการ ร้านอาหาร ร้านขายของ โดยมีเครื่องเล่นนานาชนิดเป็นสิ่งดึงดูดสวนสนุกมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กในศูนย์การค้าที่มีเครื่องเล่นไม่กี่ชนิด จนถึงขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่หลายร้อยไร่และมีเครื่องเล่นทุกชนิด

สวนสนุกถือกำเนิดในยุโรปราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 เข้ามาแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยในช่วงต้นทศวรรษ 1900 ถึงปลายทศวรรษ 1920 ถือเป็นยุคทองของสวนสนุก แต่ความนิยมได้ลดลงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งเมื่อวอลต์ ดิสนีย์นักเขียนการ์ตูนได้ออกแบบสร้างดิสนีย์แลนด์ขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1955 ต่อมาได้แพร่ขยายสาขาในรัฐต่างๆ รวมทั้งยุโรปและเอเชีย

ปัจจุบันมีสวนสนุกกว่า 1,500 แห่งทั่วโลก สำหรับประเทศไทย เริ่มมีสวนสนุกแห่งแรกใน ปี 2516 คือ แฮปปี้แลนด์ ซึ่งเลิกกิจการไปแล้ว ปัจจุบันมีสวนสนุกกว่า 50 แห่ง กระจายทั่วทุกภาค

รถไฟเหาะ (roller coaster) เป็นหนึ่งในเครื่องเล่นที่สวนสนุกจะต้องมี นอกเหนือไปจากชิงช้าสวรรค์ กระดานลื่น และม้าหมุนรถไฟเหาะเป็นรถไฟขนาดเล็กที่แล่นขึ้นๆ ลงๆ และคดเคี้ยวบนรางที่อยู่สูงกว่าพื้นดิน โดยไม่มีกลไกขับเคลื่อนในตัวเอง รถไฟเหาะบางแห่งอาจแล่นหงายท้องได้ด้วย ทำให้ต้องมีเครื่องรัดผู้โดยสารให้ตรึงกับที่นั่งเพื่อความปลอดภัย เช่น เหล็กกั้น เข็มขัดนิรภัย

รถไฟเหาะบูมเมอแรงในสวนสยาม
ที่มา: https://www.siamparkcity.com/cn/funpark-detail/25/Boomerang#group1-1
  

รถไฟเหาะมีต้นกำเนิดที่ประเทศรัสเซียในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยตัวรถเป็นเลื่อนแล่นบนธารน้ำแข็งที่มีโครงสร้างทำด้วยไม้สูงประมาณ 21–24 เมตร และมีความชัน 50 องศา ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้อพยพชาวรัสเซียในประเทศโปรตุเกสได้สร้างธารน้ำแข็งที่สูงถึง 62 เมตร ต่อมาได้พัฒนาเป็นตัวรถที่ใช้ล้อแล่นบนราง ทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วยุโรป

เมื่อมีการสร้างเครื่องเล่นชนิดนี้เป็นครั้งแรกที่เมืองปารีสในปี 1804 ได้ใช้ชื่อว่า “ภูเขารัสเซีย” (Russian Mountains หรือ Les Montagnes Russes ในภาษาฝรั่งเศส) อันเป็นผลให้คนยุโรป (เช่น อิตาลี โปรตุเกส สเปน) เรียกรถไฟเหาะในภาษาของตนว่า “ภูเขารัสเซีย” เช่นกัน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อรถไฟเหาะที่ตัวรถใช้ล้อแล่นบนราง ย้อนกลับไปเป็นที่นิยมในประเทศรัสเซีย คนรัสเซียกลับเรียกว่า “ภูเขาอเมริกัน” โดยทั้งสองคำนี้ (ภูเขารัสเซียและภูเขาอเมริกัน) ยังเป็นคำใช้เรียก “รถไฟเหาะ” อยู่ในปัจจุบัน

เพราะรถไฟเหาะไม่มีเครื่องยนต์ที่ทำให้เคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง การเคลื่อนที่ของรถไฟเหาะจึงต้องอาศัยแรงโน้มถ่วง (gravity) และแรงผลักดัน (momentum) โดยในช่วงแรกตัวรถจะต้องขึ้นไปอยู่บนยอดเนินแรก ซึ่งทำ.ได้ด้วยการดึงขึ้นด้วยโซ่หรือใช้เครื่องยิง

เมื่อตัวรถถูกปล่อยลงมาแรงโน้มถ่วงจะเป็นตัวดึงให้รถแล่นลงมาตามราง ยิ่งรถยิ่งสูง ความเร็วของรถก็ยิ่งมากขึ้น เมื่อรถแล่นลงถึงจุดต่ำสุดแรงผลักดันจะเป็นตัวทำให้รถแล่นกลับขึ้นไปบนเนินอีก โดยเนินถัดไปจะต่ำลงไปเรื่อยๆ และในระหว่างที่รถแล่นขึ้นๆ ลงๆ นี้ รถจะแล่นเลี้ยวไปเลี้ยวมาหรือแล่นกลับหัว เพื่อเพิ่มความสนุกตื่นเต้นอีกด้วย

การที่รถไฟเหาะแล่นด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดแรงกดดันต่อร่างกายของผู้เล่น เช่น รู้สึกว่าตัวลอยขึ้นเมื่อรถแล่นลงเนิน รู้สึกว่าถูกดันให้ติดกับที่นั่งเมื่อรถแล่นขึ้นเนิน รู้สึกถูกดันไปทางซ้ายเมื่อรถเลี้ยวขวาและถูกดันไปทางขวาเมื่อรถเลี้ยวซ้าย นอกจากนี้ผู้เล่นอาจรู้สึกหัวใจเต้นแรง ตาพร่า ปวดหู มึนศีรษะ ปวดหลัง และปวดคอด้วย

จากแรงกดดันที่มีผลต่อผู้เล่น ทำให้มีผู้สนใจทำวิจัยเกี่ยวกับอันตรายของการนั่งรถไฟเหาะมากมาย แต่รางวัลอีกโนเบลกลับมอบให้กับผู้ศึกษาถึงผลดีของการนั่งรถไฟเหาะถึง 2 ครั้ง ในสาขาการแพทย์ คือ

  • ครั้งแรกในปี 2553 มอบให้กับนักวิจัยชาวดัตช์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ 2 คน (Simon Rietveld และ Ilja van Beest)ที่ค้นพบว่า อาการโรคหืดสามารถทำให้หายได้ด้วยการนั่งรถไฟเหาะ
  • ครั้งที่สองในปีล่าสุด (ปี 2561) มอบให้กับนักวิจัยชาวอเมริกัน 2 คน (Marc Mitchell กับ David Wartinger) ที่ให้ผู้ป่วยนั่งรถไฟเหาะเพื่อรักษาโรคนิ่ว

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


* ภาพปก Photo by Min An from Pexels


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th